อิทธิพลความเชื่อทางศาสนาจากต่างประเทศที่เข้ามาในไทย
เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในงานวรรณกรรม ดูได้จากนิทานสันสกฤตของไทย ซึ่งมีที่มาจาก
มหากาพย์รามายณะ และมหากาพย์ภารตะ
โดยมหากาพย์ทั้งสองเป็นตำรามหากาพย์ที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ความน่าสนใจในตัวมหากาพย์นั้นใช่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องที่สื่อถึงสงครามหรือเทพเจ้าเพียงอย่างเดียว
นิทานหรือเรื่องเล่าที่ตัวละครในมหากาพย์เล่าแก่ตัวละครอีกตัวในเรื่อง(นิทานซ้อนนิทาน)
ก็เป็นแรงบรรดาใจของกวีไทยนำมาแต่งเป็นวรรณกรรมเรื่องต่างๆ
เช่นเดียวกับวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้านำมาวิจารณ์ต่อไปนี้
อิลราชคำฉันท์
เป็นวรรณกรรมอีกเรื่องที่มีมาจากเรื่องรามายณะ ในอุตตรกัณฑ์
ปรากฏตัวในไทยครั้งแรกในหนังสือ “บ่อเกิดรามเกียรติ์”
ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 แล้วจึงมีการนำไปแต่งเป็นคำฉันท์ โดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ)
เมื่อปี พ.ศ. 2456
เนื้อเรื่องคราวๆจะเป็นการคุยกันระหว่างพระราม พระภรต และ พระลักษณ์
ที่ปรึกษาเรื่องการทดสอบความจงรักภัคดีของเมืองขึ้นต่างๆ
พระลักษณ์จึงเสนอให้ทำพิธีอัศวเมธดีพร้อมกับยกตัวอย่างเรื่องพระอินทร์ที่ทำพิธีนี้เพื่อล้างบาป
พระรามได้ฟังก็ชื้นชมพร้อมทั้งเล่าเรื่องท้าวอิลราชให้ทั้งสองฟัง
ครั้งหนึ่งท้าวอิลราชไปล่ากวางในป่าพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพาร ได้ล่วงล้ำเขตเขาไกรลาสซึ่งเป็นที่ประทับของพระอิศวรและพระอุมา
ซึ่งในขณะนั้นพระอิศวรกำลังหยอกล้อกับพระอุมา
โดยแปลงกายเป็นผู้หญิงและเนรมิตทุกสิ่งที่อยู่ ณ
บริเวณนั้นเป็นเพศหญิงหมดรวมทั้งท้าวอิลราชและเหล่าข้าราชบริพารที่อยู่แถวนั้น
ทำให้ท้าวอิลราชต้องไปขอโทษพระอิศวรเพื่อให้พระอิศวรให้พรกลับมาเป็นเหมือนเดิม
แต่ทว่าพระอิศวรไม่ให้
พระอุมาจึงให้พรครึ่งหนึ่งเฉพาะท้าวอิลราชโดยให้เดือนหนึ่งเป็นหญิงที่งดงาม
แล้วกลับมาเป็นผู้ชายในเดือนต่อมาสลับกัน
และในขณะที่เป็นหญิงนั้นก็จำเรื่องราวตอนเป็นผู้ชายไม่ได้
เช่นเดียวกับตอนที่กลับคืนมาเป็นผู้ชายที่จำตอนเป็นผู้หญิงไม่ได้เช่นกัน
ตั้งแต่นั้นมาท้าวอิลาราชก็สลับร่างกลายเป็นผู้หญิงที่ชื่อว่า นางอิลา
ไปๆมาๆคนละเดือนอยู่อย่างนั้น
จนกระทั้งท้าวอิลาราชในร่างนางอิลาที่จำเรื่องราวของตนเองไม่ได้ไปเที่ยวเล่นกันในป่าพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพารที่กลายเป็นหญิง
พบกับพระพุธที่กำลังบำเพ็ญเพียร ขณะที่เหล่านางอิลาเล่นน้ำ
พระพุธหลงใหลในนางอิลาจึงได้ถามความเป็นมาของนางอิลาซึ่งนางเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่าตนเองและเหล่านางต่างๆเป็นใคร
พระพุธจึงเพ่งญาณดูทำให้รู้ถึงความเป็นมาของนางอิลา
