วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ยักษ์วัดโพธิ์ เป็นยักษ์จีนจริงหรือไม่ ?

 

ยักษ์วัดโพธิ์ เป็นยักษ์จีนจริงหรือไม่ ?



“ยักษ์วัดแจ้ง มาเกิดกำแหงโมโห ร้องด่าเจ้ายักษ์ตาโต เจ้าอยู่วัดโพธิ์อย่ามาทำอวดดี
อย่าอวดเป็นยักษ์เมืองหลวง มาทำหลอกลวงยักษ์ธนบุรี
ยืมเงินแล้วก็ไม่ใช้ เอ๊ย ยืมเงินแล้วก็ไม่ใช้ เอ๊ะ ยักษ์อะไรเกะกะสิ้นดี
เก่งจริงก็ข้ามเจ้าพระยา เก่งจริงก็เหาะข้ามมา รบกันดีกว่าหละให้มันสิ้นคดี
เอ้า ทุย ป๊ะตุ้มทุย ป๊ะตุ้มทุย ทุย ทุย ทุย ทุย เฮ้ย...

เพลงสปอตจากภาพยนตร์เรื่อง “ ท่าเตียน” เมื่อปี พ.ศ. 2516 เป็นภาพยนตร์แนวแฟนตาซี ที่ถ่ายทำโดยใช้เทคนิคแบบเดียวกับภาพยนตร์เรื่องก๊อตซิลล่า (เวอร์ชั่น 1954 – 2004)ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคที่ทันสมัยมากในช่วงนั้น มีเนื้อหาดัดแปลงมาจากตำนานกำเนิดท่าเตียนเนื่องมาจากการสู้กันระหว่าง “ยักษ์วัดแจ้ง” กับ “ยักษ์วัดโพธิ์” และเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้คนในสังคมจดจำภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของยักษ์ทั้งสอง



                                                           โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องท่าเตียน พ.ศ. 2516


ในมุมมองทั่วไป ภาพของยักษ์วัดแจ้ง เป็นยักษ์ที่มีลักษณะการแต่งกายแบบโขนไทย สูงใหญ่ กายสีเขียว ถือกระบอง แตกต่างกับยักษ์วัดโพธิ์ ที่มีลักษณะการแต่งกายแบบนักรบชาวจีน ถือง้าวเป็นอาวุธ นั่นคือภาพที่คนในสังคมส่วนใหญ่เข้าใจกันในเรื่องรูปร่างลักษณะของยักษ์ทั้งสองที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูวัด แต่ในความเป็นจริงยักษ์ที่ทำหน้าที่เฝ้าหน้าประตูให้กับวัด ทั้งวัดแจ้งและวัดโพธิ์ ล้วนเป็นยักษ์ที่มีรูปแบบศิลปะไทยกันทั้งคู่ แน่นอนว่ายักษ์วัดโพธิ์เองก็คือยักษ์ไทยเช่นกัน

แล้วยักษ์ที่แต่งกายเป็นนักรบจีนไม่ใช่ยักษ์วัดโพธิ์หรือ ถ้ายักษ์วัดโพธิ์เป็นยักษ์ไทยแล้วรูปปั้นยักษ์อยู่ตรงส่วนไหนของวัด ?

ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือที่รู้จักกันในชื่อวัดโพธิ์ มีสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้แผ่นจารึกตามพนังวัด หรือรูปปั้นฤษีดัดตน คือบรรดาตุ๊กตาปูนปั้น รูปสลักหิน แต่งกายแบบอุปรากรของจีน  และมีขนาดที่แตกต่างกันไป จัดวางอยู่ภายในบริเวณวัด เขามอ โดยเฉพาะตรงซุ้มประตูต่างๆ ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่กว่าตุ๊กตาจีนทั่วไป นั่นจึงเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวหรือคนทั่วไปที่มาเยือนคิดว่าเป็นยักษ์ที่คอยทำหน้าที่เฝ้าประตูแบบเดียวกับวัดแจ้ง หรือวัดพระแก้ว แต่แท้ที่จริงแล้ว รูปปั้นนักรบจีนสูงใหญ่ที่ตั้งตระหง่านข้างๆซุ้มประตู คือตุ๊กตาอับเฉาที่เอาไว้ใช้ถ่วงน้ำหนักเรือสำเภา ขนส่งสินค้าเข้ามาขายในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น



                                                                             ตุ๊กตาอับเฉาเรือสำเภา


โดยลักษณะของตัวตุ๊กตาอับเฉาที่ตั้งข้างซุ้มประตูก็จะแตกต่างกันไป บางแห่งก็แต่งกายในชุดนักรบไว้หนวดยาวถือทวน ถือง้าว หรือถือกระบองเป็นอาวุธ (ขุนนางจีนฝ่ายบู๊) ยืนขนาบอยู่ข้างประตูอยู่เป็นคู่ (ซ้าย-ขวา)  หรือบางซุ้มประตูก็แต่งกายในชุดแบบชาวตะวันตกประสานมือวางบนไม้เท้า ซึ่งตุ๊กตาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการเข้ามาของชาวต่างชาติในสยาม ที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายของตุ๊กตาอับเฉา

ดังนั้นรูปปั้นที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างประตูต่างๆ ในวัดจึงไม่ใช่ยักษ์วัดโพธิ์!

    ในส่วนรูปปั้นยักษ์วัดโพธิ์ตัวจริงนั้น อยู่ที่ซุ้มประตูของพระมณฑปหรือหอไตรจตุรมุข  มีสองประตูอยู่ตรงข้ามกับสวนมิสกวัน และตรงข้ามกับสระจรเข้ ซึ่งปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่ายักษ์วัดแจ้ง อยู่ภายในช่องทั้งสองข้างของประตูปิดกระจก (สูงประมาณ 175 ซ.ม) โดยยักษ์ที่ทำหน้าที่เป็นนายทวารบาลเฝ้าหน้าพระมณฑปเป็นตัวละครที่มาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ มีอยู่ด้วยกัน 4 ตน ได้แก่ แสงอาทิตย์ (รูปกายสีแดง) พญาขร (รูปกายสีเขียว) ไมยราพณ์ (รูปกายสีม่วง) และ สัทธาสูร (รูปกายสีส้มอิฐ)


                                                     ซุ้มประตูของพระมณฑปหรือหอไตรจตุรมุข



          แสงอาทิตย์ (รูปกายสีแดง)  ไมยราพณ์ (รูปกายสีม่วง) พญาขร (รูปกายสีเขียว) และ สัทธาสูร (รูปกายสีส้มอิฐ)


แน่นอนว่ายักษ์เฝ้าประตูที่วัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง ทั้ง 2 ตนเองก็มาจากเรื่องรามเกียรติ์ คือ ทศกัณฑ์ (รูปกายสีเขียว) กับ สหัสเดชะ (รูปกายสีขาว) นั้นจึงเป็นข้อสงสัยว่าในตำนาน เหตุใดยักษ์ที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูของวัดทั้งสองจึงได้ทะเลาะกันทั้งๆที่เป็นยักษ์มาจากวรรณคดีเรื่องเดียวกัน แต่นั้นก็เป็นเพียงตำนานที่เล่ากันไปในสังคมที่ทำให้ทราบถึงที่มาของสถานที่นั้นๆ (แม้ว่าจะไม่มีอะไรมายืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า? )



                  ทศกัณฑ์ (รูปกายสีเขียว) กับ สหัสเดชะ (รูปกายสีขาว) ตรงบริเวณซุ้มประตูทางเข้าวัดอรุณฯ

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น