วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข้อแตกต่างระหว่างวรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยาตอนปลายกับวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 6

 



ข้อแตกต่างระหว่างวรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยาตอนปลายกับวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 6

 

            วรรณกรรมคำฉันท์ล้วนเป็นสิ่งที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อสร้างความบันเทิงทางใจให้แก่คนไทยมาช้านาน ซึ่งไม่ต่างกับวรรณกรรมประเภทอื่น หรือศิลปะแขนงต่างๆ ที่ให้คุณค่าทางจิตใจ จรรโลมใจ จินตนาการ และความงามที่เป็นเอกลักษณ์ของงานชิ้นนั้นๆ...

วรรณกรรมคำฉันท์ก็เช่นกัน มีความงดงามในแบบของความไพเราะ การใช้คำ และเสียงในการอ่านหรือขับกล่อมในรั้วในวัง สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเล่นกับภาษาให้ออกมาเป็นรูปแบบร้อยกรองที่มีลักษณะของคำที่มีสัมผัสของเสียงหรือความคล้องจองกัน พร้อมกับการกำหนดระดับเสียงสูง-ต่ำ สั้น-ยาว หนัก-เบา (ครุและลหุ) องค์ประกอบดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดฉันทลักษณ์ที่ใช้ชื่อว่า “ฉันท์” แตกแขนงความคิดเพื่อให้เกิดความแตกต่างและความแปลกใหม่เป็นฉันท์ประเภทต่างๆ ผสมกับเรื่องราว นิทาน ตำนาน ที่เล่ากันปากต่ปากในสังคม พิธีกรรม ให้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แปรเปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมยอมรับหรือนิยมชมชอบ นั้นจึงออกมาเป็นสิ่งที่เหล่า “วรรณคดีสโมสร” ยกย่องให้เป็นสิ่งที่มีความงดงามโดยใช้ชื่อว่า “วรรณคดีคำฉันท์” หรือ “วรรณคดีประเภทคำฉันท์”

วรรณคดีประเภทคำฉันท์เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาและองค์ความรู้จากต่างประเทศที่ออกมาในรูปแบบคัมภีร์หรือตำราการแต่งฉันท์ ปรากฏออกมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงยุคที่รุ่งเรืองทางด้านวรรณคดี (สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) และส่งอิทธิพลเป็นแบบอย่างในการแต่งฉันท์เรื่องต่างๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั้งสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำแบบแผนในการแต่งคำประพันธ์หรือฉันทลักษณ์กำหนดคำในการแต่งร้อยกรอง จึงทำให้วรรณคดีประเภทคำฉันท์มีความแตกต่างกับวรรณคดีคำฉันท์อยุธยาอย่างชัดเจน ทั้งในด้านการใช้คำครุ (เสียงหนักหรือเสียงยาว) คำลหุ (เสียงเบาหรืือเสียงสั้น) และประเภทฉันท์ที่ใช้ในการประพันธ์มีมากกว่าฉันท์ที่ใช้ในสมัยอยุธยา

เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทางผู้เขียนจึงได้รวบรวมนำวรรณคดีคำฉันท์สมัยอยุธยามาเปรียบเทียบกับวรรณคดีคำฉันท์ในสมัยรัชกาลที่ 6 (รัตนโกสินทร์) ซึ่งวรรณคดีคำฉันท์สมัยอยุธยาได้แก่เรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์  เสือโคคำฉันท์  อนิรุทธคำฉันท์  คำฉันท์ดุษฎีสังเวย  คำฉันท์กล่อมช้าง  คำฉันท์คชกรรมประยูร  ราชาพิลาปคำฉันท์ กากีคำฉันท์  และพระรถคำฉันท์ ส่วนวรรณคดีคำฉันท์สมัยรัชกาลที่ 6 ได้แก่เรื่อง อิลราชคำฉันท์  สามัคคีเภทคำฉันท์ และพระนลคำฉันท์ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงความแตกต่างในแต่ละเรื่อง โดยเริ่มจากวรรณคดีคำฉันท์สมัยอยุธยาไปหาวรรณคดีคำฉันท์สมัยรัชกาลที่ 6

สาเหตุที่ผู้เขียนนำวรรณกรรมคำฉันท์สมัยปลายอยุธยา (สมัยพระนารายณ์ฯ) กับวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัชกาลที่ 6 นำมาใช้เปรียบเทียบชนิดฉันท์ที่แต่งและฉันทลักษณ์นั้น

ข้อ 1 หลักฐานทางประวัติศาสตร์วรรณกรรมคำฉันท์หรือวรรณกรรมที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (จากหลักฐานที่ค้นพบ) โดยมีรูปแบบที่เน้นไปทางความไพเราะการอ่านออกเสียง (ขับกล่อม) กระทั้ง...

ข้อ 2 วรรณกรรมคำฉันท์เริ่มมีแบบแผนการจัดระเบียบการแต่งหรือการวางคำครุ-ลหุ ที่เรียกว่าฉันทลักษณ์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการศึกษาวรรณกรรมและก่อตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้นมา

นั่นจึงทำให้ผู้เขียนนำวรรณกรรมทั้งสองยุคที่มีความแตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน

 (หมายเหตุ : บทความนี้ไม่มีการสปอยล์เนื้อหาของแต่ละเรื่อง เป็นเพียงการวิเคราะห์เปรียบเทียบลักษณ์คำประพันธ์เท่านั้น ยกเว้นบางเรื่อง และไม่มีการวิจารณ์เรื่องการใช้ภาษาในบทประพันธ์ว่าดีหรือโดดเด่นอย่างไร เป็นเพียงบทความวิเคราะห์ความแตกต่างของฉันท์)

วรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยาตอนปลาย

เริ่มจากวรรณคดีที่ถือว่าเป็นวรรณคดีคำฉันท์เรื่องแรกและได้รับการยกย่องให้เป็นยอดของวรรณคดีคำฉันท์ของไทย “สมุทรโฆษคำฉันท์” เป็นวรรณกรรมคำฉันท์เรื่องแรกที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา และมีความน่าสนใจตรงที่เป็นวรรณคดีที่มีผู้ประพันธ์ถึงสามคน แล้วคนที่สามไม่ได้อยู่ในสมัยอยุธยาแต่อยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ดีถึงความแตกต่างของฉันท์ในสมัยอยุธยากับสมัยรัตนโกสินทร์

สมุทรโฆษคำฉันท์แบ่งออกเป็น 3 ช่วงตามที่ผู้แต่งได้แต่งเอาไว้ โดยเริ่มจากพระมหาราชครูผู้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์เป็นคนแรก โดยเริ่มต้นด้วยกาพย์ฉบัง16 เป็นบทนมัสการหรือบทไหว้ครู (วรรณคดีคำฉันท์บางเรื่องเรียกบทดังกล่าวนี้ว่า ศุภมัสดุ) บทพระราชปรารภ บทสังเขปเรื่องสมุทรโฆษ แล้วจึงเข้าเรื่องด้วยอินทรวิเชียรฉันท์11 วสันตดิลกฉันท์14  กาพย์สุรางคนางค์28  สาลินีฉันท์11 สัททุลวิกกีฬิตฉันท์19 และสิ้นสุดด้วยกาพย์ฉบัง16 

