วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

วิเคราะห์ความคิดสร้างสรรค์ในเรื่อง “ฆวามเฆญชิน (ความเคยชิน)”

 



วิเคราะห์ความคิดสร้างสรรค์ในเรื่อง  “ฆวามเฆญชิน (ความเคยชิน)”

              ในเรื่องสั้น (ขออนุญาตเรียกเช่นนั้น) เป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจในแง่การเล่นสนุกกับผู้อ่าน โดยใช้ตัวอักษรที่เขียนเป็นสื่อในการถ่ายทอดให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมไปกับการดำเนินเรื่อง เปิดเรื่องโดยการใช้ข้อความที่มีลักษณะของการเตือนในเรื่องที่เขียน ซึ่งคำเตือนก็ไม่ได้เป็นคำเตือนในแง่ที่ว่าห้ามอ่านอย่างเด็จขาด แต่กลับใช้การตั้งคำถามในการถามเพื่อให้แน่ใจว่าผู้อ่านจะอ่านเนื้อหาทีเขียนจริงหรือ ในข้อความที่ว่า “เราให้โอกาสคุณ อีกครั้ง-ครั้งสุดท้าย” เป็นการดึงดูดให้ผู้อ่านเกิดความน่าสนใจในเนื้อหาของเรื่องจะพูดอะไรต่อไป พร้อมกับให้ผู้อ่านเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่โลกที่ผู้พร้อมที่จะให้ผู้อ่านเผชิญ ในแง่ของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนในย่อหน้าเปิดเรื่อง ก็เป็นการดึงดูดให้ผู้อ่านเกิดความสนใจในสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะสื่อ โดยไม่ได้ใช้ประโยคในการเชิญชวนให้อ่าน แต่เป็นประโยคเชิงเตือนในเรื่องแล้วจึงทำทีเป็นว่ายอมที่จะให้ผู้อ่านเข้าไปสู่สิ่งที่ตนสร้างขึ้น (เนื้อหาที่เขียน)

              จนกระทั้งเมื่อเข้าสู่เนื้อหาของเรื่องในหน้าที่สอง ผู้เขียนกลับสร้างความประหลาดใจให้กับผู้อ่านในการเขียนของผู้เขียนที่ใช้อักษรที่มีเสียงเหมือนกันแต่รูปลักษณ์ต่างกัน มาเขียนแทนคำที่เคยพบเห็นทั่วไป ดูได้จากบรรทัดแรกในหน้าสอง “ญิณฎีฏ้อนลับ! ซึ่งเดิมเขียนว่า “ยินดีต้อนรับ” แต่ผู้เขียนกลับเลือกที่เขียนด้วยอักษรที่มีเสียงเหมือนกันแทนแบบเดิมที่เคยเขียน และการเขียนในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้เขียนเพียงแค่นั้น แต่กลับเขียนเกือบทั้งเนื้อหา ชนิดที่ว่าใช้ตัวอักษรที่มีเสียงเหมือนกันมาเขียนในคำที่เขียนในปัจจุบันเป็นประโยคข้อความทั้งหมด ดูได้จากยกตัวอย่าง

               ผมแณ่ไจว่าคุนญังใม่เคญเจอมัณมาก่อน

               ผมเข้าไจ  เรยภิมพ์บัณฑัตละ “ษั้นศั้น” ให้คุนใด้หายใจหายฆอ

              จะเห็นได้ว่าบางคำก็ไม่ได้เปลี่ยนรูปอักษรไปจากเดิม นั่นหมายความผู้เขียนต้องการเน้นเรื่องเสียงของตัวอักษรที่เหมือนกับคำเดิมเป็นหลัก ส่วนเรื่องสระและวรรณยุกต์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรยกเว้นสระที่เสียงเหมือนกันแต่รูปลักษณ์ต่างกันคือ สระไอและสระใอ  ส่วนในประโยคที่ยกตัวอย่างมานั้น หากเขียนแบบที่เขียนกันทั่วไป จะได้ว่า  “ผมแน่ใจว่าคุณยังไม่เคยเจอมันมาก่อน    ผมเข้าใจ เลยพิมพ์บรรทัดละ “สั้นสั้น” ให้คุณได้หายใจหายคอ”  ตามที่กล่าว ในตัวอย่างผู้เขียนก็เขียนหรือพิมพ์ ประโยคแต่ละบรรทัดขนาดสั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านพยายามนึกถึงการออกเสียงของตัวพยัญชนะที่ปรากฏอยู่ในคำแล้วจึงค่อยเปล่งออกมาอ่านในใจ พร้อมทั้งการแบ่งย่อหน้าที่มีความถี่เพื่อง่ายขึ้นต่อการแกะเสียงพยัญชนะในการอ่านและเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ ซึ่งตัวเนื้อเรื่องก็ยังคงทำงานแบบเดิมกับที่เคยกล่าวตอนเปิดเรื่อง แต่มีความต่างออกไปตรงที่ตัวเนื้อหามีลักษณะเป็นการคุยกับตัวผู้อ่าน โดยที่เขาจะคุยไปเรื่อยๆ ส่วนผู้อ่านมีหน้าที่ในการฟังสิ่งที่เขาพูดไป ถึงโลกใบใหม่ โลกที่ผู้เขียนสร้างขึ้นโดยการดำตัวพยัญชนะที่มีเสียงเหมือนมาเขียนแทนคำที่เขียนกันในปัจจุบัน

              แน่นอนว่าการที่ผู้เขียนเปลี่ยนมาใช้พยัญชนะที่มีเสียงเหมือนกัน มาเขียนแทนพยัญชนะเดิมที่เขียนอยู่ในคำ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาในสังคมการเขียน (ยกเว้นในการสนทนาทางออนไลน์) ในด้านความคิดสร้างสรรค์ที่เห็นได้ชัดเจนคือการที่ผู้เขียนมีความคิดที่นำเอาพยัญชนะที่มีเสียงเหมือนกันมาเขียนแทนคำที่เขียนๆ กันในปัจจุบัน โดนคำที่เขียนในปัจจุบันผู้เขียนกล่าวว่าเป็นโลกแห่งความเคยชิน (โรกแห่งฆวามเฆญชิณ) แสดงให้เห็นว่าการเขียนที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นมานั้นคือการสร้างความต่างจากโลกใบเดิมของเขียนขึ้น แต่ก็ยังติดอยู่กับขอบเขตในเรื่องเสียง กล่าวคือ เปลี่ยนเพียงแค่รูปลักษณ์แต่ยังคงไว้ในการออกเสียงแบบเดิม และท้ายที่สุดแม้ผู้เขียนจะนำพาผู้อ่านเข้าสู่โลกใบใหม่ที่ผู้เขียนต้องการสื่อ แต่ก็ไม่พ้นที่จะนำทั้งตัวผู้เขียนและผู้อ่านกลับมาสู่โลกใบเดิม โลกแห่งความเคยชิน หรือการเขียนแบบที่สังคมเขียนกันในปัจจุบัน


เรื่องสั้นจาก

https://www.dek-d.com/board/view/1886935



ยักษ์วัดโพธิ์ เป็นยักษ์จีนจริงหรือไม่ ?

 

ยักษ์วัดโพธิ์ เป็นยักษ์จีนจริงหรือไม่ ?



“ยักษ์วัดแจ้ง มาเกิดกำแหงโมโห ร้องด่าเจ้ายักษ์ตาโต เจ้าอยู่วัดโพธิ์อย่ามาทำอวดดี
อย่าอวดเป็นยักษ์เมืองหลวง มาทำหลอกลวงยักษ์ธนบุรี
ยืมเงินแล้วก็ไม่ใช้ เอ๊ย ยืมเงินแล้วก็ไม่ใช้ เอ๊ะ ยักษ์อะไรเกะกะสิ้นดี
เก่งจริงก็ข้ามเจ้าพระยา เก่งจริงก็เหาะข้ามมา รบกันดีกว่าหละให้มันสิ้นคดี
เอ้า ทุย ป๊ะตุ้มทุย ป๊ะตุ้มทุย ทุย ทุย ทุย ทุย เฮ้ย...

