วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

SOTUS (พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง) : พี่ว้าก...ผู้ไม่มีอำนาจอะไรเลย

 SOTUS (พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง) : พี่ว้าก...ผู้ไม่มีอำนาจอะไรเลย


             นิยายวาย คือนิยายประเภทหนึ่งที่มีเนื้อเรื่องเน้นไปทางความรักระหว่างผู้ชายด้วยกันเอง นิยายดังกล่าว ล้วนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่หญิงสาว (ผู้ชายก็มีเช่นกันแต่เป็นส่วนน้อย) ที่ชื่นชอบในเรื่องชายรักชาย ซึ่งความนิยมในเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นความแปลกในด้านการเสพวรรณกรรมของผู้คน แต่นั่นก็ ไม่ได้เป็นของใหม่ในสังคม (ซึ่งเรื่องเกย์หรือชายรักชาย มีมาก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะเกิด) แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึง ณ ตอนนี้ กระแสความนิยมในเรื่องชายรักชายเริ่มเผยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในสังคม โดยเริ่มต้นจากการเป็นนิยายในสื่อออนไลน์ หรือตามเว็บไซต์ เช่น เด็กดี (Dek-D.com)  ธัญวลัย (tunwalai.com) เป็นต้น และได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้อ่านจนต้องมีการนำมาตีพิมพ์เป็นเล่ม วางจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป แน่นอนว่าความนิยมดังกล่าวย่อมส่งผลให้มีการนำไปทำเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์เพื่อปั่นกระแสให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับนิยายวายเรื่องหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้
             “SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” คือหนึ่งในนิยายวายที่โด่งดังมาจากเว็บไซต์ก่อนที่จะมีการนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ เขียนขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 ลงในเว็บไซต์ www.Dek-D.com ผู้แต่งคือ       บุษรา ภัทราพรพิสิฐ หรือเจ้าของนามปากกา BitterSweet และได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดยสำนักพิมพ์ NABU ก่อนที่จะมีการนำมาสร้างเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ ออกอากาศในปลายปี พ.ศ. 2559 ในชื่อว่า “SOTUS The serier พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” ทางช่องวัน 31
              ส่วนทางด้านที่มาของเรื่องนั้น ทางผู้แต่งได้ให้สัมภาษณ์ลงในนิตยสาร attitude ฉบับที่ 77 เดือนกรกฎาคม 2560ว่า                                                                                                                                                                                         
             “SOTUS นี่ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 56 ที่มีกระแสแฮซแท็ก #พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ในทวิตเตอร์ที่ดังมาก จริงๆ แท็กนี้พลอย (ชื่อเล่นของผู้แต่ง)ไม่ได้เป็นคนคิดนะคะ มีนักเล่นทวิตเตอร์นี่แหละเขาคิดกัน ตอนนั้นเหมือนมีการล้อระบบโซตัสแรงๆ ก็เลยอยากเอามาจิ้นให้มันตลกและดูเสียดสีแทน” (หน้า 66)

            เรียกได้ว่า ผู้แต่งหรือ BitterSweet ได้แนวคิดมาจากสื่อโซเชียวในทวิตเตอร์ที่มีการนำเอารูปเหล่าบรรดานักศึกษาชายต่างชั้นปีจากสถาบันต่างๆ มาเป็นภาพประกอบในการจินตภาพในแง่ของชายรักชาย ซึ่ง BitterSweet เรียกสิ่งนั้นว่า “เอามาจิ้น” (บ้างก็เป็นไปในเชิงล้อเลียน) ประกอบกับกระแสความรุนแรงของการรับน้อง หรือระบบโซตัส (SOTUS) ที่ปฏิบัติกันตามสถานศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย มาใช้ในการสร้างนิยายเรื่องนี้ขึ้น
             เนื้อหาของเรื่องนั้น จะเป็นเรื่องราวของ “อาทิตย์” หัวหน้าพี่ว้ากปีสามของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ยึดมั่นในการทำหน้าที่เป็นพี่ว้ากตามที่ได้รับสืบทอดตำแหน่งพี่ว้ากจากรุ่นพี่รุ่นก่อนๆ แต่ก็ต้องสะดุดเมื่อถูกใครสักคนปีนเกลียวต่ออำนาจที่เขามี ใครคนที่นั้นก็คือ “ก้องภพ” รุ่นน้องปีหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมการรับน้องของคณะ ซึ่งทำให้อาทิตย์ไม่ชอบหน้าของก้องภพเป็นอย่างมาก และก้องภพเองก็มีท่าทีว่าสนใจในตัวของอาทิตย์อยู่ไม่น้อย การพบกันของทั้งคู่นำพาให้เกิดความรู้สึกแปลกใหม่ ที่เกิดขึ้นทั้งตัวของก้องภพเอง หรือแม้แต่เฮดว้าก(หัวหน้าพี่ว้าก)อย่างอาทิตย์ที่แต่เดิมนั้นตัวเขาเองหมั่นไส้และไม่ชอบขี้หน้าก้องภพมาตั้งแต่แรกเป็นอย่างมาก พยายามใช้อำนาจการเป็นพี่ว้ากที่ตนมีกำราบบุคคลดังกล่าว ทั้งการสั่งทำโทษต่างๆ การออกคำสั่งให้ทำตามที่ตัวเองสั่ง หรือแม้แต่การรับพนันคำท้าระหว่างเขากับก้องภพเองในการแข่งขันกีฬาเฟรชชี่ และการประกวดดาว-เดือนของมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายอาทิตย์ก็ไม่สามารถทำอะไรก้องภพได้ตามเป้าหมายที่ตัวเองกำหนด ทั้งยังทำให้อาทิตย์เริ่มรู้สึกหวั่นไหวในตัวก้องภพทุกครั้งที่เขาแสดงออกผ่านทางคำพูด น้ำเสียงที่ใช้ สีหน้าและแววตาที่ส่งยังอาทิตย์ ส่วนตัวก้องภพนั้นก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะเกรงกลัวพี่ว้ากอย่างอาทิตย์ ซ้ำยังพยายามที่จะทำให้อาทิตย์สนใจในตัวเขา ทำทุกอย่างที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับอาทิตย์ และการกระทำบางอย่างของอาทิตย์เองทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ส่งผลต่อความรู้สึกของก้องภพ ซึ่งนั้นเองที่ทำให้ก้องภพเริ่มแน่ใจในความรู้สึกที่เขามีต่ออาทิตย์จากเดิมที่มีอยู่แล้วมันก็เพิ่มพูนในใจของเขา ทั้งตัวอาทิตย์และก้องภพต่างก็ต้องพบกับความกดดันในความรู้สึกลึกๆ อาทิตย์เองพยายามที่จะหลีกหนีอารมณ์ความรู้สึกที่ตนมีต่อก้องภพ และกลัวการยอมรับสังคมในมหาวิทยาลัยในเรื่องชายรักชาย ท้ายที่สุดทั้งอาทิตย์และก้องภพต่างก็เลือกทำตามความรู้สึกของหัวใจตนเอง ยอมรับความรู้สึกของกันและกันและใช้ชีวิตในรั่วมหาวิทยาลัย บนความสัมพันธ์ที่มากกว่าการเป็นพี่ว้ากและรุ่นน้องปีหนึ่ง
             ในเรื่อง จะเห็นได้ว่าผู้แต่งหรือ BitterSweet นั้น ถ่ายทอดเรื่องราวความรักระหว่างชายด้วยกันในมหาวิทยาลัยที่ใช้เป็นฉากหลักของเรื่อง สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ BitterSweet ให้ตัวละครในเรื่องมีสถานะเป็นนักศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ การระบุเฉพาะเจาะจงในเรื่องคณะของ BitterSweet เป็นนำเอาภาพลักษณ์ความโดดเด่นมาใช้ให้ดูสมจริงและเห็นภาพได้อย่างชัดเจน โดยภาพลักษณ์ที่ว่าคือ ภาพลักษณ์ของการรับน้องในคณะ ซึ่งภาพลักษณ์การรับน้องของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในสังคมนั้น แสดงออกถึงมีความรุนแรงในการรับน้อง และมีชัดเจนในการทำกิจกรรมดังกล่าวมากกว่าคณะอื่นๆในมหาวิทยาลัย เช่น การว้ากของรุ่นพี่ในคณะ การทำกิจกรรมสันทนาการในกิจกรรมรับน้อง หรือการรับน้องนอกสถานที่ (ในเรื่องก็ได้นำเอาภาพลักษณ์ของการรับน้องนอกสถานที่มาใช้ โดยใช้ทะเลที่จังหวัดระยองเป็นฉาก ซึ่งแน่นอนว่าฉากการรับน้องที่ทะเล ก็นำมาจากภาพลักษณ์จากข่าวสารที่เสนอตามสื่อสังคม และการใช้ฉากเป็นทะเลจังหวัดระยองก็เป็นการสร้างภาพให้ดูมีความสมจริง โดยนำสิ่งที่มีอยู่จริงมาใช้) อีกทั้ง ภาพลักษณ์ที่ผู้เรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ นั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นนักศึกษาชายที่เข้ามาศึกษามากกว่านักศึกษาหญิง นั้นจึงจุดที่ทำให้ BitterSweet นำมาใช้ในการ “จิ้น”ชายรักชายขึ้นมา ด้วยปริมาณที่ผู้ชายที่มากกว่าและภาพลักษณ์ของนักศึกษาชายวิศวะที่ดูดิบเถื่อน เท่ห์ ฉลาด และมีความอ่อนโยนในบางมุม จึงทำให้การสร้างภาพตัวละครเอกชายรักชายในคณะดังกล่าวดูเอาใจทั้งผู้เขียนและผู้อ่านที่ชื่นชอนในเนื้อเรื่องแนวนี้
             ในแง่ภาพลักษณ์ของชายรักชายนั้น อาจหมายร่วมถึง ตุ๊ด กะเทย เกย์ ที่รวมอยู่ในสังคม แต่ในเรื่อง SOTUS นั้น ผู้เขียนได้กำหนดให้ทั้งอาทิตย์และก้องภพนั้นมีความเป็นผู้ชายแท้ตามธรรมชาติเพศสภาพ แต่กลับมีความรู้สึกชอบผู้ชายด้วยกัน ดูได้จากฉากหนึ่งที่อาทิตย์เล่าถึงเรื่องผู้หญิงที่เขาแอบชอบมาตั้งแต่สมัยมัธยมให้ก้องภพฟังในที่พึ่งบังเอิญพบเจอกัน ขณะที่กำลังช่วยก้องภพเลือกซื้อของขวัญวันเกิดให้หลาน (หน้า 248-257) หรือฉากที่ก้องภพโทรศัพท์หาอาทิตย์เพื่อถามถึงเหตุผลที่อาทิตย์หลบหน้าไม่พูดคุยด้วย
                                  