ต่อมาผู้แต่งคนที่สองต่อจากพระมหาราชครูที่สิ้นพระชนม์ก่อนที่จะแต่งจบคือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยทรงพระนิพนธ์เริ่มด้วยอินทรวิเชียรฉันท์11 ตามด้วยกาพย์ฉบัง16  สัททุลวิกกีฬิตฉันต์19  วสันตดิลกฉันท์14  และสิ้นสุดด้วยสัททุลวิกกีฬิตฉันท์19 

แล้วมาถึงคนสุดท้ายที่แต่งต่อจากของเดิมที่ยังแต่งไม่จบเนื่องจากสวรรคตก่อน แล้วก็ไม่ได้รับการแต่งต่อในเสร็จจนสิ้นสุดสมัยอยุธยา สู่ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้ที่รับมาประพันธ์ต่อคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเริ่มนิพนธ์ต่อด้วยกาพย์ฉบัง16  และตามมาด้วย อินทรวิเชียรฉันท์11  โตฎกฉันท์12  วสันตดิลกฉันท์14  สัททุลวิกกีฬิตฉันท์19  สัทธราฉันท์21  มาลินีฉันท์15  กาพย์สุรางคนางค์28 แล้วจบเรื่องด้วยโคลงสี่สุภาพ

สมุทรโฆษคำฉันท์ ถ้านับรวมชนิดของฉันท์และกาพย์ที่ใช้แต่งโดยไม่แยกผู้แต่งจะมีทั้งหมด 10 ประเภทรวมโคลงสี่สุภาพด้วย แต่ละประเภทที่ว่านั้นได้แก่ กาพย์ฉบัง16  อินทรวิเชียร11  วสันตดิลกฉันท์14  กาพย์สุรางคนางค์28  สาลินีฉันท์11  สัททุลวิกกีฬิตฉันท์19  โตฎกฉันท์12  สัทธราฉันท์21  มาลินีฉันท์15  และโคลงสี่สุภาพ ซึ่งในเรื่องมักนิยมใช้กาพย์ฉบัง16 มากที่สุด รองลงมาคืออินทรวิเชียรฉันท์11 และกาพย์สุรางคนางค์28  วสันตดิลกฉันท์14  และน้อยที่สุดคือสัททุลวิกกีฬิตฉันท์19  กับสาลินีฉันท์11 ในการแต่งสมัยอยุธยา แต่เมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงได้เพิ่มฉันท์ประเภทอื่นเข้ามาคือโตฎกฉันท์12 สัทธราฉันท์21 มาลินี15 พร้อมกับจบลงด้วยโคลงสี่สุภาพตามแบบวรรณกรรมคำฉันท์ในสมัยอยุธยาที่นิยมจบเรื่องด้วยโคลงสี่สุภาพ แต่หากสังเกตุให้ดีแล้วบทที่ใช้อินทรวิเชียรฉันท์11 แต่งนั้นจะมีลักษณะเหมือนกาพย์ยานี11 บางบทใช้คำครุ-ลหุตามแบบฉันทลักษณ์ แต่บางบทไม่เคร่งคัดคำครุ-ลหุ ซึ่งมักพบเห็นอินทรวิเชียรฉันท์11 ลักษณะนี้ตามวรรณกรรมคำฉันท์อยุธยา เช่นเดียวกับเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ดังตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นนี้

                                                  ปราการกำแพงรัต-          นอันรอบบุรีศรี

                                         ทัดพายุพีถี                                คือกำแพงณจักรพาฬ

                                                โขลนทวารพิศาลสรรพ    ประดับโดรณทุกทวาร

                                          หอห้อวสรล่างกาญ-                จนกุรุงซรินไร

(สำนวนพระมหาราชครู)

จึงอาจเป็นไปได้ว่าการที่ผู้คนในสมัยอยุธยานิยมแต่งในลักษณะนี้ เพราะเน้นการประสานระหว่างเสียงกับความหมายเพื่อให้เกิดความไพเราะของบทประพันธ์มากกว่า จึงไม่เคร่งครัดใรเรื่องฉันทลักษณ์ (ที่เพิ่งถูกบัญญัติขึ้นในภายหลัง) ส่วนบทของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสประพันธ์ขึ้นมานั้นจะมีสัมผัสเชื่อมสดับคือสัมผัสระหว่างวรรคแรกกับวรรคที่สองของบาทแรก ในฉันท์มีวรรคคู่ อีกทั้งยังเคร่งครัดในเรื่องคำครุ-ลหุ ดังตัวอย่างที่ยกมา

ต่างตรัสปรับทุกข์กัน   ก็กระสันกันแสงพลาง

                                    ทรวงไหม้ฤทัยผาง              จะทำลักทำลายชนม์

                                          อ้าแม่จะเมื้อไคล           ทิศใดกดาลฉงน

                                    แถวเถื่อนสถลยล                อรัญรอบ บ รู้ทาง

(สำนวนสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)

 

เสือโคคำฉันท์ หรือที่รู้จักกันในชื่อนิทานว่า หลวิชัย-คาวี เป็นนิทานมุขปาฐะ (เล่ากันปากต่อปาก) ที่ได้รับความนิยมในสมัยอยุธยา ก่อนจะมีการนำเรื่องดังกล่าวมาแต่งในรูปแบบร้อยกรองที่ใช้ชื่อว่าฉันท์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่งด้วยฉันท์ 6 ชนิด กาพย์ 2 ชนิด และโคลงสี่สุภาพรวมทั้งหมด 9 ประเภท โดยเริ่มต้นด้วย วสันตดิลกฉันท์14  เป็นบทนมัสการหรือบทสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (บทไหว้ครู) แล้วจึงเปิดเรื่องด้วยกาพย์ฉบัง16  ดำเนินต่อไปทั้งเรื่องด้วยกาพย์สุรางคนางค์28   อินทรวิเชียรฉันท์11  โตฎกฉันท์12  สัททุลวิกกีฬิตฉันท์19  สัทธราฉันท์21  กมลฉันท์12  จบลงด้วยโคลงสี่สุภาพ ซึ่งลักษณะของฉันท์ที่แต่งเรื่อวนั้นเป็นแบบเดียวกันกับเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์คือความไม่เคร่งครัดในเรื่องสัมผัสบังคับ แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจตรงที่ มีความแปลกที่แสดงออกเพื่อต้องการจะสื่อว่าจบเรื่องโดยเน้นตรงคำหน้าของทุกวรรค ดังตัวอย่างเช่น

จบ จนจอมนาถไท้   คาวี

                                                    พิตรเสวยยุรี                ร่วมน้อง

                                                    ริ พลหมู่มนตรี               ชนชื่น จิตนา

                                                    บูรณ์ บำเรอรักซ้อง        แซ่ไหว้ถวายพรฯ

อาจเป็นไปได้ว่าโคลงสี่สุภาพที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นต้นแบบของการจบเรื่องของสมุทรโฆษคำฉันท์ที่สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสใช้เป็นแบบอย่างในพระนิพนธ์