จึงบอกกับเหล่านางต่างๆว่าเป็นกินรีอาศัยอยู่ในเขา
ส่วนนางอิลาก็พากลับไปที่อาศรมอยู่ร่วมกัน
เมื่อครบเดือนนางอิลากลับมาเป็นท้าวอิลราชที่จำอะไรไม่ได้แล้วถามพระพุธว่าเหล่าข้าราชบริพารที่ตามมาล่ากวางด้วยหายไปไหนหมด
พระพุธจึงตอบว่าโดนหินหล่นลงมาทับตายหมด
ท้าวอิลราชเสียใจเมื่อได้ฟังจึงตกลงจะบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่อาศรมตามคำชวนของพระพุธ
จนเวลาล่วงเลยไป 9 เดือน
นางอิลาได้กำเนินลูกขึ้นมาชื่อ ปุรุรพ
พระพุธด้วยความสงสารท้าวอิลราชจึงได้เรียกรวมเหล่าฤษีเพื่อปรึกษาหาวิธีแก้
พระกรรทม พ่อของท้าวอิลราชจึงได้เสนอให้ทำพิธีอัศวเมธบูชาพระอิศวร
ทั้งหมดจึงตกลงที่จะทำพิธีดังกล่าว
ทำให้พระอิศวรนั้นพอใจและประทานพระให้ท้าวอิลราชกลับมาเป็นเหมือนเดิมโดยไม่ต้องกลับมาเป็นผู้หญิง
ทางด้านรูปแบบวรรณกรรม
อิลราชคำฉันท์ใช้รูปแบบคำประพันธ์ประเภทฉันท์ 15 ชนิด ได้แก่ กมลฉันท์ โตฎกฉันท์ ภุชงคประยาตฉันท์ มาณวกฉันท์ มาลินีฉันท์
วสันตดิลกฉันท์ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ สัทธราฉันท์สาลินีฉันท์ อินทรวิเชียรฉันท์
อินทวงศ์ฉันท์ อีทิสังฉันท์ อุปชาติฉันท์ อุปัฏฐิตาฉันท์ และอุเปนทรวิเชียรฉันท์
กาพย์ 2 ชนิดได้แก่ กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์
เริ่มต้นจะเป็นบทไหว้ครู
ซึ่งใช้ชื่อว่า ศุภมัสดุ แต่งด้วยสัททุลวิกกีฬิตฉันท์
โดยข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างบางบทในบทศุภมัสดุเพื่อนำมาวิจารณ์ ดังนี้
สรวมชีพอัญชลีนาถพระบาทนฤเบศ
มงกุฎกษัตริย์เกษตร
สยาม
ที่หกรัชสมัยก็ไกรกิติ พระนาม
ทรงคุณคามภี-
รภาพ
เพียงนารายณ์อวตารรำบาญอริบำราบ
เถลิงรัชทวีลาภ วิไล
เปรื่องปรีชาวิทยุตมาภรณไท
ธารสัตย์กระพัดใน
กมล
บำรุงรัฐสุขวัฒนานิกรชน
ทั่วรัฐมณฑล
บำเทิง
จากฉันท์ที่ยกมา
จะเห็นได้ว่าเนื้อหาจะเป็นการสรรเสริญพระเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่
6 ดูจากฉันท์บทแรกที่ยกมา ที่มีความหมายว่า
“ขอเดชะพระสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯแห่งแดนสยาม” บทที่ 2
“รัชกาลที่ 6 ผู้ที่ทรงถูกยกย่อง
ยิ่งใหญ่ในพระนามและมีความสุขุมลึกซึ้ง” บทที่ 3 “เสมอดั่งพระนารายณ์อวตารมาปราบศัตรู
ขึ้นครองราชย์สมบัติ อันงดงาม” บทที่ 4
“เชี่ยวชาญรอบรู้ดั่งแสงฟ้าแลบค้ำจุนประชาและการทรงไว้ซึ่งความจริงล้อมดวงใจ”
และบทที่ 5 ที่หมายถึง “ปกครองบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง
แลหมู่ราษฎรทั่วทั้งเมืองรื่นเริง”
โดยรวมแล้วฉันท์ที่ยกมาข้างต้นใน
ให้อารมณ์ความรู้สึกหรือภาวะที่สื่อออกมาในภาวะรติ หรือ ภาวะความรัก
ซึ่งความรักในที่นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นความรักในแง่ความรักที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์