                                     “ผมไม่รู้ว่ามันเริ่มตอนไหน ไม่รู้ว่ามันเริ่มยังไง ทั้งที่พี่ก็เป็นผู้ชาย และผมก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน
                  แต่ผมห้ามความรู้สึกตัวเองไม่ได้...” (หน้า 295)

              จากประโยคสนทนาที่ก้องภพพูด แสดงให้เห็นว่าทั้งตัวเขาเองและอาทิตย์ก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเขากลับมีความรู้สึกที่มีต่ออาทิตย์มากกกว่านั้น BitterSweet ได้กล่าวถึงการสร้างตัวละครเหล่านี้ตาม ว่าสร้างขึ้นตาม“มายาคติของสาววาย”  มายาคติที่ว่า คือ “ผู้ชายแท้”ที่มีความรู้สึกชอบ“ผู้ชายแท้”เหมือนกัน ส่วนคำว่า “สาววาย” ก็คือหญิงสาวที่มีรสนิยมความชื่นชอบในเรื่องชายรักชาย ซึ่งการสร้างตัวละครตามมายาคติของสาววาย ก็เป็นการสร้างเพื่อเอาใจและดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่เป็น “สาววาย” โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ชายแมนๆ แต่พอมานั่งคิดบทวิเคราะห์กันจริงๆ แล้วเนี่ย มันอาจจะไม่ตรงความจริงมากนัก (attitude หน้า 69 )
             มายาคติอีกอย่างหนึ่งที่ BitterSweet นำมาใช้สร้างตัวละครเอกของเรื่อง คือ “มายาคติของละครไทย”  ดูได้จากคาแรกเตอร์ของก้องภพ ที่ผู้เขียนวาดให้เป็น ผู้ชายที่ดูมีเหตุผล อบอุ่น เข้าใจได้ ส่วนอาทิตย์ก็จะเป็นสไตล์ปากร้ายแต่ใจดี (attitude หน้า 68) แน่นอนว่าคาแรกเตอร์ที่ว่าย่อมเป็นที่คุ้นเคยกันดีกับผู้คนในสังคมที่นิยมชมชอบละครไทยหรือละครหลังข่าว โดยพระเอก-นางเอกนั้นจะมีคาแรกเตอร์ที่ส่วนใหญ่เป็นแบบที่BitterSweet วาดไว้ให้ทั้งก้องภพและอาทิตย์ มายาคติของละครไทยใช่ว่า BitterSweet นำมาสร้างแค่ตัวละครเอกอย่างเดียว แต่ได้นำมาใช้ในการสร้างพล็อตเรื่องด้วยเช่นกัน พล็อตเรื่องที่ว่าคือ ไม่พระเอกก็นางเอก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ถูกหรือไม่ชอบหน้ากันในตอนแรกแต่จะลงเอยกันในตอนจบ เช่นเดียวกันกับในเรื่องที่ในตอนแรกนั้นอาทิตย์จะไม่ชอบก้องภพด้วยว่าก้องภพทำให้ศักดิ์ศรีการเป็นพี่ว้ากของเขานั้นถูกหยามเพราะการประกาศจะจับอาทิตย์ทำเมียเพื่อชิงเกียร์รุ่น แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ลงเอยกัน
              ในนิยายเรื่อง SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง อาทิตย์ ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง มีสถานะเป็นรุ่นพี่ปีสามและเป็นเฮดว้ากของคณะวิศวะ นั้นหมายความว่าอาทิตย์เป็นตัวละครที่อำนาจในการสั่งการตัวละครอื่นๆให้ทำตามคำสั่งที่ตนสั่ง และเป็นตัวละครที่มีอิทธิพลในการกำหนดกิจกรรมการรับน้องปีหนึ่ง แต่การที่อาทิตย์จะขึ้นมามีอำนาจเช่นนี้ แน่นอนว่าเขาเองต้องเคยเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจของพี่ว้ากรุ่นก่อนในสมัยที่อาทิตย์ยังเป็นเด็กปีหนึ่ง และการที่อาทิตย์เคยเป็นเด็กปีหนึ่งที่ผ่านกิจกรรมรับน้องของคณะมาก่อน ประกอบกับการที่รุ่นพี่ที่เป็นพี่ว้ากรุ่นก่อนๆเห็นแววที่จะสืบทอดตำแหน่งการเป็นพี่ว้ากในการรับน้องรุ่นต่อๆไป ทำให้อาทิตย์ขึ้นมามีอำนาจภายใต้การเป็นพี่ว้ากของคณะ แต่ตำแหน่งที่ว้ากที่อาทิตย์ได้รับก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเช่นกัน ซึ่งดูได้จาก “10 สิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่ออาทิตย์เป็นพี่ว้าก” (หน้า 71-79) ที่บรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในมหาฯลัยของอาทิตย์มาเป็นข้อ ตั้งแต่การตั้งนาฬิกาปลุกทั้งที่ตัวเองเป็นคนนอนตื่นสาย การหักห้ามใจไม่กินนมเย็นทั้งที่เป็นเครื่องดื่มที่ตัวเองชอบเพื่อรักษาหน้าการเป็นพี่ว้าก การไว้หนวดเพื่อให้มีภาพลักษณ์ดูน่าเกรงขาม ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ฝืนต่อการใช้ชีวิตก่อนที่เขาเองจะกลายมาเป็นพี่ว้าก ซึ่งบางครั้งก็ต้องตัดใจหรือหักห้ามใจข่มเอาไว้ ก็เพื่อให้ตัวเองทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ ในการมีอำนาจของอาทิตย์นั้นย่อมต้องมีสิ่งที่ตนเองต้องรับผิดชอบในกิจกรรมรับน้องตามติดมาเป็นเงา หน้าที่ความรับผิดชอบที่ว่านั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นอำนาจอีกอย่างหนึ่งที่คอยควบคุมอาทิตย์ ซึ่งอาทิตย์เองก็ดูเป็นจะยอมทำตามในหน้าที่ความรับผิดชอบที่ว่าด้วยเช่นกัน
                        