เพลงสปอตจากภาพยนตร์เรื่อง “ ท่าเตียน” เมื่อปี พ.ศ. 2516 เป็นภาพยนตร์แนวแฟนตาซี ที่ถ่ายทำโดยใช้เทคนิคแบบเดียวกับภาพยนตร์เรื่องก๊อตซิลล่า (เวอร์ชั่น 1954 – 2004)ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคที่ทันสมัยมากในช่วงนั้น มีเนื้อหาดัดแปลงมาจากตำนานกำเนิดท่าเตียนเนื่องมาจากการสู้กันระหว่าง “ยักษ์วัดแจ้ง” กับ “ยักษ์วัดโพธิ์” และเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้คนในสังคมจดจำภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของยักษ์ทั้งสอง



                                                           โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องท่าเตียน พ.ศ. 2516


ในมุมมองทั่วไป ภาพของยักษ์วัดแจ้ง เป็นยักษ์ที่มีลักษณะการแต่งกายแบบโขนไทย สูงใหญ่ กายสีเขียว ถือกระบอง แตกต่างกับยักษ์วัดโพธิ์ ที่มีลักษณะการแต่งกายแบบนักรบชาวจีน ถือง้าวเป็นอาวุธ นั่นคือภาพที่คนในสังคมส่วนใหญ่เข้าใจกันในเรื่องรูปร่างลักษณะของยักษ์ทั้งสองที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูวัด แต่ในความเป็นจริงยักษ์ที่ทำหน้าที่เฝ้าหน้าประตูให้กับวัด ทั้งวัดแจ้งและวัดโพธิ์ ล้วนเป็นยักษ์ที่มีรูปแบบศิลปะไทยกันทั้งคู่ แน่นอนว่ายักษ์วัดโพธิ์เองก็คือยักษ์ไทยเช่นกัน

แล้วยักษ์ที่แต่งกายเป็นนักรบจีนไม่ใช่ยักษ์วัดโพธิ์หรือ ถ้ายักษ์วัดโพธิ์เป็นยักษ์ไทยแล้วรูปปั้นยักษ์อยู่ตรงส่วนไหนของวัด ?

ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือที่รู้จักกันในชื่อวัดโพธิ์ มีสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้แผ่นจารึกตามพนังวัด หรือรูปปั้นฤษีดัดตน คือบรรดาตุ๊กตาปูนปั้น รูปสลักหิน แต่งกายแบบอุปรากรของจีน  และมีขนาดที่แตกต่างกันไป จัดวางอยู่ภายในบริเวณวัด เขามอ โดยเฉพาะตรงซุ้มประตูต่างๆ ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่กว่าตุ๊กตาจีนทั่วไป นั่นจึงเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวหรือคนทั่วไปที่มาเยือนคิดว่าเป็นยักษ์ที่คอยทำหน้าที่เฝ้าประตูแบบเดียวกับวัดแจ้ง หรือวัดพระแก้ว แต่แท้ที่จริงแล้ว รูปปั้นนักรบจีนสูงใหญ่ที่ตั้งตระหง่านข้างๆซุ้มประตู คือตุ๊กตาอับเฉาที่เอาไว้ใช้ถ่วงน้ำหนักเรือสำเภา ขนส่งสินค้าเข้ามาขายในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น



                                                                             ตุ๊กตาอับเฉาเรือสำเภา


โดยลักษณะของตัวตุ๊กตาอับเฉาที่ตั้งข้างซุ้มประตูก็จะแตกต่างกันไป บางแห่งก็แต่งกายในชุดนักรบไว้หนวดยาวถือทวน ถือง้าว หรือถือกระบองเป็นอาวุธ (ขุนนางจีนฝ่ายบู๊) ยืนขนาบอยู่ข้างประตูอยู่เป็นคู่ (ซ้าย-ขวา)  หรือบางซุ้มประตูก็แต่งกายในชุดแบบชาวตะวันตกประสานมือวางบนไม้เท้า ซึ่งตุ๊กตาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการเข้ามาของชาวต่างชาติในสยาม ที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายของตุ๊กตาอับเฉา

ดังนั้นรูปปั้นที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างประตูต่างๆ ในวัดจึงไม่ใช่ยักษ์วัดโพธิ์!

    ในส่วนรูปปั้นยักษ์วัดโพธิ์ตัวจริงนั้น อยู่ที่ซุ้มประตูของพระมณฑปหรือหอไตรจตุรมุข  มีสองประตูอยู่ตรงข้ามกับสวนมิสกวัน และตรงข้ามกับสระจรเข้ ซึ่งปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่ายักษ์วัดแจ้ง อยู่ภายในช่องทั้งสองข้างของประตูปิดกระจก (สูงประมาณ 175 ซ.ม) โดยยักษ์ที่ทำหน้าที่เป็นนายทวารบาลเฝ้าหน้าพระมณฑปเป็นตัวละครที่มาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ มีอยู่ด้วยกัน 4 ตน ได้แก่ แสงอาทิตย์ (รูปกายสีแดง) พญาขร (รูปกายสีเขียว) ไมยราพณ์ (รูปกายสีม่วง) และ สัทธาสูร (รูปกายสีส้มอิฐ)


                                                     ซุ้มประตูของพระมณฑปหรือหอไตรจตุรมุข



          แสงอาทิตย์ (รูปกายสีแดง)  ไมยราพณ์ (รูปกายสีม่วง) พญาขร (รูปกายสีเขียว) และ สัทธาสูร (รูปกายสีส้มอิฐ)


แน่นอนว่ายักษ์เฝ้าประตูที่วัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง ทั้ง 2 ตนเองก็มาจากเรื่องรามเกียรติ์ คือ ทศกัณฑ์ (รูปกายสีเขียว) กับ สหัสเดชะ (รูปกายสีขาว) นั้นจึงเป็นข้อสงสัยว่าในตำนาน เหตุใดยักษ์ที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูของวัดทั้งสองจึงได้ทะเลาะกันทั้งๆที่เป็นยักษ์มาจากวรรณคดีเรื่องเดียวกัน แต่นั้นก็เป็นเพียงตำนานที่เล่ากันไปในสังคมที่ทำให้ทราบถึงที่มาของสถานที่นั้นๆ (แม้ว่าจะไม่มีอะไรมายืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า? )



                  ทศกัณฑ์ (รูปกายสีเขียว) กับ สหัสเดชะ (รูปกายสีขาว) ตรงบริเวณซุ้มประตูทางเข้าวัดอรุณฯ

 

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

แนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมของฟูโกต์จากหนังสือ "ฟูโกต์ ความรู้ฉบับพกพา"

 

แนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมของฟูโกต์จากหนังสือ "ฟูโกต์  ความรู้ฉบับพกพา"

 


            บทความนี้ได้ศึกษางานเขียนของ แกรี กัตติง(Gary Gutting) ที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนของ  ปอล-มิแช็ล ฟูโกต์ (Paul-Michel Foucault) นักปรัชญาชาวผรั่งเศษ ผู้ที่ได้นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมในแง่มุม หรือมุมมองที่แตกต่างจากนักประวัติศาสตร์และนักวรรณคดี โดยเน้นศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรม ในบทที่ 2 (วรรณกรรม) บทที่ 5 (วงศาวิทยา) และบทที่ 8 (อาชญากรรมและการลงทัณฑ์) ซึ่งทั้ง 3 บทที่กล่าวนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันในด้านอำนาจทางสังคม

              บทที่ 2 วรรณกรรม เป็นบทที่แสดงถึงความสนใจในเรื่องวรรณกรรมโมเดิร์นพิสต์และการหนีจาก อัตลักษณ์เดิมของฟูโกต์ โดยเริ่มจากการนิยามนักเขียนซึ่ง มีความเกี่ยวข้องกับตัวบทที่ถูกสร้างขึ้น แต่คำว่า ตัวบท ใช่ว่าจะเป็นงานเขียนของนักเขียนเสมอไปอาจเป็นงานเขียนทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น รายการที่จะไปซื้อ  ข้อความที่นักเรียนเขียนส่งให้กันในชั้นเรียน ฯลฯ จึงแสดงว่าตัวบทไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนเสมอไปที่เป็นผู้ผลิตขึ้นมา แต่การเป็นนักเขียนเป็นเรื่องของการบอกว่าเป็นของผู้ รับผิดชอบ ตัวบทนั้นๆ 