โดยมีการเปรียบให้เป็นเทพเจ้า ในฉันท์บทที่ 3 บาทที่ 1 ว่า“เพียงนารายณ์อวตารรำบาญอริบำราบ”
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปรียบเทียบสิ่งๆหนึ่งให้กลายเป็นสิ่งๆหนึ่งโดยใช้สิ่งๆนั้นในการช่วยยกระดับ
อีกทั้งยังมีการชื่นชมและยกยอในการปกครองบ้านเมืองของกษัตริย์ในบทที่ 5 ที่ว่า
บำรุงรัฐสุขวัฒนานิกรชน
ทั่วรัฐมณฑล บำเทิง
ก็เป็นการแสดงถึง
การย่อพระเกียรติในการปกครองบ้านเมืองให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข
ทั้งหมดของฉันท์ที่ยกมาทั้งหมด
ล้วนเป็นสิ่งที่กวีถ่ายทอดออกมาในการยอพระเกียรติโดยมีการเอยถึงบุคคลที่ตนได้สรรเสริญถึง
ซึ่งมาจากฉันท์บทที่ 1 ที่ว่า
สรวมชีพอัญชลีนาถพระบาทนฤเบศ
มงกุฎกษัตริย์เกษตร สยาม
ซึ่งคำว่ามงกุฎกษัตริย์
ก็คือการเอยชื่อโดยย่อของกษัตริย์เพื่อจำกัดจำนวนคำ(ครุ-ลหุ)ในการแต่งตามฉันทลักษณ์ของฉันท์
ในภาวะหลักย่อมที่ภาวะที่เรียกว่า
วยภิจาริภาวะ หรือภาวะเสริมที่ทำให้ภาวะหลักในตัวฉันท์เด่นขึ้น คือภาวะหรรษะหรือภาวะความยินดี
ที่มีต่อกษัตริย์ที่ตัวผู้แต่งเทิดทูน ประกอบกับภาวะอวหิตถะหรือภาวะเสแสร้ง
คำว่าเสแสร้งในที่นี้
คือการนำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาบีบให้เล็กเพื่อที่จะยกระดับถึงสิ่งที่กล่าวถึงให้ใหญ่กว่า
โดยมีตัวเสริมอีกตัวคือการเปรียบเทียบให้เท่ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นคือ เทพเจ้า
ดังนั้น การเสแสร้งในที่นี้ก็คือการกล่าวเกินจริงเพื่อให้สิ่งที่กล่าวดูชัดเจนขึ้น
และภาวะดังกล่าวย่อมเกิดภาวะที่เรียกว่า อนุภาวะ (ในภาวะเสริม)
คือภาวะวิสมยะหรือความน่าพิศวง
ที่ภาวะอวหิตถะสะท้อนออกมาโดยการกล่าวเกินจริงและการนำเทพเจ้ามาอ้างถึง
เมื่อมีภาวะเกิดขึ้น
สิ่งที่ตามมาด้วยคือ รส รสที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือวีรสรคือรสความชื่นชมและสรรเสริญในตัวของบทประพันธ์
โดยมีรสอีกรสที่เรียกว่ารสอัทภุตรส หรือรสที่ความน่าอัศจรรย์ใจ
(การใช้สัญลักษณ์และอุปลักษณ์ในการกล่าว) เป็นตัวเสริมรสหลัก
ทางด้านการใช้ฉันทลักษณ์และคำจะเป็นได้ว่าในบทประพันธ์ที่ยกมาเป็นฉันท์ประเภทหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า
สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ซึ่งเป็นฉันท์ที่มักใช้ในการแต่งเป็นบทไหว้ครู บทโกรธ
และบทย่อพระเกียรติ ในบทประพันธ์ที่ยกมาเป็นส่วนหนึ่งในบทศุภมัสดุ หรือบทไหว้ครู
ในเรื่องอิลราชคำฉันท์
จะเห็นได้ว่าเนื้อหาในตัวบทจะเป็นการสื่อถึงการสรรเสริญย่อพระเกียรติเป็นหลัก
จากที่เคยได้กล่าวไว้ในการแปลความหมาย
แน่นอนว่าทั้งความหมายที่สื่อในตัวบทและวัตถุการใช้ของตัวฉันท์ที่กล่าวไว้ข้างต้น
ตรงกัน จึงกล่าวได้ว่าตัวเนื้อหาและฉันทลักษณ์ ที่กวีผู้แต่งถ่ายทอดออกมา
มีความพอดีและตรงตามการใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ในการสื่อความหมายของเนื้อหา