จบ เสร็จมหาสัตว์สร้าง   สมภาร

                                              อดีต ภพพุทธบรรหาร            เหตุกี้

                                              ดำ เนิรนิทานกาล                   ก่อนโพธิ์ โพ้นแฮ

                                              นาน นับฦกลับลี้                    ล้วนแล้วหลายกัลป์ฯ

 

อนิรุทธคำฉันท์ วรรณกรรมคำฉันท์เรื่องสำคัญและเป็นที่เลื่องลือในสมัยอยุธยา โดยผู้แต่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น นั้นคือ ศรีปราชญ์ กวีคนสำคัญในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

อนิรุทธคำฉันท์ เป็นเรื่องที่นำมาแต่งเป็นบทละครโดยอาศัยเนื้อเรื่องอนิรุทธคำฉันท์เป็นต้นแบบในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่1-รัชกาลที่3) โดยใช้ชื่อเรื่องว่า บทละครเรื่อง “อุณรุท” ซึ่งเพี้ยนมาจากอนิรุทธ หรือพูดให้ง่ายขึ้น อนิรุทธคำฉันท์ก็คือเรื่องอุณรุทในปัจจับัน เพียงตาเป็นการแต่งเป็นคำฉันท์แล้วแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย

อนิรุทธคำฉันท์ แต่งด้วยฉันท์ 6 ชนิด กาพย์ 2 ชนิด และโคลงสี่สุภาพ (ไม่แน่ใจว่าศรีปราชญ์แต่งหรือไม่ แต่ในโคลงสี่สุภาพท้ายเรื่องปรากฏชื่อในสมุดไทยคำชุบรงค์ 19/ง) เริ่มต้นด้วยกาพย์ฉบัง16 เป็นตัวเปิดเรื่อง ซึ่งถ้าหากดูแบบผิวเผินจะเหมือนกับบทสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าอ่านดูให้ดีแล้วเป็นการเปิดเรื่องโดยกล่าวถึงพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นพระกฤษณ์ครองกรุงทวารพดี (ในบทละครใช้ชื่อว่า กรุงณรงกา) แล้วดำเนินเรื่องด้วย กาพย์สุรางคนางค์28  อินทรวิเชียรฉันท์11  มาลินีฉันท์15  วสันตดิลกฉันท์14  สัททุลวิกกีฬิตฉันท์19  สาลินีฉันท์11  อุปชาติฉันท์11  แล้วจบลงด้วยโคลงสี่สุภาพ

สังเกตได้ว่าในเรื่องจะใช้ฉันท์ กาพย์ และโคลงสี่สุภาพ เท่ากันกับเรื่องเสือโคคำฉันท์ 9 ชนิด แต่มีความแตกต่างตรงที่ในเรื่องอนิรุทธคำฉันท์จะไม่ได้ใช้โตกฎฉันท์12  สัทธราฉันท์21 และกมลฉันท์12  เหมือนกับเสือโคคำฉันท์ แต่จะเน้นใช้ฉันท์ 11 ซึ่งได้แก่ อินทรวิเชียรฉันท์11  สาลินีฉันท์11  และอุปชาติฉันท์11 ในการจำแนกว่าฉันท์ดังกล่าวเป็นฉันท์ที่ชื่อว่าอะไรจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะฉันท์ในสมัยอยุธยานั้นเป็นฉันท์ที่ไม่บังคับสัมผัสหรือคำครุ-ลหุ จนอาจเป็นไปได้ว่าเป็นกาพย์ยานี 11 เนื่องจากความคล้ายในเรื่องฉันทลักษณ์ จึงต้องอาศัยในการสังเกตคำครุ-ลหุ (ตำแหน่งการวางคำ) เป็นตัวกำหนด แล้วนำมาเทียบความเหมือนและความแตกต่างกับฉันท์บทนั้นๆ ดังตัวอย่างที่ยกมา

คค้าก็คำราม     ปะทะด้วยสมเด็จเสด็จ

                                         คุกคามบขามเข็ด      สำแดงเดชชิงไชยฯ

จากฉันท์ที่ยกตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าวรรคแรกของบทขึ้นต้นด้วยคำลหุตามด้วยคำครุต่อด้วยคำลหุ และปิดสองคำด้วยคำครุ [ ค(ลหุ) ค้า(ครุ) ก็(ลหุ) คำ(ครุ) ราม(ครุ) ] 

มาวรรคที่สองคำขึ้นต้อนสองคำเป็นคำลหุ สามคำต่อมาเป็นคำครุ ส่วนคำสุดท้ายของวรรคเป็นลหุกับครุคือคำว่าเสด็จ เนื่องด้วยเป็นคำเดียวกันแต่อ่านสองพยางค์จึงแยกคำครุ-ลหุตามเสียงพยางค์ของคำ (สะ(ลหุ) เด็จ(ครุ) = เสด็จ) [ ปะ(ลหุ) ทะ(ลหุ) ด้วย(ครุ) สม(ครุ) เด็จ(ครุ) เสด็จ(ลหุ-ครุ) ]

วรรคที่สาม สองคำแรกเป็นคำครุตามด้วยลหุและสองคำหลังเป็นคำครุ [ คุก(ครุ) คาม(ครุ) บ่(ลหุ) ขาม(ครุ) เข็ด(ครุ) ]

วรรคที่สี่หรือวรรคสุดท้าย สองคำแรกเป็นคำครุ คำต่อมาคำว่าเดช แต่เนื่องจากหากอ่านเช่นนั้นจะทำให้วรรคสุดท้ายมีแค่ 5 คำ จากเดิมต้องอ่านเป็นหกคำ ดังนั้นคำว่าเดชจึงต้องอ่านแยกพยางค์เป็นคำว่า เด-ชะ เพื่อให้ครบคำตามแบบแผนของฉันท์ชนิดนั้นๆ (ตามแบบฉันท์11 วรรคหน้า 5 วรรคหลัง 6) เดคือคำครุ ชะคือคำลหุ ส่วนสองคำสุดท้ายของวรรคเป็นคำครุ [ สำ(ครุ) แดง(ครุ) เด(ครุ) ช(ลหุ) ชิง(ครุ) ไชย(ครุ) ]

จะเห็นได้ว่าวรรคแรกมีลักษณะตรงกับฉันทลักษณ์ของอุเปนทรวิเชียรฉันท์กับอุปชาติฉันท์ ( ลหุ ครุ หลุ ครุ ครุ ) ส่วนวรรคที่สอง มีลักษณะใดกล้เคียงกับอุปชาติฉันท์และอุเปนทรวิเชียนฉันท์แต่ติดสามคำหลังเป็นคำครุ ซึ่งลักษณะของฉันท์ทั้งสองที่กล่าวมานั้นวรรคที่สอง ( ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ ) วรรคที่สามมีลักษณะเป็นแบบอินทรวิเชียรฉันท์ ( ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ ) และวรรคสุดท้าย เป็นที่แตกต่างจากฉันท์ 11 เนื่องจากฉันท์ 11 ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนวรรคสุดท้ายจะขึ้นต้นด้วยคำลหุ แต่บทดังกล่าวขึ้นต้นด้วยคำครุในวรรคสุดท้ายคำลหุอยู่คำที่สี่ของวรรค จึงไม่อาจอนุมานได้ว่าเป็นฉันท์ชนิดใด แต่ถ้านำฉันท์ที่ยกตัวอย่างมาทำเป็นรูปแบบฉันทลักษณ์ครุ-ลหุ ก็จะได้

ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ       ลหุ ลหุ ครุ ครุ ครุ ครุ

                                                ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ              ครุ ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ

ตามที่ได้แยกหรือแปรรูปเป็นฉันทลักษณ์ จะเห็นได้ว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับอุปชาติฉันท์ตรงวรรคแรกกับวรรคที่สาม ดังนั้นฉันท์ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นฉันท์ประเภทอุปชาติฉันท์

ซึ่งการสันนิษฐานดังกล่าวจำต้องเข้าใจในเรื่องของฉันทลักษณ์ของฉันท์ และความละเอียดในการอ่านคำในแต่ละบทประพันธ์ และในการนี้ต้องเข้าในว่าสมัยอยุธยานั้น ฉันท์ลักษณ์คือการจัดระเบียบเสียงและคำเพื่อให้เกิดความไพเราะในการอ่านออกเสียงของบทประพันธ์ มากกว่าให้ตรงตามฉันทลักษณ์ตามตำราการประพันธ์

 

คำฉันท์ดุษฎีสังเวย เป็นวรรณกรรมในรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประกอบทางศาสนา จึงออกมาในรูปแบบคำฉันท์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม คำฉันท์สดุฎีสังเวยแต่งขึ้นโดยขุนเทพกระวีเมืองสุโขทัย โดยแบ่งเป็น 3 บท บทแรกใช้ชื่อว่า “ดุษฎีสังเวย” บทที่สองใช้ชื่อว่า “สดุดีของช้าง” และบทที่สามใช้ชื่อว่า “สดุดีสิทธิดาบส”

เริ่มจากบทแรกดุษฎีสังเวย เริ่มต้นบทด้วยกาพย์ฉบัง16 สลับกับอินทรวิเชียรฉันท์11 แล้วจบดุษฎีอวยสังเวยด้วยอินทรวิเชียรฉันท์11 บทที่สองสดุดีขอช้างเป็นบทที่แต่งด้วยวสันตดิลกฉันท์14 ล้วนๆ ตั้งแต่เริ่มบทยันจบบทสดุดีขอช้าง และบทสุดท้ายสดุดีสิทธิดาบส ก็เป็นอีกบทที่แต่งดัวยวสันตดิลกฉันท์14 เช่นเดียวกับบทสดุดีขอช้าง สรุปโดยรวมแล้วคำฉันท์ดุษฎีสังเวยแต่งด้วยฉันท์ 2 ชนิด คืออินทรวิเชียรฉันท์11 กับวสันตดิลกฉันท์14 กาพย์อีกหนึ่งชนิดคือกาพย์ฉบัง16

คำฉันท์กล่อมช้าง เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าฉันท์เป็นสิ่งที่นิยมในการพิธีสำคัญในสมัยอยุธยาหรืออาจเป็นความเชื่อที่ว่าฉันท์เป็นของทางศาสนาในแง่ของของงานประพันธ์ที่เทพเจ้าทางศาสนาสร้างขึ้น ดูได้จากชื่อของฉันท์แต่ละชนิด อย่างเช่น อินทรวิเชียรฉันท์ก็มีความหมายสื่อถึงพระอินทร์ อันว่าเป็นฉันท์ที่มีลีลารุ่งเรืองงดงามประดุจสายฟ้าอาวุธของพระอินทร์ เป็นต้น

คำฉันท์กล่อมช้างก็เป็นฉันท์ที่ใช้ในการกล่อมช้างเผือกหรือช้างที่ไว้ใช้ในการทหารของทางราชสำนักในสมัยอยุธยา ช้างนั้นจะเป็นช้างป่าที่ถูกคล้องหรือจับมาแล้วนำมาฝึกเพื่อใช้งาน คำฉันท์กล่อมช้างคือคำที่ใช้ขอขมาลาโทษเจ้าป่าเจ้าเขาและเรียกขวัญช้าง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการบายศรีสู่ขวัญของคน เพียงว่าคำที่ใช้พูดหรืออ่านนั้นเป็นคำประพันธ์ประเภทฉันท์ที่มีทั้งความเชื่อและความไพเราะของคำ คำฉันท์กล่อมช้างนั้นใช้ฉันท์และกาพย์แบบเดียวกับคำฉันท์ดุษฎีสังเวย โดยเริ่มบทสดุดีลาไพรด้วยกาพย์ฉบัง16 ตามด้วยวสันตดิลกฉันท์14  อินทรวิเชียรฉันท์11 แล้วจบลงด้วยกาพย์ฉบัง16

คำฉันท์คชกรรมประยูร คำฉันท์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อด้านช้าง และการบรรยายถึงช้างในลักษณะต่างๆ 70 เชือก (ในแง่ของความศักดิ์สิทธิ์เทพเจ้า) แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอยุธยา (ตอนปลาย) โดยหลวงราชวังหลัง เริ่มต้นบทด้วยอินทรวิเชียรฉันท์11 ตามด้วยกาพย์ฉบัง16 ยาวไปจนจบบท

จะเห็นได้ว่าคำฉันท์ทั้งสองที่ปรากฏนั้นส่วนใหญ่มักใช้ในการประกอบพิธี และลักษณะชนิดของฉันท์นั้นเป็นประเภทแบบเดียวกับที่นิยมใช้คือ อินทรวิเชียรฉันท์11 กับกาพย์ฉบัง11 (วสันตดิลกฉันท์14 ไม่ปรากฏในคำฉันท์คชกรรมประยูร) จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าสาเหตุที่คนในสมัยอยุธยานิยมใช้ฉันท์เหล่านี้เพราะอินทรวิเชียร์ฉันท์11  วสันตดิลกฉันท์14  และกาพย์ฉบัง16  เป็นฉันท์ที่แต่งง่ายกว่าฉันท์ประเภทอื่นและมีความไพเราะ เป็นที่ถูกใจของผู้คนในสมัยอยุธยา อีกทั้งยังเสริมด้วยกาพย์ฉบัง16  เพิ่มความไพเราะและดำเนินของบทประพันธ์ที่สะดวกและกระชับในการอ่าน

 