                             “พี่ว้ากทุกคนฟังคำสั่ง ผมจะให้พวกคุณลุกนั่งห้าร้อย วิดพื้นห้าร้อย สก็อตจัมป์ห้าร้อยส่วนผมเป็นเฮดว้าก    จะรับผิดชอบทำทั้งหมดเสร็จแล้วจะออกไปวิ่งรอบสนามอีกห้าสิบสี่รอบด้วย ปฏิบัติ !
                            “รับทราบ !!!
                             เสียงตะโกนดังก้องพร้อมเพรียงอย่างคนแสดงความเต็มใจยอมรับคำสั่งลงโทษตัวเอง แล้วพี่ว้ากจึงยืนเรียงแถวกอดคอลุกนั่งพลางนับเลขเสียงดัง ด้วยจำนวนหนักหนากว่าที่เคยสั่งพวกปีหนึ่งหลายเท่าแบบเทียบไม่ติด ท่ามกลางสายตาของน้องที่มองเหตุการณ์ตรงหน้าด้วยความทึ่ง(หน้า 132)

                        นี้เป็นอีกฉากหนึ่งที่อาทิตย์ แสดงถึงอำนาจที่ตัวเองมีนอกเหนือจากการตะโกนว้ากน้องหรือออกคำสั่งให้ปีหนึ่งทำตามคือการโชว์พาวรับบทลงโทษต่อหน้าเด็กปีหนึ่ง การโชว์ดังกล่าวนั้นก็เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีตัวเองนั้นมีความเหนือกว่า สามารถทำได้ดีกว่ารุ่นน้องปีหนึ่งที่ถูกเขาสั่ง ดูได้จากบทลงโทษในบทที่ยกมาและอาการของรุ่นน้องปีหนึ่งในเหตุการณ์ ซึ่งมันก็ได้ผล แต่ก็ต้องแลกกับความเจ็บปวดทางร่างกายที่ตนได้รับในภายหลัง (หน้า 142-155)
             อำนาจการเป็นเป็นพี่ว้ากแน่นอนว่าเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นมาจากหน้าที่ที่อาทิตย์ต้องทำ อาจจะได้อย่างและก็เสียอย่างซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการเป็นเฮดว้าก แต่ก็มีสิ่งๆหนึ่งที่มีอำนาจต่ออาทิตย์นอกเหนือไปจากหน้าเฮดว้ากของคณะ นั้นคือ ก้องภพ ตัวละครเอกอีกตัวของเรื่อง
              การเข้ามาของก้องภพในฐานะเด็กปีหนึ่ง ถือว่าเป็นการสั่นคลอนอำนาจที่พี่ว้ากอย่างอาทิตย์มีเป็นอย่างมากและเป็นสิ่งที่ทำให้อาทิตย์จดจำอย่างไม่มีวันลืม ดูได้จาก “10 สิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่ออาทิตย์เป็นพี่ว้าก” (หน้า 71-79) ในข้อสุดท้าย จะเห็นได้ว่าก้องภพเข้ามามีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของเขา ทำให้เขาเองคอยจับตามองก้องภพอยู่เสมอในการทำกิจกรรมรับน้อง อารมณ์ความรู้สึกไม่ชอบขี้หน้าตั้งแต่แรกพบที่มีต่อก้องภพ กลายเป็นสิ่งที่เข้ามาอยู่ในความทรงจำของอาทิตย์อย่างง่ายดาย และแม้ว่าอาทิตย์จะพยายามสั่งทำโทษหนักๆแค่ไหนก็ เพื่อเป็นแบบอย่างในการขู่ปีหนึ่งให้มีความหวั่นเกรงต่ออำนาจพี่อย่างเขา แต่ไม่เป็นผลสำหรับก้องภพ พลอยทำให้เขาหงุดหงิดมากกว่าความสะใจที่ได้ใช้อำนาจที่ตนมีในการสั่งสอน ในความคิดของผู้อ่าน หลายคนคงคิดว่า ตัวละครอย่างก้องภพ เป็นตัวละครที่ถูกสร้างเพื่อมาต่อกรกับอำนาจพี่ว้ากอย่างอาทิตย์ แท้จริงแล้วอาทิตย์ไม่ได้ถูกต่อกรโดยก้องภพแต่เขากลับตกอยู่ภายใต้อำนาจของก้องภพมากกว่า อำนาจในที่นี้หมายถึงอำนาจอารมณ์และความรู้สึกของอาทิตย์ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนคือฉากที่ก้องภพไม่พอใจอาทิตย์ที่ให้พวกตนเองนั้นถอดเสื้อ เกลือกกลิ้งบนพื้นทรายแล้วลงไปนั่งแช่ในน้ำทะเล จนอาทิตย์โมโหสั่งให้ก้องภพลงไปในทะเล และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาต่อจากนี้คือ
             
                             สิ่งแรกที่เขาเห็นหลังโผล่พ้นจากน้ำ คือแววตาหวาดกลัวของพี่อาทิตย์ ซึ่งเขาไม่รู้ว่าเจ้าตัวมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง เขากำลังจะอ้าปากถาม แต่ดันโดนมือล็อกลากร่างขึ้นจากฝั่ง เลยกลายเป็นว่าเขากลืนน้ำทะเลเข้าปากไปอึกใหญ่ หากอีกฝ่ายยังคงไม่หยุด ทั้งลากทั้งดึงเขาขึ้นมาจนถึงชายหาด ทำให้คนสำลักความเค็มของน้ำทะเลไอออกมาจนตัวโยน นั่นยิ่งสร้างความตระหนกให้กับอาทิตย์ที่ช่วยประคองศีรษะเขาเอาไว้ (หน้า 218)