ส่วนเรื่องการใช้คำนั้น แน่นอนว่าในการแต่งฉันท์สิ่งที่สำคัญคือการวางคำครุ-ลหุ ในตัวบท
สังเกตว่ามีการเปลี่ยนรูปแบบการเขียนของคำเพื่อให้สามารถนำคำมาว่างตามฉันท์ลักษณ์
ดูได้จากฉันท์บทที่สองที่ยกมา วรรคแรกที่ว่า“ที่หกรัชสมัยก็ไกรกิติ
พระนาม”จะเห็นได้ว่า คำว่า กิติ ในวรรคแรก เดิมเป็นคำว่า กิตติ
แต่มีการแปลงรูปคำเพื่อให้สามารถนำคำดังกล่าวมาว่าตามฉันท์ลักษณ์ของฉันท์
ที่บังคับการวางคำครุ-ลหุ หรือการฉีกคำในวรรคที่ 2 และวรรคที่ 3 ทั้งนี้ในการอ่านออกเสียงในบทที่ยกมา
อาจมีการติดขัดบ้างในบางช่วงของการอ่านออกเสียง
ซึ่งผู้แต่งอาจเน้นในการแต่งตามฉันทลักษณ์มากกว่าเน้นในเรื่องเสียง
ในเรื่องเรื่องอิลราชคำฉันท์
ตอนๆหนึ่งที่กวีถ่ายทอดออกมาและเป็นที่จดจำแก่ผู้อ่าน
ซึ่งเป็นต้นต่อของปัญหาที่เกิดขึ้นของเรื่อง
คือตอนที่ท้าวอิลราชล่วงล้ำเข้าไปในเขตของพระอิศวรแล้วกลายเป็นผู้หญิง ดังในฉัทน์ที่ยกมาวิจารณ์ต่อไปนี้
อิลราชจรล่า
มฤคา บ มิแคลง
ลุสถานศิวะแปลง ดนุแปลกนยนา
บ่
มิเป็นอิลราช
วิปลาสอิลา
คณะราชบริพา-
ระประดาจรดล
มละเพศบุรุษ
ดำริสุดจะพิกล
ยลแล้วก็ฉงน
เอะประหลาดละซิเรา
อิลเหลือจะตระหนก
มนะหนัก บ มิเบา
กระอุกระแดดุจเอา สุรอัคนิลน
จากฉันท์ทั้งสี่บทที่ยกมา
เป็นบทที่มีเนื้อหากล่าวถึง ท้าวอิลราชไล่ล่ากวางจนเลยเถิดเข้าไปในเขตของพระอิศวรขณะที่พระอิศวรกำลังเนรมิตรทุกอย่างให้ให้กลายเป็นหญิง
จนตัวท้าวอิลราชเองก็พลอยกลายเป็นหญิงไปด้วย โดยตีความในแต่ละบทได้ดังนี้
บทที่ 1 กล่าวถึงท้าวอิลราชไล่ตามล่ากวางมาติดๆ
จนล่วงล้ำเขาไปในเขตของพระอิศวรที่จำแลงทุกสิ่งจนตัวท้าวอิลราชเองดูแปลกตาไปจากเดิม
บทที่ 2 จากที่เป็นท้าวอิลราช แปรเปลี่ยนไปเป็นนางอิลา
รวมทั้งเหล่าข้าราชบริพารที่เสด็จประพาสมาด้วย
บทที่ 3 แปรสภาพไปจากเพศชาย ทั้งความนึกคิดที่ผิดแปลกไปจากเดิม
เมื่อได้สังเกตเห็นก็เริ่มสงสัยถึงความเปลี่ยนไปของตัวท้าวอิลราชเอง
บทที่ 4 นางอิลา(ท้าวอิลราช) ตกใจเป็นอย่างมาก กระวนกระวาน ร้อนรนเหมือนเอาไฟมาลน
จากการอ่านผนวกกับการตีความในตัวบท
ทำให้เห็นภาวะที่โดดเด่น(วิภาวะ)คือ วิสมยะหรือภาวะความน่าพิศวง
โดยความน่าพิศวงในตัวบทเกิดจากความวิปลาศแปรเปลี่ยนของท้าวอิลราชที่กลายเป็นนางอิลาเพราะการล่วงล้ำเขาไปในเขตของพระอิศวร
การเปลี่ยนแปลงทางเพศอย่างกะทันหันย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของท้าวอิลราชและเหล่าข้าราชบริพาร
ก่อให้เกิดภาวะที่ตามมา(อนุภาวะ)คือ โศกะหรือภาวะความทุกข์
ซึ่งความทุกข์ที่ว่าเป็นผลมาจากความผิดปกติในสภาพเพศของตน
และมีภาวะอื่นเป็นเป็นตัวเสริมให้ภาวะความทุกข์มีความเด่นชัด(วยภิจาริภาวะ)ได้แก่
มติหรือภาวะความพินิจพิเคราะห์ : มละเพศบุรุษ ดำริสุดจะพิกล
ศงกาหรือภาวะความสงสัย :
ยลแล้วก็ฉงน เอะประหลาดละซิเรา