            กัตติง ได้อธิบายว่า “...ฟูโกต์จึงสรุปว่า เราไม่ควรอย่างยิ่งที่จะพูดถึง “นักเขียนแต่ควรพูดถึง บทบาทของนักเขียน” ( Author Function ) กล่าวคือการเป็นนักเขียนมิใช่แค่มีความสัมพันธ์ในบางลักษณะกับตัวบท เช่น เป็นผู้สร้างตัวบท แต่การแสดงบทบาทที่สัมพันธ์กับตัวบทตามการนิยามของสังคมและวัฒนธรรม ความเป็นนักเขียน (Authorship) จึงเป็นสิ่งที่สังคมกำหนด มิใช่สิ่งที่มีมาและเป็นไปโดยธรรมชาติ และจะเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมและกาลเวลา (แกรี กัตติง,2558: 31)

            ซึ่งถือเป็นการสรุปรวมในเรื่องนักเขียนและตัวบทโดยมีสังคมและวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดสถานะ ฟูโกต์ยังกล่าวต่อไปถึงบทบาทของนักเขียนว่า บทบาทของนักเขียนในตัวบทไม่ได้สอดคล้องกับตัวตนของผู้เขียนตัวบทนั้นในตัวบท ที่มีผู้เขียน ผู้เขียนต้องใช้หลายตัวตนเพื่อทำหน้าที่นักเขียน เพราะอย่างนี้ในนวนิยายที่ผู้เขียนเป็นผู้เล่าเรื่อง ฉัน/ข้าพเจ้าที่เล่าเรื่องจึงเป็นคนละคนกับผู้เขียนจากข้อความนี้แสดงให้เห็นว่านักเขียนไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในตัวเรื่องที่เขียนหรือเป็นตัวละครในเหตุการณ์ของเรื่อง แต่นักเขียนสวมบทบาทในการเล่าเรื่อง เช่น ศรีบรูพา เขียนเรื่อง ข้างหลังภาพ โดยให้นพพรเป็นผู้เล่าเรื่อง แน่นอนว่าคนเขียนตัวบทเป็นคนเดียวกัน แต่ในฐานะนักเขียน เขาต้องสวมหลายบทบาทที่เชื่อมโยงกับหลายตัวตน การแสดงบทบาทของนักเขียนเพื่อให้เกิดการกระจาย...ตัวตนที่หลากหลายที่ดำรงอยู่พร้อมๆกัน (“What is an Author? EWI, 218) ซึ่งในลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ทั่วในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น งานเขียนนิยายวัยรุ่น ของสำนักพิมพ์แจ่มใสที่เน้นการเล่าเรื่องผ่านตัวเอกซึ่งเป็นผู้หญิง (นางเอกของเรื่อง)

            สิ่งที่น่าสนใจในบทนี้ คือ ปัญหาที่ฟูโกต์ตั้งไว้ว่า ทุกครั้งที่ตั้งตัวบทว่า ใครกำลังพูด (ใคร-ที่อยู่ ณ ตำแหน่งแห่งที่ใดในประวัติศาสตร์ พูดเพื่อประโยชน์ใด-ที่บอกว่าเราต้องฟังสิ่งที่เขาพูด?) (ที่ทางของสรรพสิ่ง The  Order Of Things) โดยคำตอบที่ว่าผู้ที่กำลังพูดคือ คำ(The Order of Things,2513: 305) ซึ่งคำเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาษา โครงสร้างภาษาและผสมความคิดของนักเขียนจึงออกมาเป็น งานเขียน คำสามารถสื่อถึงยุคสมัยของผู้ใช้ดูได้จากคำศัพท์ จำนวนคำศัพท์ที่มีอยู่ในงานเขียนหรือภาษาที่ใช้อีกทั้ง ภาษาอาจมีข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่ทำให้เราพูดถึงบางเรื่องไม่ได้ (แกรี กัตติง,2558: 33)

นั้นจึงอาจเป็นกรอบจำกัดทางภาษาที่ทำให้ภาษาไปไม่ถึงขอบทางไวยกรณ์ของภาษาก็เป็นได้ กัตติง กล่าวว่า“...เมื่อนักเขียนเขียนหลายอย่างที่เขากล่าวถึงจึงมิใช่เรื่องของปรีชาญาณหรือความสามารถอันโดดเด่นของเขาแต่เป็นผลมาจากภาษาที่เขาใช้” (แกรี กัตติง,2558: 34) นั้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของยุคสมัยโดยดูจากคำที่ใช้ เพราะคำเป็นตัวบ่งบอกภาษาได้ดีและเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ตัวบทจึงเป็นสิ่งที่ภาษาผู้พูด นี้จึงอาจเป็นคำตอบที่ว่า ใครกำลังพูด?”

            กรอบทางภาษาเป็นอีกหนึ่งที่ให้ความสำคัญในบทนี้ โดยผู้เขียน ได้กล่าวไว้ว่า ในแง่หนึ่งภาษาให้กรอบแก่การดำรงอยู่ในแต่ละวันของเรา ผ่านโครงสร้างทั้งหลายที่ใกล้ตัวจนเราไม่ทันสังเกต ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าภาษาคือตัวกำหนดบรรทัดฐานของสังคม และเป็นแบบแผนที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีใครสังเกตและเห็นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป ซึ่งหากนอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นการเดินสวนทางกับสังคมหรือผิดออกไป หรือเรียกอีกอย่างว่า บ้าฟูโกต์บอกว่า เราพูดถึงเรื่องที่ถูกเก็บไว้เป็นความเงียบได้มากน้อยแค่ไหน (“A Preface Of Transgression” , EW II,70) ก็คือ คำต้องห้าม  เรื่องเพศนั้นเอง” (แกรี กัตติง,2558: 38) เรื่องเพศก็เป็นเรื่องที่ควบคู่กับสังคมมาช้านาน โดยสื่อออกมาผ่านงานศิลปะและงานวรรณกรรมโดยเรื่องเพศจะสื่อออกมานั้นจะเห็นทางด้านความงดงามและผลงานมากกว่าความอุจาด แต่ในทางกลับกันหากสื่อเรื่องเพศในทางสุดโต่งก็จะกลายเป็นงานอุจาดอนาจารและรุนแรงเสียมากกว่า ซึ่งงานดังกล่าวจึงกลายเป็นการออกนอกกรอบทางสังคมที่กำหนดไว้

"ขีดจำกัดของเราคือขีดจำกัดที่เราต่างรู้ว่าเราเป็นผู้กำหนด ดังนั้น การออกนอกกรอบ(การก้าวล่วง) จึงมีความหมายแค่ขนบต่อตัวเอง ด้วย การกระทำอันสามานย์ที่ว่างเปล่าและย้อนมาหาตัวเอง ด้วยเครื่องมือที่ไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ (EW II,70) แต่ความไร้สาระของความพยายามนี้ก็ทำให้ประสบการณ์ที่ถูกจำกัดเข้มข้นขึ้นผ่านการละเมิดตรรกะทั้งปวง”

(แกรี กัตติง,2558: 39)

กัตติงได้เขียนเอาไว้ แสดงให้เห็น ความพยายามที่จะหลุดจากกฎเกณฑ์ที่เรียกว่ากรอบจำกัด เหมือนดังหนูที่มีอาการต่อต้านยาเบื่อหนู อันเนื่องจากการพัฒนาระบบในร่างกายให้มีความต้านทานจากยาเบื่อหนูซ้ำไปซ้ำมา