ราชาพิลาปคำฉันท์ วรรณกรรมคำฉันท์ที่มีความแปลกและแตกต่างจากวรรณคดีคฉันท์เรื่องอื่นๆ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตรงที่การนำฉันท์มาผสมกันเป็นฉันท์แบบใหม่และมีจำนวนคำที่มากกว่าฉันท์ปรกติทั่วไปมาแต่งเป็นเรื่องราวออกมา ราชาพิลาปคำฉันท์เป็นเรื่องราวในฉากหนึ่งของรามเกียรติ์ ที่หลังจากนางสีดาถูกทศกัณฑ์ลักพาตัวไป พระรามกับพระลักษณ์จึงออกเดินทางตามหาและบรรยายถึงสิ่งต่างๆ ที่พบเจอในการเดิน (พร้อมกับรำพึงรำพันไปด้วยความเศร้าที่มีต่อนางสีดา) เช่นธรรมชาติ สัตว์ป่าหิมพานต์ ตลอดจนยักษ์

ราชาพิลาปคำฉันท์เริ่มเรื่องโดยฉันทฉบำ ราชาพิลาปดำเนินกลอน4 16อักษร (สันนิษฐานว่าเป็นกาพย์ฉบัง16) ไม่มีบทนมัสการหรือบทไหว้ครูตามขนบของการแต่งวรรณกรรมคำฉันท์ ตามด้วยสุราคณาปทุมฉันท์กลอน4 28อักษร (กาพย์สุรางคนางค์28) แล้วดำเนินเรื่องด้วย วิเชียรดิลกฉันท์25  ชินวรฉันท์15  ฉันท์ฉบำ18  มงคลรัตนฉันท์22  ฉบำนาคบริพันธ์16  ประทุมรัตนฉันท์35  เยสันตาฉันท์21  มังกรฉันท์14  วสันตดิลกฉันท์14  มณีรัตนฉันท์22  โตฎกฉันท์12  ฉบังโคลสิงฆฉันท์16  แล้วจบเรื่องด้วย สุราคณาปทุมฉันท์28  (กาพย์สุรางคนางค์)

จากที่เห็นสามารถแยกออกได้ 2 ประเภทสำหรับคำประพันธ์ที่ใช้แต่งราชาพิลาปคำฉันท์ ประเภทแรกคือฉันท์เดี่ยวหรือฉันท์ดั่งเดิมได้แก่ วสันตดิลกฉันท์14  โตฎกฉันท์12  ฉันทฉบำ16 (กาพย์ฉบัง16) และสุราคณาปทุมฉันท์ หรือกาพย์สุรางคนางค์28

ประเภทที่สองฉันท์ผสมฉันท์ ได้แก่ วิเชียรดิลกฉันท์25 ชินวรฉันท์15  ฉันท์ฉบำ18  มงคลรัตนฉันท์22  ฉบำนาคบริพันธ์16  ประทุมรัตนฉันท์35  เยสันตาฉันท์21  มังกรฉันท์14  มณีรัตน์ฉันท์22  และฉบังโคลสิงฆฉันท์16  ซึ่งฉันท์ที่มีลักษณะเป็นฉันท์ผสมนั้นอาจอนุมานได้ว่าฉันท์แต่ละชนิดที่เป็นฉันท์ผสมมาจากการผสมฉันท์ชนิดใดบ้าง อย่างเช่น วิเชียรดิลกฉันท์25 สันนิษฐานว่ามาจากการผสมอินทรวิเชียรฉันท์11 กับวสันตดิลกฉันท์14  หรืออย่างมณีรันต์ฉันท์ อาจมาจากการผสมระหว่างมาลินีฉันท์15 กับกุมาระลฬิตาฉันท์7 การคาดเดาดังกล่าวเป็นการคาดเดาโดยดูจากชื่อที่เค้าโครงกับฉันท์หรือดูจากจำนวนตัวอักษรของฉันท์ที่นำมารวมกัน แต่ก็เป็นการคาดเดาที่อาจสามารถผิดพลาดได้ เนื่องจากในการจะหาคำตอบเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องนำฉันทลักษณ์ของฉันท์มาเทียบเพื่อหาความใกล้เคียง ซึ่งฉันท์นั้นมีทั้งหมด 50 ชนิด ประกอบกับความรู้ในเรื่องฉันท์จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่มุมหนึ่ง ราชาพิลาปคำฉันท์ เป็นวรรณกรรมคำฉันท์ที่แสดงให้เห็นถึงความอัจฉริยะของผู้แต่งที่สามารถนำฉันท์ที่มีอยู่ดั่งเดิมนั้นมาผสมกันเพื่อให้เกิดฉันท์ในรูปแบบใหม่ และมีความแปลกใหม่ที่มีความน่าสนใจเป็นจุดขาย ดังกลบทศิริวิบูลกิตต์ที่สร้างความแปลกใหม่โดยการนำรูปแบบคำประพันธ์และการเล่นคำมาปรับใช้ ราชาพิลาปคำฉันท์คือภูมิปัญญาในเรื่องภาษาที่นำมาคิดเป็นโครงสร้างซับซ้อนในการแต่งคำประพันธ์ของคนในสมัยอยุธยา

 

กากีคำฉันท์ ก็เป็นอีกเรื่องที่มีผู้นิยมและรู้จักมาจากชาดกที่ชื่อว่า กากาติชาดก เป็นต้นแบบในการแต่งเรื่องกากีในรูปแบบต่างๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่ากากีคำกลอนของกรมพระยาพระคลัง (หน) กากีคำฉันท์มีที่มาหรือแต่งขึ้นประมาณอยุธยาตอนปลาย แต่งด้วยฉันท์ 6 ชนิด ได้แก่ อินทรวิเชียรฉันท์11  สัทธราฉันท์21  มาลินีฉันท์15  สาลินีฉันท์11  วสันตดิลกฉันท์14  และอินทวงค์ฉันท์12  กาพย์ฉบัง16  และกาพย์สุรางคนางค์28

ในการจบเรื่องของวรรณกรรมคำฉันท์นั้นอาจสามารถแบ่งได้หลักๆ เป็น 2 แบบ โดยแบบแรกจะเป็นจบเรื่องแบบร้อยกรองอำลาท้ายเรื่องหรือบทส่งท้าย ซึ่งผู้ประพันธ์นั้นจะบอกเป็นความนัยของเรื่อง หรือแสดงว่าตนเองเป็นผู้แต่ง หรือเป็นการอวยพรและอำลา ซึ่งการจบเรื่องดังกล่าวมีให้เห็นในวรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยาเช่นเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์  เสือโคคำฉันท์  อนิรุทธคำฉันท์  เป็นต้น

ส่วนการจบเรื่องแบบที่สองจะเป็นการจบแบบตัวเรื่องไม่มีบทอำลาหรือบทส่งท้าย ซึ่งการที่เป็นแบบนี้อาจแบ่งออกได้เป็นสองกรณี กรณีแรกคือความต้องการของตัวผู้แต่งเองที่ต้องการจะจบเรื่องแบบนี้ อย่างเช่นแต่งเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หรือแต่งเพื่อทูนเกล้าแก่กษัตริย์โดยไม่ประสงค์ที่จะออกนามอย่างเช่น คำฉันท์ดุษฎีสังเวย  คำฉันท์กล่อมช้าง  และคำฉันท์คชกรรมประยูร ที่เป็นวรรณกรรมประเภทบทพีธีกรรม มีสถานะเทียบเท่ากับบทสวดทางศาสนาจบในตัวบทเอง เป็นต้น  กับกรณีที่สองเป็นความผิดพลาดจากเอกสารที่ใช้บันทึกเรื่อง เช่นการชำรุดทรุดโทรมของใบลานที่จารึกเนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นแปรที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและมีผลต่อสิ่งที่จารึก การเก็บรักษา ฯลฯ การจบเรื่องแบบกรณีที่สองก็ได้แก่เรื่องราชาพิลาปคำฉันท์ กากีคำฉันท์ เป็นต้น