อาเวคะหรือความตื่นตระหนก : อิลเหลือจะตระหนก มนะหนัก บ มิเบา
จินตาหรือภาวะความวิตก : กระอุกระแดดุจเอา สุรอัคนิลน
แน่นอนว่านอกเหนือจากภาวะที่เกิดขึ้นในตัวฉันท์ที่ยกมา
สิ่งที่ตามด้วยคือรสในตัวบทวรรณกรรม โดยรสที่ว่าคือรสอัทภุตรส หรือ
รสที่เกิดจากความน่าพิศวง
โดยรสของความอารมณ์ความรู้สึกพิศวงที่ว่าเป็นผลมาจากภาวะที่เกิดขึ้นหลัก
(ภาวะวิสมายะ) ในบท อีกทั้งตัวอนุภาวะ(ภาวะโศกะ)
ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดรสในตัวบทที่เรียกว่า กรุณารส
หรือรสที่เกิดจากความทุกข์โศกของตัวละคร (ท้าวอิลราช)
ในเรื่องของฉันทลักษณ์ที่ใช้ในการแต่ง
จะเห็นได้ว่าเป็นการแต่งด้วยฉันท์ประเภท โตฎกฉันท์ ซึ่งฉันท์ประเภทนี้มักใช้เป็นบทสำแดงอิทธิฤทธิ์
อภินิหาร หรือความอัศจรรย์ ซึ่งในเนื้อหาของฉันท์ที่ยกมาวิจารณ์นั้น
ก็มีความเป็นอภินิหารหรือความอัศจรรย์
คือการที่พระอิศวรเสกทุกอย่างที่อยู่บริเวณใกล้กับที่ตนประทับแปรสภาพไปเป็นเพศหญิงรวมทั้งตัวท้าวอิลราชและเหล่าข้าราชบริพารด้วยเช่นกัน
นั่นหมายความว่าทั้งตัวเนื้อหาและตัวรูปแบบของฉันทลักษณ์ที่ใช้แต่งมีความสอดคล้องและตรงกัน
ทางด้านคำที่ใช้ ส่วนใหญ่จะเน้นในการใช้คำครุ-ลหุ
ตามแบบฉันทลักษณ์ของฉันท์
ส่วนในเรื่องเสียงก็จะมีความไพเราะตามแบบฉันท์ที่มีเสียงหนัก เสียงเบา
แต่สัมผัสนอกเสียงสระในบทที่ 4 ระหว่าง บาทที่ 1 กับ บาทที่ 2 ไม่สัมผัสกันโดยบาทแรกคำตรงท้ายบาทเป็นเสียงสระโอะ(คำว่า
หนก) ส่วนบาทที่สองหากนับตามการวางคำครุ-ลหุคำที่สามของบาทเป็นเสียงสระอะ(คำว่า
หนัก)
อิลเหลือจะตระหนก
มนะหนัก บ มิเบา
แน่นอนว่าการส่งสัมผัสระหว่างบาทของโตฎกฉันท์
คำที่ 6 ของบาทที่หนึ่งจะสัมผัสคำที่ 3 ของบาทที่สอง
นั่นหมายความว่าผู้แต่งเน้นความหมายของตัวบทมากกว่าเรื่องเสียง
จึงเป็นจุดที่หนึ่งที่ลดความไพเราะในเรื่องของเสียง
จากบทศุภมัสดุก่อนเริ่มเรื่อง
และบทที่แสดงถึงความแปรเปลี่ยนจากชายกลายเป็นหญิงของท้าวอิลราช
ทีนี้มาดูอีกบทบทหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน คือบทที่แสดงถึงพิธีอัศวเมธ
ซึ่งตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้กล่าวไว้ว่า
“ชื่อพระราชพิธีเพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระราชาธิราชในวรรณคดีอินเดีย
โดยทรงปล่อยม้าอุปการพร้อมทั้งกองทัพเข้าไปในประเทศต่างๆ
ถ้าประเทศใดไม่ยอมอ่อนน้อมกองทัพจะเข้าโจมตี เมื่อครบ 1 ปีแล้วกองทัพก็ยกกลับพร้องทั้งพระราชาที่ถูกปราบพระราชาธิราชก็จะจัดพระราชพิธีโดยฆ่าม้านั้นบูชายัญ
เรียกว่าพิธีอัศวเมธ” ส่วนในเรื่องเป็นการประกอบพิธีดังกล่าวเพื่อแก้คำสาป
โดยจะยกบทที่เป็นอยู่ในช่วงท้ายๆของพิธี ซึ่งเป็นการบูชายัญม้าอุปการ
ดังกาพย์ที่ยกมาวิจารณ์ดังนี้
ปางถ้วนปฏิทินถึงวัน บรรจวบขวบอัน
อัศวพ่าห์มาเมือง
คืนสู่มาฬกมลังเมลือง นักสิทธิ์วิทย์เรือง
ก็รับก็รองปองใจ