              อาทิตย์คาดไม่ถึงว่าก้องภพจะทำตามที่เขาสั่งจริง จากที่เขามีอำนาจในการสั่งลงโทษกลับกลายเป็นเขาเองที่หวาดกลัวและตกอยู่ใต้อำนาจของก้องภพ โดยที่ก้องภพเองก็คาดไม่ถึงเช่นกัน การกระทำดังกล่าวของก้องภพมีอิทธิพลต่อความรู้สึกที่ทำให้อาทิตย์เกิดวิตก หวาดกลัว ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อำนาจที่มีผลต่อความรู้สึกของอาทิตย์กลายเป็นสิ่งที่ก้องภพใช้กดดันความรู้สึกของอาทิตย์จนเกิดเป็นฉากสะพานพระรามแปด(อาทิตย์สารภาพรัก) อันเลื่องชื่อที่ตราตรึงใจผู้อ่านและสาววายโดยเฉพาะ (หน้า 318-326 )
             อาทิตย์มีอำนาจในฐานะพี่ว้ากก็จริง แต่ในทางกลับกัน อาทิตย์กลับเป็นตัวละครที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของระบบการรับน้อง (ระบบSOTUS)ในรูปแบบการรับสืบทอดตำแหน่งพี่ว้ากจากรุ่นพี่ โดยมีตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมและการกระทำของเขา ซึ่งแน่นอนว่าอำนาจที่เขามีนั้นเป็นเพียงการอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อให้ตนเองสามารถที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไปตามที่ค่านิยมการรับน้องกำหนด อีกทั้งตัวละครอย่างอาทิตย์ก็เป็นตัวละครที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของก้องภพ ตัวละครอีกตัวซึ่งมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึกของอาทิตย์โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งสิ่งที่สนับสนุนให้ตัวละครอย่างก้องภพมีอำนาจที่ว่านั้น คือการที่ BitterSweet สร้างมายาคติขึ้นมาในเรื่อง  โดยใช้การสร้าง “มายาคติของสาววาย” ในการวาดตัวละคร (ชายแท้รักชายแท้ด้วยกัน) ขึ้นมา แล้วทำให้ตัวละครที่วาดขึ้นมานั้น มีบทบาท หน้าที่ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยใช้ “มายาคติของละครไทย” เป็นตัวกำหนดคาแรกเตอร์ของตัวละครทั้งสอง และแน่นอนว่าการกำหนดบทบาทของมายาคติของละครไทยย่อมส่งผลให้ก้องภพ เป็นตัวละคร (พระเอก) ที่มีอิทธิผลต่อความรู้สึกของอาทิตย์ (นางเอก) ตามแบบมายาคติที่ผู้เขียนใช้ ในการสร้างขึ้นมา
             หากเมื่อพิจารณาในสิ่งที่ได้กล่าวมานั้น อาทิตย์กลายเป็นตัวละครในนิยายที่เป็นฝ่ายตกอยู่ภายใต้อำนาจทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ หรือเรื่องของความรู้สึก แต่ไม่ว่าอาทิตย์จะเป็นตัวละครที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจใดๆก็ตาม อาทิตย์ก็คือ(พี่ว้ากตัวร้าย)ที่มาพร้อม(กับนาย)ก้องภพเฟรชชี่ที่จะพาผู้อ่านเข้าสู่บรรยากาศของการรับน้อง(ปีหนึ่ง)


                                                                                                         6 มกราคม 2561 เวลา 04:50 .
                                                                               แก้ไขเพิ่มเติม  23 มกราคม 2561 เวลา 22:50 น.
_____________________________________________________________________________________


อ้างอิง
ธวัชชัย ดีพัฒนา. (2560). SOTUS S CONFIDENTIAL. Attitude, 77, 66-69
BitterSweet (บุษรา ภัทราพรพิสิฐ). 2557. SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : NABU


มีอะไรในหัวข้อ “โลกของนางนพมาศ” : สรุปหัวข้อเรื่อง ในหนังสือ ปากไก่และใบเรือ

         มีอะไรในหัวข้อ “โลกของนางนพมาศ” : สรุปหัวข้อเรื่อง ในหนังสือ ปากไก่และใบเรือ



บทความนี้เป็นหนึ่งในบทความจากหนังสือเรื่องปากไก่และใบเรือ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์โดยศึกษาจากวรรณกรรมที่แต่งขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 1-4 ซึ่งบทความเรื่อง “โลกของนางนพมาศ” ก็เป็นหนึ่งในบทความที่ศึกษาประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงมุมมองและความคิดทางสังคมในเรื่องโลกทรรศน์ของช่วงต้นรัตนโกสินทร์ผ่านตัววรรณกรรมเรื่อง “นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” โดยในบทความดังกล่าว นิธิ ได้เรียงลำดับจากที่มาของวรรณกรรมที่ใช้ศึกษา จนไปถึงการสะท้อนถึงเรื่องโลกทรรศน์ทางสังคมที่ปรากฏในวรรณกรรม (จากความคิดของผู้แต่ง) แยกเป็นหัวข้อได้ดังนี้
สรุป วรรณกรรมเรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นวรรณกรรมในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ที่นิธิต้องการอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกทรรศน์ ในช่วงที่อิทธิพลตะวันตกเข้ามามีบทบาทต่อสังคมต้นรัตนโกสินทร์ การเปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์ใหม่ในเรื่องนางนพมาศมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้าสำเภา-เรือกำปั่นและการเข้ามาของชาวต่างชาติ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือมนุษย์นิยมหรือความเป็นมนุษย์นิยม ในตัววรรณกรรมเรื่องนางนพมาศนั้นมีการมองนางนพมาศในฐานะที่มนุษย์มากขึ้น แตกต่างจากวรรณกรรมเรื่องอื่นๆในสมัยเดียวกัน ดูได้จากการที่ตัวเอกเรื่องเป็นผู้หญิงแต่ได้รับการศึกษาอย่างดีเท่ากับคนชั้นสูง(ชาย) ลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัด คือ การพยายามที่จะทำให้ตัววรรณกรรมมีลักษณะที่เป็นวรรณกรรมของสุโขทัย โดยนำข้อมูลความรู้จากประสบการณ์มาสร้างขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของเก่า(สมัยสุโขทัย) ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีการนำพระราชพิธีมากล่าวอ้างเพื่อเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของเวลา และการนำเอาโลกทรรศน์เก่า (ฮินดูกับไตรภูมิพระร่วง) มาผสมดัดแปลงให้กลายเป็นโลกทรรศน์ในเรื่องหรือการอิงจากโลกที่ผู้แต่งอยู่ซึ่งแตกต่างจากโลกทรรศน์ (วรรณคดี) เก่ามาใส่ในเรื่อง
      “นางนพมาศ’ เป็นวรรณกรรมเน้นการสั่งสอนพฤติกรรมหญิง แต่แฝงด้วยแนวคิดในเรื่องโลกทรรศน์ ที่ผู้แต่งนำมาใช้งานเขียนซึ่งแตกต่างจากวรรณกรรมก่อนหน้านั้น เป็นวรรณกรรมที่ต้องการสร้างโลกทรรศน์ที่แตกต่างจากโลกทรรศน์เก่า (โดยการรับความรู้จากประสบการณ์มาใช้) และทำให้โลกทรรศน์ที่สร้างขึ้นมานั้น เป็นโลกที่มีอยู่ในยุคสมัยที่เก่ากว่ายุคสมัยที่ผู้แต่งอยู่เป็น “โลก” ใหม่ที่ไม่เหมือนเก่า แต่ก็ไม่แตกต่างไปจากเก่าเสียทีเดียว(ปากและใบเรือ 2555,303) และเป็นโลกทรรศน์ทางวรรณกรรมที่รับอิทธิพลจากโลกทรรศน์ที่มีอยู่ในสังคมของต้นรัตนโกสินทร์