กากีคำฉันท์มีหลักฐานที่แสดงว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายอยู่หลักๆ 2 ข้อ ข้อแรก ในเรื่องกากีคำฉันท์มีการแต่งฉันท์11 ในบางบท ซึ่งฉันท์11(หรือฉันท์ที่มีข้อบังคับคำครุ-ลหุรวมทั้งหมด 11 คำต่อบาทหนึ่งของบท) ที่ว่านั้นบางเอกสารก็ระบุชนิดคำประพันธ์ว่า “11  แค่นั้น จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นฉันท์หรือกาพย์  ตัวอย่างเช่น

สมเด็จกรุงพรหมทัต   อันเป็นขัตติย์วงศา

                                        มีพระฤทัยปรา                  รถเป็นจะสำราญ

 ใคร่ทรงสกากล           โดยกระมลเบิกบาน

                                       เสด็จออก ณ โรงทาน         พิมานมุขกระสันครี

ซึ่งลักษณะของคำประพันธ์ดังกล่าวไม่ตรงตามฉันทลักษณ์การวางคำครุ-ลหุแบบฉันท์ ออกจะดูไปในทางของกาพย์ยานี11 เสียมากกว่า แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว แต่ด้วยชื่อเรื่องที่กล่าวว่าเป็นคำฉันท์ต่อท้ายและจากที่สำรวจเรื่องที่ผ่านๆ มาในยุคสมัยเดียวกันก็ไม่พบว่ามีการใช้หรือว่าเป็นกาพย์ยานี11 อีกทั้งลักษณะของคำประพันธ์บทนี้ดูคล้ายกับอินทรวิเชียรฉันท์ 11 ที่นิยมนำมาใช้แต่งเรื่องในสมัยอยุธยาซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องคำครุ-ลหุ จึงสามารถสันนิฐานได้ว่าเป็นวรรณกรรมคำฉันท์ในสมัยอยุธยา

ข้อสอง ในเรื่องกากีคำฉันท์มีคำศัพท์หลายคำที่ใช้ร่วมสมัยเดียวกันกับวรรณกรรมสมัยอยุธยาเรื่องอื่นๆ เช่นคำว่า เสี่ยมสาร  บเริ่ม(บ่เริ่ม)  บราง(บร่าง)  ทรสมุทรสาย  ห้องหาส  จินต์จล  อ้าดูร(อ้าดูรา)  ฯลฯ ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้มักไม่ใช้หรือนิยมใช้ในวรรณกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ นั้นจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถระบุและยืนยันได้ว่าเป็นวรรณกรรมสมัยใด (สังเกตบริบทคำ)

 

พระรถคำฉันท์ หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ พระรถ-เมรี ซึ่งเป็นไตรภาคของนิทานพื้นบ้านภาคสอง (ภาคแรกเรื่อง นางสิบสอง ภาคสองเรื่องพระรถ-เมรี และภาคสามเรื่องพระสุธน-มโนห์รา) ที่รู้จักกันอย่างแผ่หลายในสมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น แล้วมีการนำเรื่อง (พระรถเสน) มาแต่งหลายรูปแบบ เช่น กาพย์ขับไม้ คำฉันท์ และบทละคร เป็นต้น สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่งด้วยฉันท์ 6 ชนิด กาพย์ 2 ชนิด โดยเริ่มจากบทนมัสการและเกรินนำด้วยอินทรวิเชียรฉันท์ 11  แล้วดำเนินเรื่องด้วยวสันตดิลกฉันท์14  กาพย์ฉบัง16  สัททุลวิกกีฬิตฉันท์19  กาพย์สุรางคนางค์28  สัทธราฉันท์21  โตฎกฉันท์12  มาลินีฉันท์15  และจบลงด้วยโคลงสี่สุภาพซึ่งเป็นการจบเรื่องแบบเดียวกันกับเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์  อนิรุทธคำฉันท์  และเสือโคคำฉันท์ 

แต่เนื่องด้วยในหนังสือพระรถคำฉันท์ที่นำมาใช้ศึกษาเป็นข้อมูลนั้น หลังจากจบเรื่องพระรถคำฉันท์ก็ต่อด้วยเรื่องพระรถคำหวน ซึ่งแต่งด้วยฉันท์เช่นกัน โดยขึ้นต้นบทนมัสการกับดำเนินเรื่องโดยอินทรวิเชียรฉันท์11  ตามด้วยกาพย์ฉบัง16  กาพย์สุรางคนางค์28  และสิ้นสุดลงด้วยอินทรวิเชียรฉันท์11  ซึ่งดูเหมือนจะยังจบลงไม่สมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าพระรถคำหวนเป็นวรรณกรรมคำฉันท์เช่นเดียวกับพระรถคำฉันท์ หรือวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน

 

วรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 6)

มาถึงวรรณกรรมคำฉันท์ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่นำมาเปรียบเทียบความแตกต่างกับวรรณกรรมคำฉันท์ในสมัยอยุธยา โดยผู้เขียนได้นำวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัชกาลที่ 6 ที่ได้ชื่อว่าเป็นยุคที่เคร่งครัดในเรื่องของฉันทลักษณ์ การบังคับตำแหน่งวางคำครุ-ลหุ โดยนำมาใช้ในการเทียบเคียงถึงความแตกต่าง ได้แก่เรื่อง อิลราชคำฉันท์  สามัคคีเภทคำฉันท์  และพระนลคำฉันท์

เริ่มจากเรื่องอิลราชคำฉันท์ ซึ่งผู้แต่งคือพระยาศรีสุนทรโวหาร(ผัน สาลักษณ์) โดยใช้ฉันท์ทั้งหมด 15 ชนิด และกาพย์ 2 ชนิดในการประพันธ์