จำเริญวรเวทตรัสไตร ตรีวารล่วงไป
ก็ปลงชีวาพาชี
จากกาพย์ที่ยกมาทั้งสามบท
จะเห็นได้ในความหมายรวมว่าเป็นการสื่อถึง พอถึงวันที่ครบกำหนดของพิธี
ม้าอุปการก็จะกลับคืนมาสู่เมืองที่อาศัย โดยมีพราหมณ์ให้การรับรองม้าที่วิ่งมาถึง
ให้ศีลให้พรจนเมื่อครบสามวันแล้วจึงบูชายัญม้า ซึ่งหากลองตีความในแต่ละบทก็จะได้ดังนี้
กาพย์บทที่ 1 กล่าวถึง เมื่อครบกำหนดเวลาถึงวัน ประจวบเหมาะปี อันว่าม้าจะมาที่เมือง
กาพย์บทที่ 2 กลับคืนสู่ปะรำพิธีอันอร่ามเรือง ผู้ชอบธรรมในวิชาชาญ(พราหมณ์) ก็จะมารับม้าไปดูแล กาพย์บทที่ 3 เจริญพรบริกรรมคาถา แถลงกำหนดการพิธี สามวันผ่านไปจึงฆ่าม้า
กาพย์บทที่ 1 กล่าวถึง เมื่อครบกำหนดเวลาถึงวัน ประจวบเหมาะปี อันว่าม้าจะมาที่เมือง
กาพย์บทที่ 2 กลับคืนสู่ปะรำพิธีอันอร่ามเรือง ผู้ชอบธรรมในวิชาชาญ(พราหมณ์) ก็จะมารับม้าไปดูแล กาพย์บทที่ 3 เจริญพรบริกรรมคาถา แถลงกำหนดการพิธี สามวันผ่านไปจึงฆ่าม้า
เมื่อนำเอาสิ่งที่ตีความในแต่ละบท
มารวมกัน ทำให้เห็นภาวะเด่นๆทั้งสามบท คือ ภยะหรือภาวะความน่ากลัว
ความน่ากลัวที่ว่า คือความขลังในพิธีที่ถ่ายทอดออกมาให้ดูศักดิ์สิทธิ์
และในความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีที่ว่า ลงเอยด้วยการตายของม้า
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอนุภาวะ คือวิสมยะหรือภาวะความน่าพิศวง
ที่มีต่อพิธีดังกล่าว(ในสังคมไทยไม่เคยมีการทำพิธีแบบนี้
จึงเป็นข้อแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับอินเดีย)
และสิ่งที่เป็นวยภิจาริภาวะหรือภาวะเสริมของภาวะทั้งสองคือ มรณะหรือ ภาวะความตาย
(การบูชายัญม้าอุปการ) และเมื่อได้สัมผัสภาวะในกาพย์ที่ยกมา
รสในวรรณกรรมก็จะตามมาเฉกเช่นเดียวกับเงา โดยรสที่ว่าคือ ภยานกรส
หรือความกลัวที่มาจากความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีอัศวเมธ
โดยมีความตายของม้าอุปการที่ใช้บูชายัญเป็นสิ่งที่เสริมความขลังและความน่ากลัวต่อความรู้สึกของผู้อ่าน
ประกอบกับความแปลกประหลาดในพิธีที่ไม่เคยพบเห็นในสังคมไทย
ก็เป็นตัวสะท้อนถึงรสในวรรณกรรมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อัทภุตรส หรือความน่าพิศวง
ที่มีต่อตัวบทที่อ่าน
ทางด้านของฉันทลักษณ์ที่ใช้ในการแต่ง
เป็นกาพย์ประเภท กาพย์ฉบัง แน่นอนว่าต้องมีความแตกต่างจากฉันท์ที่ยกมาวิจารณ์
ทั้งในเรื่องฉันทลักษณ์ การวางตำแหน่งของคำครุ-ลหุ
แต่ในวรรณกรรมคำฉันท์ กาพย์ที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นกาพย์สุรางคนางค์หรือกาพย์ฉบัง
ส่วนใหญ่จะใช้ดำเนินความยาวๆในท้องเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นภาพมากกว่าในการอ่านเมื่อเทียบกับฉันท์ที่มีการบังคับคำครุ-ลหุ และกาพย์เป็นสิ่งที่อ่านและเข้าใจได้ง่ายมากกว่าฉันท์
ส่วนในเรื่องการใช้คำ มีการใช้คำที่รับส่งสัมผัสได้ตรงตามฉันท์ลักษณ์