             กัตติงยังได้กล่าวอีกว่า การล้วงล่ำกรอบ ความย้อนแยง และการกระจัดกระจายของอัตภาวะ มาประจวบกันในประสบการณ์ที่ถูกจำกัดของความบ้า ของผู้ที่เรามักพูดว่า หลุดจาดโลกซึ่งเหตุผลดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับ สาย สีมา ที่มีความคิดที่แตกต่าง จากผู้ที่มีความศึกษาในยุคนั้น (ประมาณ 2500) จึงเป็นที่มาของคำว่า ปีศาจอันเนื่องมาจากการไม่เป็นไปตามกรอบทางสังคมนิยม (ปีศาจ เสนีย์ เสาวพงษ์)  ดังนั้นการล้วงล้ำกรอบ จึงมีค่าเท่ากับความบ้า หรือ หลุดจากโลก ก็แสดงว่า การอยู่ในกรอบก็คือการยอมรับการจำกัดเพียงแค่นี้ และไม่สามารถที่จะเกินไปกว่านี้ แม้กระทั่งความคิด

                ในบทนี้ กัตติงได้กล่าวในเชิงสรุปว่า ความตื่นตาตื่นใจกับวรรณกรรมแนวก้าวหน้าของฟูโกต์เป็นแง่มุมหนึ่งของการพยายามค้นหาความจริงและการบรรลุความจริงนั้นจากประสบการณ์ (ที่ถูกจำกัด) อย่างสุดโต่งนอกเหนืออาณาบริเวณของการใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงเป็นการเปิดประตูสู่ความเปลี่ยนแปลง ทางทัศนะแห่งโลกทางวรรณกรรม

            บทที่ 5 วงศาวิทยา  เป็นบทที่นำเสนอ ความหมายของวงศาวิทยา ผ่านการศึกษาทางประวัติศาสตร์ และอำนาจกับความรู้ โดนเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า วงศาวิทยาของฟูโกต์และนิทเชอมีแนวคิดเหมือนกัน? โดย กัตติงได้นำเสนอไว้ในงานศึกษาของตนเองว่า

“...ฟูโกต์ไม่เคยให้อรรถาธิบายวงศาวิทยาอย่างที่เคยเขียนเกี่ยวกับโบราณคดีวิทยาใน โบราณคดีวิทยาความรู้ ด้วยเหตุนี้เราจึงควรศึกษาวงศาวิทยาของฟูโกต์จากการทำงานประวัติศาสตร์ของเขาไม่ใช่อ่านสิ่งที่เขาพูดไว้ที่โน่นนิดที่นี่หน่อยและอย่างไม่ค่อยจะคงเส้นคงวา ถ้าใช้วิธีนี้ เรื่องแรกที่เราสังเกตเห็นได้คือ ในบรรดางานเขียนของเขา มีเพียงชิ้นเดียวที่ฟูโกต์ใช้วิธีการศึกษานี้อย่างชัดเจนและคงเส้นคงวา นั่นคือในงานประวัติศาสตร์คุกเรื่อง วินัยและการลงทัณฑ์”

                                                                                                                         (แกรี กัตติง, 2558: 81)

            ซึ่งมันเกี่ยวข้องอะไรละกับคำว่าวงศาวิทยา? แกรี กัตติง ได้กล่าวว่า วินัยและการลงทัณฑ์ของฟูโกต์เองแสดงให้เห็นว่าในบรรดาปัจจัยต่าง ๆ การประดิษฐ์ปืนยาวแบบใหม่ การบริหารจัดการพื้นที่ในโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และการเปลี่ยนวิธีการสอนการดัดลายมือให้เด็ก ๆ ล้วนส่งผลอย่างคาดไม่ถึงต่อการก่อตัวของระบบควบคุมทางสังคม แบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม จึงอาจเป็นไปได้ว่าสังคมอาจนำระบบการจัดการที่เรียกว่า “วินัย” มาใช้ในการอำนวย การจัดระเบียบทางสังคม โดน วินัย ที่ว่านั้นอาจจะมาจากการควบคุมภายในคุกและแพร่ขยายออกมาสู่สังคมภายนอก

            กัตติงยังบอกต่ออีกว่า เป้าของเหตุปัจจัยคือร่างกายของมนุษย์ ตัวอย่างเช่นการลงทัณฑ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ใช้ความรุนแรงกับร่างกาย การแยกเป็นส่วน ๆ การประหารชีวิต ขณะที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การลงทัณฑ์นุ่มนวลขึ้นแต่ยังกระทำต่อร่างกาย นักโทษต้องอยู่ใต้ระบบที่เข้มงวด ซึ่งออกแบบมาเพื่อผลิต “ร่างกายที่เชื่อม” (docile bodies) ซึ่งเป็นการยกตัวอย่างที่มีการแบ่งช่วงเวลา และเปรียบเทียบที่แสดงถึงการลดทอนความรุนแรง แต่ยังคงระบบเดิมอยู่คือ การกระทำต่อร่างกาย ร่างกายของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่เข้มแข็งและบอบบางได้เสมอ และเป็นสิ่งที่สามารถลงโทษให้เกิดความกลัวและไม่กล้าทำในสิ่งนั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าร่างกายมนุษย์เหมาะสมแก่การลงทัณฑ์ จึงนำไปสู่ความหมายของวงศาวิทยาที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า วงศาวิทยาของฟูโกต์จึงเป็นการอธิบายสาเหตุและผลลัพธ์ เชิงประวัติศาสตร์ที่เป็นวัตถุนิสัย หลายทิศ และถึงเนื้อถึงตัว

            วงศาวิทยาของฟูโกต์และนิทเชอไม่ได้มีแนวคิดที่เหมือนกันตรงที่ งานของนิทเชอไม่ได้เป็นงานละเอียดรอบคอบจากเอกสารอย่างเช่นฟูโกต์ แต่เป็นการคาดเดา กัตติง ได้กล่าวต่ออีกว่าวงศาวิทยาของ       นิทเชอ ใช้ปัจจัยทางจิตวิทยา (ความพยองและความทะเยอทะยานของผู้มีอำนาจ ความเคืองแค้นของผู้ไร้อำนาจ ความฉลาดที่ชั่วช้าของเหล่านักบวช) ซึ่งแทบไม่เกี่ยวกันเลยกับประวัติศาสตร์ร่างกายของฟูโกต์ ดังนั้นวงศาวิทยาของฟูโกต์กับนิทเชอนั้นจึงแตกต่างกันค่อนข้างมาก

            ฟูโกต์ สรุปจุดยืนทางคุณค่าของวงศาวิทยาโดยกล่าวว่า วงศาวิทยา คือ “ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน” (Discipilne and Punish, 2520: 30-31) ในสองความหมาย ความหมายแรก วัตถุของการศึกษาของประวัติศาสตร์ คือต้นกำเนิดของกฎ การปฏิบัติ หรือสถาบันที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันและอ้างว่ามีอำนาจเหนือเรา ความหมายที่สอง เจตนาหลักของวงศาวิทยา ไม่ใช่การเข้าใจอดีต แต่เพื่อเข้าใจและประเมินปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อทำลายความชอบธรรมของอำนาจที่ไม่อาจอธิบายตัวมันเองได้ กัตติง กล่าวว่า“...การศึกษาความรู้ด้วยวิธีโบราณคดีวิทยาทำให้ฟูโกต์เห็นอำนาจเป็นตัวการทำให้กรอบความคิดพื้นฐาน (epistemes หรือรูปแบบของวาทกรรม) ที่เป็นพื้นฐานของความรู้ของเราเปลี่ยน” (แกรี กัตติง, 2558: 89)    ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความรู้ ใช่จะเป็นการควบคุมอย่างเดียว เช่น เรื่องกฎหมายที่ใช้ควบคุมประชาชน เป็นต้น นั้นจึงบอกได้ว่า อำนาจและความรู้เป็นสิ่งที่ไปควบคู่กัน

            ในตอนท้ายของบท กัตติงยังได้กล่าวย้ำอีกว่าอำนาจและความรู้เป็นสิ่งที่ไปกนได้ โดยกล่าวว่า การที่การรับรู้ของเราเป็นผลของอำนาจไม่ได้ทำให้การรับรู้ของเราเข้าสู่อาณาบริเวณของความรู้ไม่ได้ อำนาจและความรู้นั้นเป็นสองสิ่งที่ไปด้วยกันได้