อิลราชคำฉันท์มีที่มาจากหนังสือเรื่องบ่อเกิดรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 (ดูเพิ่มเติมได้จากบทความอิลราชคำฉันท์ : ในการวิจารณ์ด้านทฤษฎีรสของวรรณกรรมสันสกฤต) โดยในบทประพันธ์จะเริ่มจาก “ศุภมัสดุ” ซึ่งเป็นชื่อของบทไหว้ครู แต่งด้วยสัททุลวิกกีฬิตฉันท์19 แล้วต่อด้วยกาพย์ฉบัง16 เป็นบทเล่าถึงพระรามต้องการทำพิธีราชสูยะเพื่อประกาศความเป็นราชาธิราชของพระองค์จึงปรึกษาพระอนุชาทั้งสอง (พระพรตกับพระลักษณ์) และเป็นบทที่นำเข้าสู่เนื้อเรื่อง ตามด้วยวสัตดิลกฉันท์16 เป็นบทเริ่มเนื้อเรื่อง จากนั้นก็เป็นอินทรวิเชียรฉันท์11 โตฎกฉันท์12  อิทิสังฉันท์20  กมลฉันท์12  ภุชงคประยาตฉันท์12  มาลินีฉันท์15  อินทวงศ์ฉันท์12  สัทธราฉันท์21  อุปชาติฉันท์11  อุเปนทรวิเชียรฉันท์11  อุปัฏฐิตาฉันท์11  กาพย์สุรางคนางค์28  มาณวกฉันท์8  แล้วจบเรื่องด้วยกาพย์ฉบัง16

ในบทประพันธ์เรื่องอิลราชคำฉันท์ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของฉันท์ในสมัยอยุธยาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการวางตำแหน่งคำครุ-ลหุ ที่ตรงตามฉันท์ลักษณ์ ดูได้จากตัวอย่าง

ภาคพื้นพนารัญ   จรแสนสราญรมย์

                                            เนินราบสลับสม         พิศเพลินเจริญใจ

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เป็นฉันท์ชนิดอินทรวิเชียรฉันท์11  เห็นได้ว่าในบทประพันธ์มีการวางคำครุ-ลหุที่ชัดเจนตามฉันทลักษณ์ที่กำหนด 

ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ        ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ

                                            ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ                 ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ

[รูปแบบการวางคำครุ-ลหุของบท (อินทรวเชียรฉันท์11)]

ซึ่งแตกต่างจากสมัยอยุธยาที่แต่งโดยไม่เน้นการบังคับคำครุ-ลหุ จึงง่ายต่อการแยกประเภทระหว่างฉันท์11 กับกาพย์(ยานี)11 ในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกประการหนึ่งความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือชนิดของฉันท์ที่นำมาใช้ในการประพันธ์ โดยในเรื่องอิลราชคำฉันท์ใช้ฉันท์ทั้งหมด 15 ชนิด แตกต่างกับวรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยาที่มักนิยมใช้อินทรวิเชียรฉันท์11  วสันตดิลกฉันท์14  และสัททุลวิกกีฬิตฉันท์19 มากกว่า (มีประเภทฉันท์ที่ไม่ได้หลากหลาย)

 

สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นวรรณกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 ประพันธ์โดยนายชิต บูรทัต ซึ่งได้แรงบันดาลใจการแต่งวรรณกรรมคำฉันท์มาจากเรื่องอิลราชคำฉันท์ (ยกเว้นพล็อตเรื่องที่นำมาจากชาดกทางพุทธศาสนา) ใช้ฉันท์ 18 ชนิด และกาพย์อีก 2 ชนิด เริ่มเรื่องด้วยบทศุภมัสดุหรือบทไหว้ครูด้วยสัททุลวิกกีฬิตฉันท์19  แล้วจึงดำเนินเรื่องด้วยวสันตดิลกฉันท์14  กาพย์ฉบัง16  อุปชาติฉันท์11  อีทิสังฉันท์20  อินทรวิเชียรฉันท์11  วิชชุมมาลาฉันท์8  อินทวงศ์ฉันท์12  วังสัฏฐฉันทื12  มาลินีฉันท์15  ภุชงคประยาตฉันท์12  มาณวกฉันท์8  อุเปนทรวิเชียรฉันท์11  สัทธราฉันท์21  สาลินีฉันท์11 อุปัฏฐิตาฉันท์11  กาพย์สุรางคนางค์28  โตฎกฉันท์12  กลมฉันท์12  จิตรปทาฉันท์8  และจบเรื่องด้วยกาพย์ฉบัง16

ฉันท์ที่ใช้ในการแต่งเร่องสามัคคีเภทคำฉันท์สังเกตได้ว่า มีการใช้ฉันท์ชนิดต่างๆ ที่มากกวาเรื่องอิลราชคำฉันท์ แต่ใช้เรื่องอิลราชคำฉันท์เป็นต้นแบบในการวางฉันท์ในเรื่อง ที่ไม่ได้แตกต่างกัน อิลราชคำฉันท์เปิดเรื่องด้วยบทศุภมัสดุด้วยสัททุลวิกกีฬิตฉันท์19  แล้วจบเรื่องด้วยกาพย์ฉบัง สามัคคีเภทคำฉันท์เองก็เช่นกัน

(ขออธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อย ในวรรณกรรมคำฉันท์นั้น ฉันท์และกาพย์แต่ละประเภทมีความสัมพันธ์ต่อการสื่อถึงอารมณ์การดำเนินเรื่องอย่างเช่น บทที่ใช้อินทรวิเชียรฉันท์11 มักใช้ในการบรรยายฉาก บรรยากาศของเรื่อง หรือโตฎกฉันท์มักใช้ในการบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร หรือกาพย์ฉบัง16 มักใช้ในการเร่งหรือดำเนินของยาวของท้องเรื่อง เป็นต้น)

 

มาถึงวรรณกรรมเรื่องสุดท้ายที่นำมาเปรียบเทียบ พระนลคำฉันท์ พระราชนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  (แต่งก่อนนิทานเวตาล 2 ปี) ในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่งด้วยฉันท์ 12ชนิด กาพย์ 2 ชนิด ในเรื่องแบ่งออกเป็น 25 ตอน เริ่มด้วยบทสดุดีหรือบทไหว้ครู ด้วยวสันตดิลกฉันท์14 โดยฉันท์ชนิดนี้ก็ใช้แต่งในตอนที่ 1 ตอนที่ 5  ตอนที่ 9  ตอนที่ 12  และตอนที่ 20 แต่งด้วยอินทรวงศ์ฉันท์12 ในตอนที่ 2 ตอนที่ 7 และตอนที่ 19 แต่งด้วยอินทรวิเชียรฉันท์11 ในตอนที่ 3 ตอนที่ 11 ตอนที่ 16 และตอนที่ 26  แต่งด้วยพุชณงคปยาทฉันท์12 ในตอนที่ 4 ตอนที่ 13 และตอนที่ 24  แต่งด้วยสัททุลวิกกีฬิตฉันท์19 ในตอนที่ 6  แต่งด้วยอุปชาติฉันท์11 ในตอนที่ 8  แต่งด้วยมาณวกฉันท์8 ในตอนที่ 10 และตอนที่ 22  แต่งด้วยอีทิสังฉันท์20 ในตอนที่ 15  แต่งด้วยกาพย์สุรางคนางค์28 ในตอนที่ 17 และตอนที่ 22  แต่งด้วยสัทธราฉันท์21 ในตอนที่ 18 และตอนที่ 22  แต่งด้วยโตฎกฉันท์12 ในตอนที่ 21  แต่งด้วยตนุมัชฌาฉันท์6 ในตอนที่ 22 และตอนที่ 23  แต่งด้วยกมลฉันท์12 ในตอนที่ 23 และแต่งด้วยกาพย์ฉบัง16 ในตอนที่ 14 ตอนที่ 17 ตอนที่ 22 ตอนที่ 23 และตอนที่ 25 อีกทั้งกาพย์ฉบังยังใช้เป็นบทจบเรื่องโดยในบทประพันธ์ใช้ชื่อว่า จบนิทานเรื่องพระนล  (ในเรื่องใช้คำว่า “สรรคที่...” เป็นคำบอกตอนแต่เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ผู้เขียนจึงใช้เป็นคำว่า “ตอนที่...” แทน)