โดยคำที่สัมผัสทั้งระหว่างบาทต่อบาท และระหว่างบทต่อบท ใช้เสียงสามัญทั้งหมด (วัน-อัน , เมือง-เมลือง-เรือง, ใจ-ไตร-ไป)
ในบทแรกมีการนำคำที่มีความหมายเหมือนกันมาใช้เพื่อเน้นย้ำในความหมายที่กวีต้องการจะสื่อ
ดูได้จากบาทที่ 3 ตรงคำว่าอัศว กับคำว่า พ่าห์
ทั้งสองคำที่มีความหมายเดียวกันซึ่งแปลว่า ม้า
ในบทที่สองกับที่สามสังเกตได้ว่ามีการเล่นคำ ปรากฏอยู่ในวรรคเดียวกัน
คืนสู่มาฬกมลังเมลือง นักสิทธิ์วิทย์เรือง
ก็รับก็รองปองใจ
จำเริญวรเวทตรัสไตร
ตรีวารล่วงไป
ก็ปลงชีวาพาชี
ตามคำที่เน้นดำ จะเห็นได้ว่า
ทั้งสองบทตรงวรรคที่สาม มีการนำคำที่ซ้ำมาใช้ในวรรคเดียวกัน
(ต่างกันตรงบทที่สามที่ความหมายของคำว่า ชี ต่างกัน)
และกาพย์ทุกบทที่ยกมาวิจารณ์มีการเล่นสัมผัสในในวรรคทั้งในเรื่องเสียงพยัญชนะและเสียงสระอีกด้วย
ในการนำเรื่องอิลราชคำฉันท์มาวิจารณ์ในด้านทฤษฎีรสในวรรณกรรมสันสกฤต
สะท้อนให้เห็นภาวะที่ตัวผู้แต่งเองต้องการสื่อ
ถ่ายทอดออกมาเป็นวรรณกรรมและรสทางวรรณกรรมที่ซึมซาบออกมา
ภาวะส่วนใหญ่ที่ออกมาจากฉันท์และกาพย์ที่ยกมา ส่วนใหญ่จะเป็นภาวะความน่าพิศวง
และความพิศวงนี้เองที่ทำให้เกิดความน่าค้นหาในตัววรรณกรรม และเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้อ่านสงสัยและพินิจตามในงาน
โดยรสที่ได้อาจไม่ตรงกับภาวะได้เช่นกัน เนื้อเรื่องที่มีความแปลก
คำที่ใช้ในการแต่ง ฉันทลักษณ์ที่ใช้ ประกอบกับที่มาของเรื่อง
ทำให้เรื่องอิลาราชคำฉันท์มีกลิ่นอายทางศาสนา(พราหมณ์-ฮินดู)แฝงอยู่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในบรรดาวรรณกรรมสันสกฤต
และเป็นเสน่ห์ที่ทำให้กวีไทย
นำทั้งตัวเรื่องและฉันทลักษณ์มาใช้ในการสร้างทางวรรณกรรม
ท้ายที่สุดในการนำวรรณคดีหรือวรรณกรรมเรื่องอื่นมาวิจารณ์ก็ตาม
สิ่งที่ได้รับหลังจากการอ่าน คืออารมณ์ ความรู้สึกที่มีต่อเรื่องที่ได้อ่าน
ซึ่งอาจมีความรู้สึกที่มากกว่าหนึ่งก็ได้ในการอ่านวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ
เกร็ดเพิ่มเติ่ม เรื่องราวของอิลราชคำฉันท์ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกษัตริย์เชื้อสายจันทรวงศ์ในมหากาพย์ภารตะ ซึ่งคาบเกี่ยวกับการกำเนิดของพระพุธ โดยเรื่องมีอยู่ว่าครั้งในดินแดนอมรวดีอันเป็นเมืองหลวงของสวรรค์ (ตามคติอินเดีย) พระพฤหัสบดีซึ่งเป็นครูของฝ่ายเทวดาได้ทำพิธีบูชาไฟเพื่อคอยสนับสนุนเหล่าเทวดา ทำให้เหล่าเทวดาสามารถเอาชนะเหล่าอสูรได้เรื่อยๆ ส่งผลทำให้พระพฤหัสบดีไม่ค่อยมีเวลาใส่ใจนางดาราผู้เป็นภรรยา ทำให้นางดาราที่ระอาสามีได้ไปตกหลุมรักกับพระจันทร์ ก่อนที่ทั้งคู่จะพากันหนีไปอยู่ด้วยกัน