             “พิจารณาหนังสือ นางนพมาศ” เป็นหัวข้อแรกที่ นิธิ ได้อธิบายที่มาของหนังสือและข้อสังเกตจากหลักฐานที่ใช้ระบุช่วงเวลาการแต่งหนังสือนางนพมาศ ซึ่งวรรณกรรมดังกล่าวได้อ้างว่าแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย แต่เนื่องจากสำนวนภาษาที่ใช้ไม่ใช่แบบเดียวกับที่ใช้ในวรรณกรรมสุโขทัย ซึ่ง นิธิ กล่าวว่า สิ่งที่หนังสือนี้อ้างถึงไม่เป็นหลักฐาน สอว่าเป็นงานเก่ายุคสุโขทัย แต่กระนั้นก็เป็นต้นแบบที่นำมาดัดแปลงต่อเติม ในพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือน ของรัชกาลที่ 5 ด้วยทรงเชื่อว่าอาจจะมีต้นแบบจริง ๆ ที่แต่งในสมันสุโขทัย พระราชพิธีที่เขียนในหนังสือนางนพมาศนั้น บางอย่างก็มี บางอย่างก็สลับสับเปลี่ยนในเรื่องเดือนที่จัดในพระราชพิธีกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ และบางอย่างก็ไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยแต่มีการอ้างถึง เช่นพระราชพิธีวิสาขบูชา ซึ่งในบทความกล่าวไว้ว่า ไม่มีหลักฐานที่กล่าวถึงในสมัยอยุธยา แต่เพิ่งจะมี พระราชพิธีนี้ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2360 และพระราชพิธีส่วนใหญ่ จัดขึ้นก่อนสมัยรัชกาลที่ 4  (ซึ่งส่วนใหญ่ในหนังสือนางนพมาศ เป็นพระราชพิธีพราหมณ์) จึงเป็นข้อยืนยันได้ว่า วรรณกรรมเรื่องนางนพมาศ เป็นวรรณกรรมในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสาเหตุที่ผู้แต่งเรื่องนางนพมาศ กล่าวอ้างถึงพระราชพิธีในช่วงรัตนโกสินทร์ ให้ปรากฏ ในสมัยสุโขทัย นิธีได้ให้เหตุผลว่า ผู้แต่งเรื่อง นางนพมาศ ได้อาศัยคำให้การของ ขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) หรือ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ซึ่งมีฉบับอยู่ก่อน พ.ศ. 2350 (นิธิ 2521, 251-4) และได้อาศัยประสบการณ์ของตนเองในฐานะที่ใกล้ชิดกับราชการ ได้รู้เห็นการพระราชพิธีและพิธีที่จัดในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ปรุงแต่งเขียนขึ้นว่าเป็นสมัยสุโขทัย (ปากไก่และใบเรือ 2553, 296) ซึ่งพระราชพิธีทั้งหมดทั้งมวลที่เขียนขึ้นในวรรณกรรม ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้แต่งได้ประสบพบเจอมาในชีวิต ประกอบกับการศึกษา จากหลักฐานคำบอกเล่า จึงทำให้ตัวเรื่อง พระราชพิธีในนางนพมาศ จึงมีลักษณะอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ถ้าทั้งจุดมุ่งหมายของเรื่องนางนพมาศ ที่เด่นชัดคือ การสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของผู้หญิง ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวก็ไม่ได้แตกต่างจากวรรณกรรมร่วมสมัยเดียวกัน (ต้นรัตนโกสินทร์) เช่น สุภาษิตสอนหญิง กฤษณาสอนน้อง เป็นต้น และจุดมุ่งหมายอีกอย่าง คือต้องการให้นางนพมาศ (ในเรื่องที่สมมติว่ามีตัวตนอยู่จริง) เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโดยใช้พระราชพิธีที่เขียนขึ้นนั้น แสดงเหตุการณ์ที่พบเจอหรือประวัติของตนเอง ซึ่งเป็นความพยายามอย่างหนึ่งของผู้แต่งที่ต้องการให้วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ของตนเสมือนเป็นวรรณกรรมสุโขทัย


            หัวข้อที่ 2 “โลกของหนังสือ นางนพมาศ” เป็นการกล่าวถึงช่วงเวลาที่แต่งวรรณกรรมเรื่องนางนพมาศ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในสยามประเทศสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือชาวจีนอพยพเข้ามาซึ่งมีจำนวนเยอะกว่าชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ แม้ว่าจะมีจำนวนที่เยอะกว่าแต่วัฒนธรรมก็มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งดูได้จากวิธีการักษาหรือการแพทย์ต่างกันตรงเครื่องยาสมุนไพรที่ใช้รักษาแต่การรักษาใช้การต้มยากินเหมือนกันซึ่งนิธิได้กล่าวในทำนองนี้ สิ่งที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงในสังคมจากการเข้ามาของชาวต่างชาติคือวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ วิทยาการความรู้สมัยใหม่จากตะวันตกส่งผลกระทบต่อโลกทรรศน์เก่าของสังคม วิทยาการความรู้ที่เคยมีถูกแทนที่จาก “ต่างด้าว” ด้วยวิชาการที่ล่ำกว่าและแม่นยำกว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่สั่นคลอนโลกทรรศน์เก่าจากวัฒนธรรมตะวันตก “หนังสือเรื่อง นางนพมาศ จึงน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นวรรณกรรมที่สะท้อน “โลก” ที่กำลังเปลี่ยนแปลงในความคิดของคนไทย (ชั้นสูง) เอาไว้อย่างเด่นชัด” (ปากไก่และในเรือ. 2555, 303)