จะเห็นได้ว่าในบางตอนของพระนลคำฉันท์มีการใช้ฉันท์ที่มากกว่า 2 ชนิด เช่นตอนที่ 17 ที่ใช้กาพย์ฉบังและกาพย์สุรางคนางค์ ตอนที่ 22 ใช้ทั้งกาพย์ฉบัง มาณวกฉันท์ ตนุมัชฌาฉันท์ กาพย์สุรางคนางค์ และสัทธราฉันท์ ตอนที่ 23 ใช้กมลฉันท์ ตนุมัชฌาฉันท์ กาพย์สุรางคนางค์  เป็นต้น สาเหตุเพราะต้องการจะสื่อถึงอารมณ์ที่หลากหลายในตอนนั้นๆ จึงได้ใช้ฉันท์ชนิดอื่นๆ เข้ามาเพื่อให้เกิดอารมณ์ร่วมในการอ่าน

 

สรุป

จากการที่ได้ศึกษาและทำการเปรียบเทียบถึงความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยากับวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 6 จึงได้ข้อสรุปมาว่า

1.       วรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยาไม่มีการบังคับในเรื่องการวางคำครุ-ลหุที่ตายตัว แต่เน้นในเรื่องความไพเราะของคำที่นำมาใช้ในการแต่ง ส่วนวรรณกรรมคำฉันท์ในสมัยรัชกาลที่ 6 จะนิยมแต่งให้ตรงกับฉันทลักษณ์ของฉันท์แต่ละชนิด ซึ่งมีลักษณะตำแหน่งการวางคำครุ-ลหุที่ตายตัว

2.       ชนิดของฉันท์ในวรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยาที่นำมาใช้ในการแต่ง ส่วนใหญ่มักใช้ อินทรวิเชียรฉันท์11 วสันตดิลกฉันท์14  และสัททุลวิกกีฬิตฉันท์19 ส่วนในวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัชกาลที่ 6 มีการใช้ฉันท์ที่หลากหลายชนิดในการประพันธ์ ทั้งจากคิดค้นเอง และได้มาจากการศึกษาวรรณกรรมสันสกฤต (คำประพันธ์ประเภทฉันท์ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมทางศาสนาของอินเดีย)

3.       วรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยา ส่วนใหญ่มักเริ่มเรื่องหรือแต่งบทนมัสการด้วยกาพย์ฉบัง16  แล้วจบเรื่องด้วยโคลงสี่สุภาพ แต่ในบทนมัสการหรือบทศุภมัสดุหรือบทสดุดีในวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัชกาลที่ 6 มักจะแต่งด้วยฉันท์เช่น สัททุลวิกกีฬิตฉันท์19 หรือวสันตดิลกฉันท์14 แล้วจบลงด้วยกาพย์ฉบัง16

4.       วรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยานอกจากจะเน้นเรื่องการอ่านออกเสียงหรือใช้ขับกล่อมในราชสำนักแล้ว วรรณกรรมคำฉันท์ยังเป็นวรรณกรรมที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เช่น คำฉันท์ดุษฎีสังเวย  คำฉันท์กล่อมช้าง  และคำฉันท์คชกรรมประยูร  แต่วรรณกรรมคำฉันท์ในรัชกาลที่ 6 มักเป็นเรื่องในนิทานสันสกฤต หรือนิทานที่มาจากชมพูทวีป (อินเดีย)

5.       ภาษาในวรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยาเองก็มีคำศัพท์เฉพาะที่ใช่ในสมัยนั้นๆ เช่นคำว่า เสี่ยมสาร บเริ่ม บราง ทรสุมทรสาย ฯลฯ ซึ่งคำเหล่านี้ไม่นิยมใช้ในวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัชกาลที่ 6 (ไม่ปรากฏคำศัพท์ดังกล่าว) ส่วนใหญ่มักใช้คำภาษาสันสกฤต

6.       วรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยามีการนำฉันท์ชนิดแปลกมาแต่ง โดยคาดว่าฉันท์ที่นำมาใช้เป็นฉันท์ที่มีการนำฉันท์ 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมเป็นฉันท์ชนิดใหม่ เช่น วิเชียรดิลกฉันท์ ที่คาดว่าเป็นการนำอินทรวิเชียรฉันท์มาผสมกับวสันตดิลกฉันท์ เป็นต้น ส่วนวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัชกาลที่ 6 ไม่มีการนำฉันท์มาผสมให้เกิดเป็นฉันท์ชนิดใหม่ แต่มีการคิดค้นขึ้นมาจากการศึกษาวรรณกรรมสันสกฤต

7.       ในการจบเรื่องของวรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยามีบางเรื่องที่จบเนื้อเรื่องโดยไม่มีการแต่งบทอำลาหรืออวยพร (ดังที่ได้กล่าวในช่วงอธิบายเรื่องกากีคำฉันท์) ส่วนวรรณกรรมคำฉันท์สมัยรัชกาลที่ 6 จะจบเรื่องด้วยบทอำลาหรือบทอวยพรต่อท้ายเรื่อง

8.       อินทรวิเชียรฉันท์11 เป็นฉันท์ที่นิยมใช้แต่งในวรรณกรรมคำฉันท์สมัยอยุธยา มีลักษณะคล้ายกับกาพย์ยานี11 จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด (เว้นแต่เราใช้การสังเกตชื่อเรื่องแล้วตีความเอา) แต่อินทรวิเชียรฉันท์ในสมัยรัชการที่ 6 มีลักษณะตายตัวตามฉันทลักษณ์การวางคำครุ-ลหุ

ข้อแตกต่างที่สรุปขึ้นมานั้น แสดงให้เห็นจุดเด่นของวรรณกรรมคำฉันท์ทั้งจากสมัยอยุธยาตอนปลายที่เริ่มมีการแต่งเป็นครั้งแรก (จากหลักฐานที่ค้นพบ) กับสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 6 ที่เริ่มมีการกำหนดการจัดระเบียบคำในร้อยกรอง ให้ตรงกับรูปแบบที่ได้ศึกษาค้นคว้า จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าฉันทลักษณ์ กระนั้น วรรณกรรมคำฉันท์ทั้งสองยุคสมัย ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนแนวคิด สังคม อุดมคติ ความเชื่อ วัฒนธรรมที่ถ่ายทอดร้อยเรียงออกมาผ่านตัวอักษรเป็นคำประพันธ์ประเภทฉันท์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น