            บทที่ 8  อาชกรรมและการลงทัณฑ์ เป็นบทที่เห็นความหมาย วินัยและการลงทัณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อสังคม โดยเริ่มตัวจากประโยคที่คำพูดของฟูโกต์ที่ว่า อำนาจในการลงโทษ โดยเนื้อแท้ก็ไม่ต่างจากอำนาจในการรักษาหรือกล่อมเกลา จากประโยคดังกล่าวจึงดูเหมือนกับเป็นข้อดีของอำนาจที่เป็นสิ่งขัดเกลา และกำหนดว่าสิ่งใดไม่ควรที่จะกระทำ ผู้เขียนได้กล่าวถึงวิธีการลงโทษในยุโรปประมาณการคริสต์ศตวรรษที่ 18 ใช้วิธีแบบที่ต่างจากยุคก่อนหน้านี้และเน้น การทารุณและความรุนแรงต่อร่างกายและประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะชนเป็นเยี่ยงอย่างการแสดงอำนาจของผู้ที่อยู่เหนือการปกครอง โดยวิธีการทำโทษมีความ นุ่มนวล กว่าเดิมแต่ส่งผลทางจิตใจ เช่น การคุมขัง แทนการทรมาน วิธีการลงทัณฑ์ดังกล่าวจึงแปรสภาพกลายเป็น วินัย(Discipline)

            “...ด้านมืดดำกว่าวิถีที่ นุ่มนวลขึ้น  คือความกระหายที่จะควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในระดับหนึ่ง ที่เป็นสัญญาณการเปลี่ยนจากการลงทัณฑ์ ต่อร่างกายอย่างโหดเหี้ยม ทวาไร้จุดหมาย ไม่สู้มาตรการที่เจ็บปวดทรมานน้อยลงแต่รุกคืบเข้ามาควบคุมจิตใจมากขึ้น” (แกรี กัตติง, 2558: 133)  จากข้อความที่ผู้เขียนได้กล่าวมานั้น มันการสะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งของการลงทัณฑ์แบบสมัยใหม่ ที่แม้ไม่ได้ป่าเถื่อนแบบสมัยก่อน แต่ก็เป็นสิ่งที่เน้นส่งผลกระทบต่อจิตใจ และเป็นอะไรที่ง่ายต่อการควบคุม นั้นจึงเป็นต้นแบบในการควบคุมทางสังคม ข้อเสนอที่เด่นชัดที่สุดของ “...วินัยและการลงทัณฑ์ คือเทคนิคในการสร้างวินัยที่เริ่มใช้กับอาชญากรได้กลายเป็นตัวแบบของพื้นที่ควบคุมอัน (โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน เป็นต้น) วินัยคุกจึงรุกคืบไปทั่วสังคมสมัยใหม่ ฟูโกต์กล่าวว่าเราใช้ชีวิตในหมู่เกาะทัณฑ์นิคม (Carceral  arehipelago)  (Discipilne and Punish, 2520: 138)” (แกรี กัตติง, 2558: 134)  อาจจะจริงที่ผู้เขียนและฟูโกต์ได้กล่าว ถ้าเช่นนั้นวินัยคุกก็คงไม่แตกต่างอะไรกับวินัยทหาร ซึ่งเผลอๆอาจจะเป็นต้นแบบการควบคุมทางทหารในปัจจุบัน “...ฟูโกต์สรุปว่าแนวคิดเรื่องวินัยในสังคมสมัยใหม่มีเป้าหมายเพื่อสร้าง ร่างกายที่เชื่อม(Docile bodies) คือร่างกายที่ไม่เพียงทำสิ่งที่เราต้องการ แต่ยังทำด้วยวิธีการที่เราต้องการให้ทำด้วย (Discipilne and Punish, 2520: 138)”  (แกรี กัตติง, 2558: 138)

            ความกลัวว่าจะถูกตัดสินว่าผิดปกติกำกับพวกเรา คนในยุคใหม่ทุกฝีก้าว เป็นอีกหนึ่งข้อความที่     กัตติงแสดงถึงการควบคุมทางอำนาจที่ทำให้ผู้คนมีความรู้สึกว่าถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลาที่ย่างก้าวในชีวิต หากนอกเหนือจากนั้นก็จะถูกมองว่าผิดปกติ แม้จะเป็นการกระทำทั่ว ๆ ไป โดย ฟูโกต์ได้กล่าวว่า “...การจ้องมองที่ก่อให้เกิดความเป็นปกติตามมาตรฐาน (normalizing gaze) [ที่] สถาปนาการมองเห็นเหนือปัจเจกบุคคล แยกแยะพวกเขาเป็นประเภทและตัดสิน” (Discipilne and Punish, 2520: 184)

            วินัยและการลงทัณฑ์ คือความคิดว่าตัวแบบของคุก ได้ลุกลามไปทั่วสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอำนาจควบคุมแบบสมัยใหม่ โดยมีแนวคิดจากคุกที่คุมขังนักโทษ และครอบงำสังคมทุกคนทุกชนชั้น แบบเบ็ดเสร็จและเด็จขาด

            กัตติง ยังได้กล่าวถึง เรื่องคนชายขอบ (the marginal) ของฟูโกต์ ว่าก็คือคนปกติทั่วไปที่ใช้ชีวิตในสังคมแต่กลับค้างเติ่งอยู่ตรงขอบทางสังคม (นอกกรอบสังคม) ด้วยสองเหตุผล คือคนที่ใช้ชีวิตหรือถูกนิยามว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่สวนกระแสของสังคม เช่น กลุ่มคนรักร่วมเพศ คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาแบบเดียวกับสังคม คนที่อพยพมาจากประเทศอื่น ๆ (ชาวต่างด้าว) และสองคนที่สวัสดิภาพชีวิตที่ต่ำกว่าคนในสังคม เช่น แรงงานต่างดาว เด็กในสลัม โสเภณี นักโทษทั้งในเรือนจำและนักโทษที่ออกจากคุก ผู้เขียนยังบอกอีกว่า คนชายขอบต่างจากคนบ้า เพราะเขายึดถือคุณค่าที่สามารถท้าทายและสั่นคลอนค่านิยมของเรา (สังคม) ความเป็นคนชายขอบ (marginaliy) คือความผิดพลาด (error) ในทางการเมือง ความผิดพลาดไม่ใช่เป็นแค่เท็จของข้อเสนอหนึ่ง แต่ยังหมายถึงสิ่งที่ไม่ใช่ภาษาคือ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือค่านิยมที่นอกลู่นอกทาง สิ่งที่กล่าวมาเรื่องคนชายขอบ จึงดูเหมือนเป็นอะไรที่คับแคบมาก และเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้เลยว่ากระแสสังคมคือ การตัดสินด้วยอารมณ์มากกว่า

            ดังนั้นทั้งสามบทไม่ว่าจะเรื่อง วรรณกรรม เรื่อง วงศาวิทยา และเรื่อง อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ จึงมีความเกี่ยวข้องกันในทางด้านอำนาจทางสังคมที่เป็นตัวกำหนด สิ่งเหล่านี้ เริ่มจากบทที่ 2 วรรณกรรม ซึ่งดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับอำนาจทางสังคม แต่สิ่งที่เป็นประเด็นและมีส่วน คือ กรอบทางภาษา ที่เป็นตัวกำหนดแบบแผนการใช้และบรรทัดฐานทางสังคมอย่างจำกัด ซึ่งกรอบทางภาษาก็ทำงานแบบเดียวกับอำนาจตรงที่หากใช้ภาษาที่นอกเหนือจากที่กำหนด ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่เข้าพวกผิดแยกไปจากแบบแผน หรือเรียกได้ว่า กรอบทางภาษาเป็นสิ่งที่จำกัดความทางความคิด (กรอบทางความคิด)

            ซึ่งบทที่5 วงศาวิทยา เป็นอีกบทหนึ่งที่ได้ให้เหตุผลว่า ตัวการที่ทำให้เกิดกรอบทางความคิด ที่นี้คืออำนาจ และอำนาจเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้ อีกทั้งวงศาวิทยา ยังเป็นบทที่แสดงความเป็นมา สาเหตุและผลลัพธ์ทางประวัติศาสตร์จนนำเข้าไปสู่บทที่8 อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ ก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับอำนาจเช่นกันแต่ในที่นี้เป็นอำนาจการควบคุมทางสังคมที่เกิดจากระบบวินัยภายในเรือนจำ และแพร่ขยายออกมาสู่โลกภายนอก จนกลายเป็นแม่แบบในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิต อีกทั้ง การควบคุมของอำนาจก็ยังเป็นรูปแบบเดียวกับบทที่ 2 หากนอกเหนือไปกว่านั้น ก็จะน้องมองว่าผิดปกติ เช่นเดียวกับ กรอบทางภาษาหากผิดแยกออกไปก็จะเรียกว่า บ้า