เมื่อพระพฤหัสบดีทราบเรื่องก็เดือดดาน ส่งผลต่อพีธีบูชาไฟที่คอยเสริมกำลังให้กับเหล่าเทวดาซึ่งอาจส่งผลทำให้เทวดารบแพ้อสูร ทำให้พระอินทร์ผู้เป็นกษัตริย์แห่งสวรรค์รวมถึงเหล่าเทวดาเข้าข้างพระพฤหัสดี เมื่อเหล่าอสุรเห็นดังนั้นก็สบโอกาสพากันเข้าข้างฝ่ายพระจันทร์โดยมีพระศุกร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของฝ่ายอสูรคอยสนับสนุน ก่อเกิดเป็นสงครามความวุ่นวายระหว่างเทวดากับอสูร จนสุดท้ายพระพรหมได้เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพากบาดหมางของทั้งสองฝ่าย พร้อมกับแนะนำให้พระจันทร์คืนนางดาราให้กับพระพฤหัสบดี
ทว่า นางดาราที่หนีสามีมาอยู่กับพระจันทร์เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ทำให้ทั้งพระพฤหัสบดีกับพระจันทร์ต่างฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิ์ความเป็นพ่อของเด็กในท้อง จนลูกที่อยู่ในครรภ์ของนางดาราเอ่ยถามความจริง นางดาราจึงยอมรับสารภาพว่าลูกในครรภ์นั้นเป็นลูกของพระจันทร์ ทำให้พระพฤหัสบดีโกธรจึงสาปให้เด็กที่อยู่ในครรภ์นางดาราเกิดมาไม่มีเพศ ในขณะที่ทุกฝ่ายต่างตกใจกับคำสาป พระอินทร์ที่อยู่ในเหตุการณ์จึงได้กล่าวว่า นางดาราเป็นภรรยาของพระพฤหัสบดี ดังนั้นลูกที่อยู่ในครรภ์ของนางดาราก็ย่อมเป็นลูกของพระพฤหัสบดี
กระทั่งนางดาราได้ให้กำเนิดลูกในครรภ์นามว่า พระพุธ โดยได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากพระพฤหัสบดีแม้ว่าจะเป็นลูกของพระจันทร์ก็ตาม จนเมื่อพระพุธถึงวัยที่ควรออกเรือนตามความปรารถนาของผู้เป็นแม่ เว้นแต่ว่าคำสาปของพระพฤหัสบดีเมื่อครั้งที่ตนอยู่ในครรภ์ ส่งผลให้ตนไม่มีเพศ และไม่รู้ว่าตนนั้นจะไปเป็นเมียหรือไปเป็นผัวหากได้แต่งงาน นางดาราจึงได้แนะนำให้พระพุทธลงไปบำเพ็ญเพียรยังโลกมนุษย์ในฐานะฤาษี และนั่นก็ทำให้พระพุธได้พบกับนางอิลา ตามท้องเรื่องในอิลราชคำฉัทน์ ซึ่งลูกที่เกิดมามีนามว่า ปุรุรพ หรือ ท้าวปุรูรวัส ซึ่งต่อมาก็คือปฐมกษัตริย์เชื้อสายจันทรวงศ์ ผู้ครองกรุงประดิษฐาน
ซึ่งเรื่องราวของกษัตริย์เชื้อสายจันทรวงศ์ ก็ได้ปรากฏในวรรณคดีไทยเรื่อง ศกุนตลา ซึ่งก็คือท้าวทุษยันต์ กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งจันทรวงศ์ และเป็นพระสวามีของนางศกุนตลา และมีพระโอรสคือ ท้าวภรตะ กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งจันทรวงศ์ ผู้ที่ภายหลังได้เป็นพระจักรพรรดิผู้ครอบครองทั่วทั้งแว่นแคว้นอินเดีย จนถูกขนามนามว่าเป็นดินแดนภารตะ (และเป็นที่มาของชื่อวรรณกรรม มหาภารตะ อันหมายถึงเรื่องราวของลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากท้าวภารตะ)
อีกทั้งกรุงประดิษฐานซึ่งเป็นเมืองหลวงที่ปกครองโดยกษัตริย์เชื้อสายจันทรวงศ์ ในภายหลังได้ถูกย้ายโดยท้าวหัสติน กษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งจันทรวงศ์ มาก่อตั้งเป็นกรุงหัสตินาปุระ ซึ่งก็คือเมืองที่เกิดเรื่องราว มหาภารตะ อันเป็นวรรณกรรมมหากาพย์สำคัญของอินเดียที่ยาวที่สุดในโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น