             หัวข้อที่ 3 “ลักษณะเด่นของเรื่อง นางนพมาศ ด้านวรรณกรรม” เป็นหัวข้อที่อธิบายลักษณะของเรื่องนางนพมาศ โดยในงานวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวมีการใช้ภาษาประเภทความเรียงกึ่งร้อยแก้ว ซึ่งคำประพันธ์ประเภทนี้ส่วนใหญ่มักใช้ในวรรณกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาหรือวรรณกรรมแปลซึ่งจะมีความเป็นนิยายในเรื่อง แต่เรื่องนางนพมาศ นั้นเป็นเรื่องที่ผู้แต่งต้องการที่จะสร้างภาพลักษณ์ของบ้านเมืองในสมัยสุโขทัยโดยที่ไม่ให้เหมือนกับเมืองหลวงที่ตนอาศัย (กรุงเทพฯ) แต่ก็อาศัยเมืองที่ตนเองอยู่นั้นเป็นแบบอย่างของเมืองสุโขทัย 
        เรื่องนางนพมาศพยายามทำให้ในเนื้อเรื่องดูเป็นสมัยสุโขทัย โดยมีการอ้างถึงพระพุทธรูปโบราณในสมัยสุโขทัยเข้าไปในเรื่อง ซึ่งผู้เขียนต้องการให้ฉากเป็นตัวทำให้ตัวเอกของเรื่องหรือนางนพมาศ มีลักษณะเด่นชัดโดยใช้เหตุการณ์หรือฉากในเรื่อง ไม่มีการดำเนินที่ซ้ำในสภาพแวดล้อมเฉพาะ(ผู้เขียนกำหนด) แต่ใจความสำคัญของเรื่องก็ยังคงเป็นการสั่งสอนสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้เรื่องนางนพมาศแตกต่างจากวรรณกรรมร่วมสมัยเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ทีละนิด 
        ในบทความยังกล่าวถึงลักษณะเด่นอีกอย่างคือตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิง (นางนพมาศ) ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากตัวละครฝ่ายหญิงเรื่องอื่น ๆ โดยผู้แต่งเองไม่ต้องการแต่งตามจารีตเดิม ๆ ที่ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุที่รอการมาแย่งชิงและไม่ค่อยมีบทอะไรในเรื่อง ซึ่งนางนพมาศเป็นตัวละครที่มีความปรารถนาที่จะให้ตนมีชื่อเสียงและเป็นที่จดจำจากการนำเสนอเรื่องราวที่พบเห็นและได้กระทำในชีวิตของนางนพมาศ และเป็นสตรีที่ต้องการยกตัวเองว่าเป็นนักปราชญ์ ดูได้จาก “ ...ก็ได้ปรากฏชื่อเสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ฉลาดในวิชาช่างอยู่ ซึ่งกัลปาวสาน...”(นพมาศ. 2507, 354) โดยนิธิได้กล่าวในทำนองที่ว่าผู้แต่งเรื่องนางนพมาศ ต้องการเขียนให้ผู้หญิงเทียบเท่ากับผู้ชาย ซึ่งตัวเขาเองก็ได้มองเห็นความสามารถของผู้หญิงที่มากกว่านักเขียนในรุ่นก่อนหน้านั้น โครงเรื่องก็เป็นอีกสิ่งที่บทความได้กล่าวไว้ โดยโครงเรื่องนั้นจะใช้ประวัติของตัวเอกเป็นแกนหลัก เล่าเรื่องแบบเรียบๆ ที่ไม่ได้มีปมปัญหา หรือเป็นนิยาย ทำให้ดูเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อภินิหารอะไรเหมือนกับวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ เป็นการเล่าประวัติชาติกำเนิดของตัวเอก (พราหมณ์หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นชนชั้นสูงในสมัยนั้น) และการศึกษาที่ตนได้เรียนมา ซึ่งในส่วนของการศึกษานั้น นางนพมาศ ได้เล่ามาอย่างละเอียดว่าตนได้ศึกษาอะไรบ้าง การศึกษาดังกล่าวที่นางนพมาศศึกษา เป็นแบบเดียวกับ เจ้าชายหรือชนชั้นสูงที่ผู้ชายในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้นสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์ในส่วนของความเท่าเทียมของชายหญิง ในเรื่องการศึกษา ประกอบกับการศึกษาดังกล่าวเป็นตัวแปรที่จะทำให้นางนพมาศนั้นมีชื่อเสียง ในประวัติที่แต่งขึ้นมานั้นก็ยังแฝงด้วยเรื่องทางสังคม เช่น เรื่องการค้าในเมือง ไปจนถึงอาชีพต่าง ๆ ที่ปรากฏ แสดงถึงความเจริญรุ่งเรื่องในนครธรรม อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในเรื่อง คือการกล่าวถึงพระราชพิธี 
         ในเรื่องของนางนพมาศ พระราชวิธี มีหน้าที่ในวรรณกรรมอยู่สามอย่าง  อย่างแรก เป็นสิ่งที่บ่งบอกลักษณะของตัวละครให้ดูสมจริงเนื่องจากพ่อของนางนพมาศเป็นพราหมณ์ที่ทำพิธีให้ราชสำนักจึงคลุกคลีอยู่กับเรื่องพวกนี้นางนพมาศเองก็เช่นกัน อย่างที่สอง พระราชวิธีเป็นสิ่งติดต่อกับโลกภายนอกเนื่องจากตัวของนางนพมาศเป็นคนในรั้วในวังสิ่งที่สามารถบอกเหตุการณ์ต่างๆได้เกี่ยวกับโลกภายนอกก็มีพระราชพิธีที่เคยทำมาแล้วและทำต่อไปในอนาคต และอย่างสุดท้าย พระราชวิธีเป็นเครื่องหมายของการผ่านของเวลา (หน้า310) ซึ่งเป็นกลวิธีในวรรณกรรมที่บอกลำดับเหตุการณ์ก่อน-หลัง ของเรื่องที่ใช้กันในวรรณกรรมอยุธยา เช่น เรื่องทวาทศมาส จากลักษณะที่กล่าวทั้งหมดของเรื่องนางนพมาศ สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความคิดทางสังคมที่มีต่อโลกทรรศน์ที่เกิดขึ้น ซึ่ง นิธิ ได้กล่าวว่า เรื่องนางนพมาศ นำเสนอสิ่ง “ใหม่”  อย่างแหลมคมและชัดเจนกว่า นำเอาความเปลี่ยนแปลงที่มีมาก่อนหน้าให้ก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง (ปากไก่และใบเรือ 2555,310)


        “โลกของนางนพมาศ” คือหัวข้อที่สี่ ในบทความที่บรรยายถึงโลกทรรศน์ในเรื่องนางนพมาศ เริ่มต้นจากการอธิบายการกำเนิดของมนุษย์ที่อิงมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ แต่ในการแบ่งโลกในเรื่องนางนพมาศเป็นแบบวิธีการแบ่งตามแบบไตรภูมิพระร่วงแต่ต่างกันตรงที่ศูนย์กลางของโลกในเรื่องนั้นไม่มี มีแต่ความเท่าเทียมกัน ซึ่งถือว่าเป็นโลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคม การบรรยายเรื่องภาษาในเรื่องนางนพมาศก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนน่าจะนำเอามาจากประสบการณ์ที่พบในชีวิตของผู้แต่งในเรื่องภาษา นิธิได้กล่าวว่า การบรรยายชาติของภาษาของ โลก” ที่เป็นจริงว่าคือ ความรู้อันควรรู้ (ปากไก่และใบเรือ 2555,313) โลกของมหาจักรพรรดิราชในไตรภูมิพระร่วงแตกต่างกับโลกของมหาจักรพรรดิราชในเรื่องนางนพมาศ โดยไตรภูมิพระร่วงพระมหาจักรพรรดิราชเป็นใหญ่สุดในโลกและทุกอาณาจักรก็ขึ้นตรงกับพระมหาจักรพรรดิราช  ส่วนเรื่องนางนพมาศพระมหาจักรพรรดิราชมีความเท่าเทียมกันกับกษัตริย์อาณาจักรอื่นๆ ซึ่งกษัตริย์ในโลกของนางนพมาศมีความใกล้เคียงกับในโลกปัจจุบัน ส่วนภาษาที่นางนพมาศกล่าวถึงก็หมายถึงประเทศต่างๆที่มีอยู่ในโลก “โลกที่นางนพมาศเสนอจึงเป็นโลกที่ไกลจากโลกในอุดมคติอย่างที่ตำราในอุดมคติไตรภูมิเก่าได้เคยเสนอมา หากแต่เป็นโลกที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็น “จริง” ตามสายตาและประสบการณ์ในชีวิตสมัยที่ผู้แต่งมียังชิวิตอยู่” (ปากไก่และใบเรือ 2555,316) ซึ่งในความหมายอีกอย่างของตัวโลกของนางนพมาศ เกิดจากประสบการณ์ที่ผู้แต่งได้พบเห็นและถ่ายทอดมาผ่านเรื่องราวและตัวละครของเรื่อง แต่ประสบการณ์ที่ว่าแปรสภาพกลายเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นความรู้ที่แตกต่างจากความรู้เก่า และเป็นที่ลบล้างความรู้ที่เคยมีมา แต่โลกทรรศน์ของเรื่องนางนพมาศก็ไม่ได้แตกต่างจากโลกที่เป็นอยู่ของผู้เขียนที่เน้นในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความสัมพันธ์ของมนุษย์


        “เรื่อง นางนพมาศ ในสายธารแห่งความเปลี่ยนแปลงด้านโลกทรรศน์ในต้นรัตนโกสินทร์” หัวข้อที่ห้า ที่ต้องการชี้ว่าวรรณกรรมเรื่อง นางนพมาศ ไม่ใช่วรรณกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางโลกทรรศน์เพียงเรื่องแรกและเรื่องเดียว แต่มีวรรณกรรมที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านั้น ดูได้จากวรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิวินิจฉัย ของรัชกาลที่ 1 ซึ่งแตกต่างจากไตรภูมิพระร่วง ทั้งเรื่องศูนย์กลางของจักรวาลที่แต่เดิมคือเขาพระสุเมรุเปลี่ยนมาโพธิบัลลังก์ แทน ให้ความสนใจในหลักธรรมคำสอนมากกว่าการบรรยายเรื่องภพภูมิ อธิบายเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งในไตรภูมิพระร่วงนั้นไม่มีการกล่าวถึง ทั้งยังมีการนำเอาเรื่องกำเนิดมนุษย์ไว้ที่ต้นเรื่องซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของมนุษย์ และวรรณกรรมในยุคหลังจากเรื่องนพมาศที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงเรื่องโลกทรรศน์คือ เรื่อง แสดงกิจจานุกิจ ของพระยาทิพากรวงศ์ ที่แสดงออกถึงความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงกว่าเรื่องนางนพมาศ เนื่องจากผู้เขียนเรื่องดังกล่าวมีความคุ้นเคยกับชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตก จึงทำให้งานเขียนเรื่องแสดงกิจจานุกิจมีเนื้อหาที่โจ่งแจ้งและตรงไปตรงมาในเรื่องโลกทรรศน์โดยเน้นในเรื่องวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ในสมัยนั้น โดยในบทความต้องการจะสื่อถึงความคิดของผู้แต่งทั้งเรื่องแสดงกิจจานุกิจ และ เรื่องนางนพมาศก็ล้วนได้รับอิทธิพลจากความเปลี่ยนแปลงหรือ “กระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกทรรศน์” ในสมัยนั้น