              ซึ่งทั้งสามบทที่กล่าวมานั้น ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ถูกจำกัดทั้งสิ้น และสิ่งที่จำกัดนั้น คือ อำนาจที่สังคมเองเป็นผู้กำหนดตามกระแสและความต้องการของสังคมนั้นเอง อำนาจทุกสิ่งข้อจำกัดทุกอย่าง หรือ การนิยามในเรื่องนั้นๆก็ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นตามความพึงพอใจที่ตนปรารถนา และไม่ยอมรับในความแตกต่างทางสังคม ดังนั้น อำนาจควบคุมทางสังคมเป็นสิ่งที่มนุษย์หรือสังคมกำหนดด้วยอารมณ์และความรู้สึกมากกว่าความคิด

 



 

อ้างอิง

แกรี กัตติง. (2558). ฟูโกต์: ความรู้ฉบับพกพา.  กรุงเทพ: โอเพ่นเวิลด์ส


หมายเหตุ : บทความนี้เป็นงานที่เขียนขึ้นสมัยเรียนมหา'ลัยปี 1 คณะมนุษย์ฯ ในวิชาวรรณกรรมศึกษา

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ลานน้ำวน ชั้นG ห้างสรรพสินค้า ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

 

     ช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยทุกครั้งหลังเลิกเรียน ผมมักไปเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิตเป็นประจำ เผื่อบรรยากาศเย็นฉ่ำของเครื่องปรับอากาศภายในห้างจะทำให้เราสดชื่น ผ่อนคลายจากสิ่งที่เรียนมา กระทั้งวันหนึ่งวิชาสุนทรียศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาบังคับ ได้ให้โจทย์มาว่า "ให้นักศึกษานำสิ่งที่ตนเองเกิดความสุนทรีย์มากที่สุดในชีวิต พร้อมกับอธิบาย" โดยไม่กำหนดว่าต้องเป็นงานศิลปะแบบในหนังสือเรียน เอาที่เราพบเห็นได้ทั่วๆ 

    ขณะที่ผมกำลังครุ่นคิด เดินเตร็ดเตร่อยู่ภายในห้าง ผมก็ชะโงกลงไปก็พบเข้ากับลานน้ำวนที่อยู่ชั้นลาง แรกๆ ก็ไม่ใคร่จะสนใจสักเท่าไหร่ แต่พอจ้องมองนานๆ ไปมันก็ทำให้ผมคิดที่จะหยิบเจ้าสิ่งที่ผมกำลังเหม่อมอง นำมาเขียนวิเคราะห์ในเชิงงานศิลปะตามที่อาจารย์สั่ง 




        จากภาพที่เห็น นี่เป็นลานน้ำวนชั้น G ของห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ที่ถ่ายลงมาจากชั้นหนึ่ง 1 โดยกล้องมือถือของผม  เป็นงานประติมากรรมประเภท โมเสก (Mosaic) ที่ใช้กระเบื้องต่างชนิด (กระเบื้องแก้ว:สีเขียว และกระเบื้องเคนไซ:สีดำ) มาประดับตกแต่งในลักษณะเป็นวนก้นหอยสลับสีกัน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัด โดยงานชิ้นนี้ถูกออกแบบให้เป็น “ลานน้ำวน” ดูได้จากน้ำที่ไหลบนกระเบื้อง

                  ซึ่งหากมองตามความรู้สึกของสิ่งที่เห็นตามทฤษฎีความรู้สึก มันน่าจะเป็นงานที่ถ่ายทอดทางทัศนศิลป์แนว “นิยมรูปทรง” เป็นหลัก ซึ่งดูได้จากลักษณะของงานที่วนเกลียวและมีมิติที่เน้นความกว้างไปหาความลึก คล้ายกับลักษณะของกระแสน้ำวน โดยอีกนัยหนึ่ง ก็เป็นการถ่ายทอดที่ “นิยมเลียนแบบ” ในลักษณะ “เลียนแบบธรรมชาติในลักษณะการไหลวนของน้ำ”

                  ส่วนในเรื่องขององค์ประกอบของงานด้าน ถ้าให้วิเคราะห์จะขอวิเคราะห์ออกมาเป็น 2 ด้านได้แก่ ด้านรูปแบบ-รูปทรงและด้านเนื้อหาของงาน

               ด้านองค์ประกอบของงานด้านรูปแบบ-รูปทรง มีลักษณะที่เลียนแบบการไหลวนของน้ำจากกว้างไปหาแคบ ซึ่งแสดงถึงมิติความลึกของผลงาน อีกทั้งยังมีการนำกระเบื้องทั้งสองชนิดที่มีลักษณะและสีที่ต่างกันมาประดับในรูปแบบก้นหอยที่มีจุดเริ่มต้นสวนทางกัน (ในภาพจะเห็นได้ว่ากระเบื้องสีดำหรือกระเบื้องเคนไซจะเริ่มต้นจากกว้างไปหาแคบทางด้านซ้าย ส่วนกระเบื้องสีเขียวหรือกระเบื้องแก้วนั้นจะเริ่มจากกว้างไปหาแคบทางด้านขวา) ที่ไม่บรรจบ เว้นจุดกึ่งกลางที่มีรูให้น้ำไหลผ่านลงไป (ตรงช่องสี่เหลี่ยมตรงกลาง) ของสระ

        ส่วนทางด้านเนื้อหาของงาน มีลักษณะเป็นการนำศิลปะมาปรับให้ดูมีความเป็นธรรมชาติ(น้ำวน) ประกอบกับตัวงานนั้น มีการเปิดน้ำให้ไหลลงไปผ่านพื้นผิวกระเบื้องที่ทำเหมือนเป็นเส้นทางให้น้ำไหลลงไปสู่จุดกึ่งกลางของงาน หรือเรียกอีกอย่างว่า อาศัยการไหลของน้ำให้ดูมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น

            แล้วจากที่เห็นตีความหมายงานว่าสื่อถึงอะไร และมีอะไรเป็นสัญลักษณ์ ?

        หากมองจากลักษณะของผลงานจะเห็นได้ว่ามีการใช้สีและชนิดของกระเบื้องที่แตกต่างกันประกอบกับตัวผลงานนั้นถูกจัดแสดงที่ห้างสรรพสินค้าให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแก่บรรดาลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือมาเที่ยวชม จึงอาจตีความหมายของผลงานได้ว่า ความแตกต่างของลักษณะและสีของกระเบื้องนั้นหมายถึงความรู้สึกของผู้คน เช่น สีเขียวจากกระเบื้องแก้วนั้นหมายถึงความมีชีวิตชีวา หรือ ความสุข ส่วนสีดำจากกระเบื้องเคนไซนั้นหมายถึง ความถดถอย อ่อนล้า หรือความทุกข์ โดยกระเบื้องทั้งสองสีนี้ต่างก็มีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน แต่สุดท้ายก็วนมาเจอกันที่จุดกึ่งกลางของสระ ซึ่งจุดกึ่งกลางก็คือห้างสรรพสินค้าเอง ดังนั้นความหมายของงานชิ้นนี้น่าจะหมายถึงหมายถึง แต่ละคนมีอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกัน บ้างคนอาจมีความสุขหรือบ้างคนอาจมีความทุกข์ แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องมาบรรจบรวมกันกันที่ห้างสรรพสินค้า หรือเรียกอีกอย่างว่า ห้างสรรพสินค้าคือแหล่งที่รวบรวมอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน

 

หมายเหตุ : เป็นบทความเก่าที่นำมาลงเพราะคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด 19

ที่มาของผลงาน : ลานน้ำวน ชั้นG ห้างสรรพสินค้า ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต


วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

สุริโยทัย...วีรกรรมการรบในพงศาวดารไทยและต่างชาติ


สุริโยทัย...วีรกรรมการรบในพงศาวดารไทยและต่างชาติ

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยทัย พ.ศ. 2544


    เรื่องราววีรกรรมการเสียสละของสมเด็จพระสุริโยทัยนับเป็นรู้จักกันเป็นอย่างดีในสังคมและเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เป็นวันสวรรคตของพระองค์  วีรกรรมการเสียสละดังกล่าวถูกถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สุริโยทัย” ของม.จ. ชาตรี เฉลิมยุคล ที่ทำให้ชื่อของสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิรู้จักกันในสังคมมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าในการที่จะถ่ายทอดให้ออกมาให้เห็นเป็นภาพของคนแสดง สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมแล้วนำมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์

    ซึ่งหลักฐานที่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์การเสียสละของพระองค์ ดูได้จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) โดยรัชกาลที่ 1 โปรดให้ชำระเมื่อปี พ.ศ. 2338 และเป็นเอกสารฉบับแรกที่เอ่ยพระนามพระสุริโยทัย ในช่วงสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหงสาวดี โดยมีความตอนหนึ่งได้ระบุถึงเหตุการณ์การเสียสละของพระองค์เอาไว้ว่า

    “...สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ก็ขับเข้าพระคชาธารเข้าชนกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกดังนั้น ก็ขับพระคชาธารไล่ตามช้างของพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยทัยเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับ พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาสุริโยทัยขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ...”

    หรือในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ก็ได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ความว่า “เมื่อสมเดจพระมหาจักรพรรดิเจ้าเสดจออกไปรบหงษานั้น สมเดจพระอรรคมเหษีสมเดจพระเจ้าลูกพระราชบุตรี เสดจทรงช้างออกไปโดยเสดจด้วย แลเมิ่อได้รบหงษานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทับหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ แลสมเดจพระอรรคมเหษีแลสมเดจพระเจ้าลูกเธอราชบุตรีนั้นได้รบด้วยข้าศึกถึงสิ้นพระชนมกับคอช้างนั้น...” ซึ่งในพงศาวดารฉบับนี้ได้มีการเพิ่มบุคคลที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้คือ พระธิดาในสมเด็จพระสุริโยทัย (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี)

    แต่ในหลักฐานจากคำให้การชาวกรุงเก่า ที่แปลมาจากพงศาวดารฉบับหลวงของพม่า กลับบันทึกว่าในเหตุการณ์การสู้รบกับพม่า ผู้ที่สวรรคตไม่ใช่พระสุริโยทัย แต่เป็นบุตรตรีของพระองค์ (มหาบรมดิลก) ที่อาสาไปรบแทนพระบิดาที่กำลังประชวนในขณะนั้น (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ “เอกสารพม่าอ้าง มหาบรมดิลกคือผู้สละพระชนม์ทรงช้างสู้กษัตริย์พม่าไม่ใช่พระสุริโยทัย” ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ที่ด้านล่าง)

    อีกทั้งในเอกสารฮอลันดา และในเอกสารโปรตุเกส ก็ไม่ปรากฏชื่อหรือวีรกรรมที่พระองค์ทำ (โดยส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวถึงบรรยายกาศของสงครามพม่าบุกกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) หรือแม้แต่ในมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า ฉบับนายต่อ แปล ตอนพระเจ้าหงษาวดีทำศึกกับไทยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ก็ไม่ได้ปรากฏชื่อของพระองค์เช่นกัน (ส่วนใหญ่มักเน้นบรรยายกองทัพของพม่าและสู้รบกับกรุงศรีฯ)

    หลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ก็เป็นหลักฐานที่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งถ้าถามว่าแล้วหลักฐานทั้งจากเอกสารฮอลันดา เอกสารโปรตุเกศ และมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า ฉบับนายต่อ ทำไมถึงไม่มีการกล่าวถึงวีรกรรมหรือแม้แต่ของพระองค์ ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า ผู้ที่เขียนบันทึกอาจจะไม่ได้อยู่ตรงบริเวณจุดที่เกิดเหตุการณ์แล้วเขียนเหตุการณ์ตามสิ่งที่เห็น หรืออาจเป็นเจตนาของผู้เขียนที่ไม่ต้องการบันทึกเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นเพราะอาจจะเป็นการทำให้เสียพระเกียรติ หรือผู้เขียนเหตุการณ์อาจไม่ทราบพระนามของพระองศ์ เนื่องด้วยการรบชุลมุนวุ่นว่ายจนต้องเลือกหยิบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญ (ต่อฝ่ายของตน) มาบันทึก หรือไม่วีรกรรมของพระสุริโยทัยเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อมารับใช้อำนาจทางสังคม ฯลฯ 

    นั้นเป็นเพียงแค่การตั้งสมมติฐานจากเอกสารขั้นต้นที่ไม่ได้ลงรายะเอียดลึกนัก อาจมีบางส่วนที่ผิดพลาดก็ต้องขออภัย แต่การศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องศึกษาจากหลังฐานข้อมูลหลายๆ ด้านมาประกอบในการหาคำตอบของคำถาม ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ กระนั้น วีรกรรมการเสียสละของสมเด็จพระสุริโยทัยก็ยังคงอยู่ในสังคมบนหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย 

     #ความรู้ใหม่ย่อมเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามกับความรู้เก่า

อ้างอิงจาก

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ . พระสุริโยทัยเป็นใคร? มาจากไหน? . กรุงเทพฯ : มติชน,2544

นายต่อ, แปล. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. กรุงเทพ : มติชน, 2545

เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ https://www.silpa-mag.com/cultuer/article_7191


วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563

โคลงหน้าหนาว 28 บท

 

โคลงหน้าหนาว 28 บท

(รวมโคลงสี่สุภาพ ว่าด้วยเรื่องราวในฤดูหนาวที่ไม่ปรากฏในเมืองหลวง)

 


พระพายพลิ่วเล่นลิ่ว         จำปาโรยรา

                                                    ปลิวทั่วทุ่งท้องนา                           ทุ่งข้าว

                                                    หนาวจับสั่นกายา                            คุมห่ม  ภูษา

                                                    อบอุ่นยินเสียงว่าว                           อื่ออื้อ  ค่ำคืน



กองไฟสว่างแจ้ง             ขับไล่ลมหนาว

                                                    สังเกตหมู่หมอกไอ                     ชื่นหล้า

                                                    กระเจียวพรั่งบานไหว                 หยดแม่  คะนิ้ง

                                                    เต็มทุ่งทางใบหญ้า                       ถิ่นบ้าน  เกิดตน

 

อากาศเย็นตื่นเช้า            ฟ้ามืด  ไร้แสง

                                                     เย็นยิ่งย่างยาดยืด                         เหยียดย้าย

                                                    จำฝืนอย่างอืดฝืด                         พลิกนั่ง  เหม่อลอย

                                                    กึ่งตื่นกึ่งหลับคล้าย                      บ่อน้ำ ระลอก


 


เหมันต์ยามรุ่งเช้า             ขาวนวล แสงแดด

                                                  สิ้นวี่แววพิรุณครวญ                    เคลื่อนย้าย

                                                  ฤดูกาลเปลี่ยนลาลวน                  เจ็บป่วย  ตามมา

                                                  ควรมั่นรักษาคล้าย                       แผ่นหล้า   บ้านเกิด 



ยามลมหนาวสั่นสู้              หวีดหวิว  ผิวกาย

                                                  ริบหรี่แสงดวงจิ๋ว                           หิ่งห้อย

                                                  ประกายเด่นบินลิ่ว                         กลางป่า  กลางดง

                                                  แสงสว่างแรงด้อย                           เหว่ว้า  ราตรี

 


สัตบรรณกลิ่นฟุ้ง               หน้าหนาว  ยามค่ำ

                                                 แผ่กิ่งดอกสีขาว                             กลีบน้อย

                                                 บานเป็นพุ่มคล้ายดาว                    สะพรั่ง อบอวล

                                                 ฉุนกลิ่นเวียนหัวคล้อย                   อีกชื่อ  ตีนเป็ด



                                                        เสื้อกันหนาวหลากร้อย        หลายสี

                                                  มักใส่หน้าหนาวมี                         อวดอ้าง

                                                  ตามทุกที่ฤดี                                  เล็กใหญ่  ตามตัว

                                                  อบอุ่นร่างกายบ้าง                         เก่าบ้าง  ใหม่บ้าง


   ๏ลมหนาวนอนห่มผ้า             เตียงนอน คลุมโปง

                                                บนที่นอนกอดหมอน                        ก่ายข้าง

                                                ห่มสามสี่ดุจหนอน                           หนาวสั่น  ในผ้า

                                                คดห่อเรือนร่างว่าง                            เกียจคร้าน  ลืมตื่น

 

                                       ๏น้ำเย็นสั่นสะดุ้ง                     สั่นไหว

         แลหวั่นเกรงในใจ                              ซู่ซู้

                                                  ยะเยือกหยดสีใส                                ปั่นป่วน

                                                  ตักสาดสั่นชั่วครู่                                อุ่นรู้  สติคืน

                                     


ยืนกลางแดดแผดเผา              อุ่นไอ

                                                  คลายเหน็บหนาวผิงไฟ                             จี่ข้าว

                                                  พลัดปันแบ่งกินไป                                    จุดเสียด

                                                  อืดอิ่มไร้อบอ้าว                                         เหล่าเพื่อน  ครื้นเครง

 

                                        หน้าหนาวปีใหม่ใกล้                 มาเยือน

                                                    เข้าสู่ลมพัดเตือน                                    โศกเศร้า

                                                    ให้พ้นผ่านลาเลือน                                  มีสุข

                             ปรารถนาที่เฝ้า-                                      ใฝ่ให้  สมหวัง                  

 


                                    ๏ใบไม้โรยเหี่ยวร่วง                    เปลี่ยนสี  น้ำตาล

                                                 ต้นผลิใบเรียวรี                                    ออกมาลย์

                                                 แสบแสงแดดหวิววี                             นางแอ่น ผกผิน

                                                บินเล่นเย็นเยือดยาด                             ป่าทุ่ง  เหมันต์

 

                   ๏ลมพัดผ่านสดชื่น                        ยามเช้า  สดใส

                                                  แปรเปลี่ยนลมพัดเคล้า                          ขับไล่

                                                  ร้อนชื่นอุ่นร้อนเร้า                                ดุจดั่ง  แทนที่

                                                  เย็นหวั่นสายลมให้                                ฝากเฝ้า  คิดถึง

 


   ๏หมอกหนาวราวปุยนุ่น               ปุกปุย  สีขาว

                                                      ลอยแผ่วบางเบาฉุย                              ขุ่นใกล้

                                                      ทุกก้าวที่เดินลุย                                   หม่นเช้า

                                                      กระจ่างหายนึกใคร่                              ฉ่ำชื่น  อากาศ

             


  ค่ำคืนหนาวแต่ฟ้า                       พร่าวพราว  ดารา

                                               ปลอดโปร่งระยิบดาว                             ถี่แจ้ง

                                               จับเรียงกลุ่มสั้นยาว                                 สว่าง  หลายดวง

                                               จันทร์เปล่งประกายแกล้ง                        เร่งเร้า  บังดาว

                   


  แดดเหลืองฉายส่องเลื่อน            ตามกาล

                                                       เคลื่อนผ่านทิวากาล                               ต่ำคล้อย

                                                       ปรากฏแต่นิลกาฬ                                  ลมพรั่น  เย็นเยือก

                                                       เย็นย่ำกระทบย้อย                                  หยดน้ำ ค้างลง

 

                                        ๏หิมะโปรยตกนุ่ม                        ไอเย็น  ควันขาว

                                                       พฤกษ์ไม่มีใบเป็น                                อยู่ล่าง

                                                       ทับถมต่ำลำเข็ญ                                    แฉะฉ่ำ  หิมะ

                                                       นั้นจึ่งเพียงฝันข้าง                                 ไม่ได้  มีจริง

 

                                       ๏ลมพลิ้วโบกถิ่นท่อง                   ใกล้ถึง  สิ้นปี

                                                        มาบ่งบอกหวนคนึง                           ก่อนครั้ง

                                                        เรื่องราวเล่าสะพรึง                            ก่ำกึ่ง  ปะปน

                                                        บ้างสุขทุกข์พลาดพลั่ง                       แต่ล้วน  ห้วนคิด

 

                                        ๏เดือนสิบสอง เดื่อนอ้าย                 ลมพัด  วอยวอย

                                                        หวนสู่ตามนัดหมาย                               ถิ่นบ้าน

                                                        หมอกว่างเปล่าพานพัด                          เข้าผ่าน  สู่ไทย

              ก่อกระจายเพ่นพ่าน                          ที่พร้อม  ความเย็น  

                  


   ควันขาวลอยขื่อขึ้น                      เหนือไฟ

                                                        มีกลิ่นเย้ายวนใจ                                    ไก่ย่าง

                                                        นั่งปิ้งอย่างความใน                                กระเส้า  สั่นหนาว

                                                       กระหน่ำพัดวีข้าง                                    รี่เร่ง  ให้สุก                                      



          สถานที่ท่องเที่ยว                      มากมาย  หน้าหนาว

                                                   ภูกระดึงหมอกสาย                                เมื่องเล้ย

                                                   ภาคเหนือที่แม่ปาย                                เชียงใหม่

                            ไปเกาะทางใต้เฮ้ย!                                อุ่นร้อน  หนีหนาว                


  ดอกไม้บานหร่ายทุ่ง                    งดงาม เหมันต์

                                                พันกลีบดอกพรั่งตาม                               หมู่ผึ้ง

                                                ดอมดมหมู่ดอกคราม                               บินผ่าน  ลมหนาว

                                                ก่อไผ่ไหวสั่นซึ่ง                                       ลู่ลิ่ว  ตามลม

 

                                     ๏บ่ายเริ่มหนาวเก็บผ้า                      น้ำค้าง  เริ่มลง

                                                   เก็บเสื่อผึ่งตากลม                                   เหือดแห้ง

                                                   รองเท้ากระเป๋าข้าง                                 ตากเสร็จ  เก็บคืน

                                                   ไหนบ่แห้งทำแสร้ง                                เก็บเข้า  ตากเรือน

 

                                     ๏พื้นบ้านเย็นกระเบื้อง                    ก้าวเดิน

                                                   เย็นจัดอยากเหาะเหิน                             หลีกเลี่ยง

                                                   นั่งนอนสะดุ้งเกิน                                   เย็นเฉียบ

                                                   เหมือนดั่งวิหกเอี้ยง                                โดดเด้ง  ไปมา

                 



 สัตว์เลี้ยงสวมใส่เสื้อ                   แมวหมา

                                                       น่าแปลกตานักหนา                             เกลื่อนบ้าน

                                                       ให้อบอุ่นหวงหา                                  รักสัตว์

                                                       สวมใส่บ้างต่อต้าน                               ถอดทิ้ง  เกะกะ

 

                                         ปวดฉี่บ่อยตื่นขึ้น                        อากาศ  เย็นเยือก

                                                        ลุกสะลึมสะลือปาด                              เปิดผ้า

                                                        เดินมึนอย่างยืดยาด                               ชิ้งฉ่อง  ห้องน้ำ

                                                        เสร็จสรรพเดินหลับหน้า                      กลับเข้า  ที่นอน


                                      ๏ลมหนาวพัดโบกลิ่ว                หน่ำใหญ่  ส่งท้าย

                                                     สวัสดีปีใหม่                                     จากใกล้

                                                     อวยชัยส่งฝันใฝ่                                ประสบ  ดีงาม

                           ลมผ่านเลยหาไม่                             จากใคร่  กลับคืน                 

 


      นาหน้าหนาวเกลื่อนทุ่ง            ข้าวดอ สุกเรือง

                                                      น้ำบ่อใสเห็นตอปอ                             ตัดด้วน

                                                      คมเคียวเกี่ยวกำกอ                               ยินโหวด วูดแว่ว

                             แคนเป่าพิณดีดม่วน                             กึกก้อง  ธานินทร์