        หัวข้อสุดท้าย “ฐานะของเรื่อง นางนพมาศ ในประวัติศาสตร์ความคิด” เป็นการแสดงถึงความคิดในเรื่อง นางนพมาศ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นสิ่งที่ผู้แต่งรับแล้วนำมาปรับใช้ และเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของวรรณกรรมในช่วงนั้นที่แตกต่างไปจากวรรณกรรมรูปแบบเก่า “โลก” ของนางนพมาศจึงเป็น “โลก” ที่สำคัญอันเชื่อมโลกยุคต้นรัตนโกสินทร์  ให้สืบเนื่องกับยุค “ปฏิรูปใหญ่” (ปากไก่และใบเรือ 2555,325)





อ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ . 2555 . ปากไก่และใบเรือ. พิมพ์ครั้งที่ 4. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน

อิลราชคำฉันท์ : ในการวิจารณ์ด้านทฤษฎีรสของวรรณกรรมสันสกฤต

อิลราชคำฉันท์ : ในการวิจารณ์ด้านทฤษฎีรสของวรรณกรรมสันสกฤต





             อิทธิพลความเชื่อทางศาสนาจากต่างประเทศที่เข้ามาในไทย เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในงานวรรณกรรม ดูได้จากนิทานสันสกฤตของไทย ซึ่งมีที่มาจาก มหากาพย์รามายณะ และมหากาพย์ภารตะ โดยมหากาพย์ทั้งสองเป็นตำรามหากาพย์ที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ความน่าสนใจในตัวมหากาพย์นั้นใช่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องที่สื่อถึงสงครามหรือเทพเจ้าเพียงอย่างเดียว นิทานหรือเรื่องเล่าที่ตัวละครในมหากาพย์เล่าแก่ตัวละครอีกตัวในเรื่อง(นิทานซ้อนนิทาน) ก็เป็นแรงบรรดาใจของกวีไทยนำมาแต่งเป็นวรรณกรรมเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้านำมาวิจารณ์ต่อไปนี้
             อิลราชคำฉันท์ เป็นวรรณกรรมอีกเรื่องที่มีมาจากเรื่องรามายณะ ในอุตตรกัณฑ์ ปรากฏตัวในไทยครั้งแรกในหนังสือ “บ่อเกิดรามเกียรติ์” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 แล้วจึงมีการนำไปแต่งเป็นคำฉันท์ โดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) เมื่อปี พ.ศ. 2456
             เนื้อเรื่องคราวๆจะเป็นการคุยกันระหว่างพระราม พระภรต และ พระลักษณ์ ที่ปรึกษาเรื่องการทดสอบความจงรักภัคดีของเมืองขึ้นต่างๆ พระลักษณ์จึงเสนอให้ทำพิธีอัศวเมธดีพร้อมกับยกตัวอย่างเรื่องพระอินทร์ที่ทำพิธีนี้เพื่อล้างบาป พระรามได้ฟังก็ชื้นชมพร้อมทั้งเล่าเรื่องท้าวอิลราชให้ทั้งสองฟัง ครั้งหนึ่งท้าวอิลราชไปล่ากวางในป่าพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพาร ได้ล่วงล้ำเขตเขาไกรลาสซึ่งเป็นที่ประทับของพระอิศวรและพระอุมา ซึ่งในขณะนั้นพระอิศวรกำลังหยอกล้อกับพระอุมา โดยแปลงกายเป็นผู้หญิงและเนรมิตทุกสิ่งที่อยู่ ณ บริเวณนั้นเป็นเพศหญิงหมดรวมทั้งท้าวอิลราชและเหล่าข้าราชบริพารที่อยู่แถวนั้น ทำให้ท้าวอิลราชต้องไปขอโทษพระอิศวรเพื่อให้พระอิศวรให้พรกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ทว่าพระอิศวรไม่ให้ พระอุมาจึงให้พรครึ่งหนึ่งเฉพาะท้าวอิลราชโดยให้เดือนหนึ่งเป็นหญิงที่งดงาม แล้วกลับมาเป็นผู้ชายในเดือนต่อมาสลับกัน และในขณะที่เป็นหญิงนั้นก็จำเรื่องราวตอนเป็นผู้ชายไม่ได้ เช่นเดียวกับตอนที่กลับคืนมาเป็นผู้ชายที่จำตอนเป็นผู้หญิงไม่ได้เช่นกัน ตั้งแต่นั้นมาท้าวอิลาราชก็สลับร่างกลายเป็นผู้หญิงที่ชื่อว่า นางอิลา ไปๆมาๆคนละเดือนอยู่อย่างนั้น    จนกระทั้งท้าวอิลาราชในร่างนางอิลาที่จำเรื่องราวของตนเองไม่ได้ไปเที่ยวเล่นกันในป่าพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพารที่กลายเป็นหญิง พบกับพระพุธที่กำลังบำเพ็ญเพียร ขณะที่เหล่านางอิลาเล่นน้ำ พระพุธหลงใหลในนางอิลาจึงได้ถามความเป็นมาของนางอิลาซึ่งนางเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่าตนเองและเหล่านางต่างๆเป็นใคร พระพุธจึงเพ่งญาณดูทำให้รู้ถึงความเป็นมาของนางอิลา จึงบอกกับเหล่านางต่างๆว่าเป็นกินรีอาศัยอยู่ในเขา ส่วนนางอิลาก็พากลับไปที่อาศรมอยู่ร่วมกัน เมื่อครบเดือนนางอิลากลับมาเป็นท้าวอิลราชที่จำอะไรไม่ได้แล้วถามพระพุธว่าเหล่าข้าราชบริพารที่ตามมาล่ากวางด้วยหายไปไหนหมด พระพุธจึงตอบว่าโดนหินหล่นลงมาทับตายหมด ท้าวอิลราชเสียใจเมื่อได้ฟังจึงตกลงจะบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่อาศรมตามคำชวนของพระพุธ จนเวลาล่วงเลยไป 9 เดือน นางอิลาได้กำเนินลูกขึ้นมาชื่อ ปุรุรพ พระพุธด้วยความสงสารท้าวอิลราชจึงได้เรียกรวมเหล่าฤษีเพื่อปรึกษาหาวิธีแก้ พระกรรทม พ่อของท้าวอิลราชจึงได้เสนอให้ทำพิธีอัศวเมธบูชาพระอิศวร ทั้งหมดจึงตกลงที่จะทำพิธีดังกล่าว ทำให้พระอิศวรนั้นพอใจและประทานพระให้ท้าวอิลราชกลับมาเป็นเหมือนเดิมโดยไม่ต้องกลับมาเป็นผู้หญิง
             ทางด้านรูปแบบวรรณกรรม อิลราชคำฉันท์ใช้รูปแบบคำประพันธ์ประเภทฉันท์ 15 ชนิด ได้แก่ กมลฉันท์ โตฎกฉันท์ ภุชงคประยาตฉันท์ มาณวกฉันท์ มาลินีฉันท์ วสันตดิลกฉันท์ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ สัทธราฉันท์สาลินีฉันท์ อินทรวิเชียรฉันท์ อินทวงศ์ฉันท์ อีทิสังฉันท์ อุปชาติฉันท์ อุปัฏฐิตาฉันท์ และอุเปนทรวิเชียรฉันท์ กาพย์ 2 ชนิดได้แก่ กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์
             เริ่มต้นจะเป็นบทไหว้ครู ซึ่งใช้ชื่อว่า ศุภมัสดุ แต่งด้วยสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ โดยข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างบางบทในบทศุภมัสดุเพื่อนำมาวิจารณ์ ดังนี้
                              สรวมชีพอัญชลีนาถพระบาทนฤเบศ
                มงกุฎกษัตริย์เกษตร                                                       สยาม
                               ที่หกรัชสมัยก็ไกรกิติ พระนาม
                 ทรงคุณคามภี-                                                                รภาพ
                               เพียงนารายณ์อวตารรำบาญอริบำราบ
                 เถลิงรัชทวีลาภ                                                                วิไล
                               เปรื่องปรีชาวิทยุตมาภรณไท
                  ธารสัตย์กระพัดใน                                                         กมล
                               บำรุงรัฐสุขวัฒนานิกรชน                                
                  ทั่วรัฐมณฑล                                                                   บำเทิง
             จากฉันท์ที่ยกมา จะเห็นได้ว่าเนื้อหาจะเป็นการสรรเสริญพระเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 6 ดูจากฉันท์บทแรกที่ยกมา ที่มีความหมายว่า “ขอเดชะพระสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯแห่งแดนสยาม” บทที่ 2 “รัชกาลที่ 6 ผู้ที่ทรงถูกยกย่อง ยิ่งใหญ่ในพระนามและมีความสุขุมลึกซึ้ง” บทที่ 3 “เสมอดั่งพระนารายณ์อวตารมาปราบศัตรู ขึ้นครองราชย์สมบัติ อันงดงาม” บทที่ 4 “เชี่ยวชาญรอบรู้ดั่งแสงฟ้าแลบค้ำจุนประชาและการทรงไว้ซึ่งความจริงล้อมดวงใจ” และบทที่ 5 ที่หมายถึง “ปกครองบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง แลหมู่ราษฎรทั่วทั้งเมืองรื่นเริง”
             โดยรวมแล้วฉันท์ที่ยกมาข้างต้นใน ให้อารมณ์ความรู้สึกหรือภาวะที่สื่อออกมาในภาวะรติ หรือ ภาวะความรัก ซึ่งความรักในที่นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นความรักในแง่ความรักที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์ โดยมีการเปรียบให้เป็นเทพเจ้า ในฉันท์บทที่ 3 บาทที่ 1 ว่า“เพียงนารายณ์อวตารรำบาญอริบำราบ” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปรียบเทียบสิ่งๆหนึ่งให้กลายเป็นสิ่งๆหนึ่งโดยใช้สิ่งๆนั้นในการช่วยยกระดับ อีกทั้งยังมีการชื่นชมและยกยอในการปกครองบ้านเมืองของกษัตริย์ในบทที่ 5 ที่ว่า
                                         บำรุงรัฐสุขวัฒนานิกรชน                          
                                 ทั่วรัฐมณฑล                                                 บำเทิง
ก็เป็นการแสดงถึง การย่อพระเกียรติในการปกครองบ้านเมืองให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งหมดของฉันท์ที่ยกมาทั้งหมด ล้วนเป็นสิ่งที่กวีถ่ายทอดออกมาในการยอพระเกียรติโดยมีการเอยถึงบุคคลที่ตนได้สรรเสริญถึง ซึ่งมาจากฉันท์บทที่ 1 ที่ว่า  
                                            สรวมชีพอัญชลีนาถพระบาทนฤเบศ   
                                     มงกุฎกษัตริย์เกษตร                                      สยาม
ซึ่งคำว่ามงกุฎกษัตริย์ ก็คือการเอยชื่อโดยย่อของกษัตริย์เพื่อจำกัดจำนวนคำ(ครุ-ลหุ)ในการแต่งตามฉันทลักษณ์ของฉันท์
             ในภาวะหลักย่อมที่ภาวะที่เรียกว่า วยภิจาริภาวะ หรือภาวะเสริมที่ทำให้ภาวะหลักในตัวฉันท์เด่นขึ้น คือภาวะหรรษะหรือภาวะความยินดี ที่มีต่อกษัตริย์ที่ตัวผู้แต่งเทิดทูน ประกอบกับภาวะอวหิตถะหรือภาวะเสแสร้ง คำว่าเสแสร้งในที่นี้ คือการนำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาบีบให้เล็กเพื่อที่จะยกระดับถึงสิ่งที่กล่าวถึงให้ใหญ่กว่า โดยมีตัวเสริมอีกตัวคือการเปรียบเทียบให้เท่ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นคือ เทพเจ้า ดังนั้น การเสแสร้งในที่นี้ก็คือการกล่าวเกินจริงเพื่อให้สิ่งที่กล่าวดูชัดเจนขึ้น และภาวะดังกล่าวย่อมเกิดภาวะที่เรียกว่า อนุภาวะ (ในภาวะเสริม) คือภาวะวิสมยะหรือความน่าพิศวง ที่ภาวะอวหิตถะสะท้อนออกมาโดยการกล่าวเกินจริงและการนำเทพเจ้ามาอ้างถึง
เมื่อมีภาวะเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาด้วยคือ รส รสที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือวีรสรคือรสความชื่นชมและสรรเสริญในตัวของบทประพันธ์ โดยมีรสอีกรสที่เรียกว่ารสอัทภุตรส หรือรสที่ความน่าอัศจรรย์ใจ (การใช้สัญลักษณ์และอุปลักษณ์ในการกล่าว) เป็นตัวเสริมรสหลัก
             ทางด้านการใช้ฉันทลักษณ์และคำจะเป็นได้ว่าในบทประพันธ์ที่ยกมาเป็นฉันท์ประเภทหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ซึ่งเป็นฉันท์ที่มักใช้ในการแต่งเป็นบทไหว้ครู บทโกรธ และบทย่อพระเกียรติ ในบทประพันธ์ที่ยกมาเป็นส่วนหนึ่งในบทศุภมัสดุ หรือบทไหว้ครู ในเรื่องอิลราชคำฉันท์ จะเห็นได้ว่าเนื้อหาในตัวบทจะเป็นการสื่อถึงการสรรเสริญย่อพระเกียรติเป็นหลัก จากที่เคยได้กล่าวไว้ในการแปลความหมาย แน่นอนว่าทั้งความหมายที่สื่อในตัวบทและวัตถุการใช้ของตัวฉันท์ที่กล่าวไว้ข้างต้น ตรงกัน จึงกล่าวได้ว่าตัวเนื้อหาและฉันทลักษณ์ ที่กวีผู้แต่งถ่ายทอดออกมา มีความพอดีและตรงตามการใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ในการสื่อความหมายของเนื้อหา ส่วนเรื่องการใช้คำนั้น แน่นอนว่าในการแต่งฉันท์สิ่งที่สำคัญคือการวางคำครุ-ลหุ ในตัวบท สังเกตว่ามีการเปลี่ยนรูปแบบการเขียนของคำเพื่อให้สามารถนำคำมาว่างตามฉันท์ลักษณ์ ดูได้จากฉันท์บทที่สองที่ยกมา วรรคแรกที่ว่า“ที่หกรัชสมัยก็ไกรกิติ พระนาม”จะเห็นได้ว่า      คำว่า กิติ ในวรรคแรก เดิมเป็นคำว่า กิตติ แต่มีการแปลงรูปคำเพื่อให้สามารถนำคำดังกล่าวมาว่าตามฉันท์ลักษณ์ของฉันท์ ที่บังคับการวางคำครุ-ลหุ หรือการฉีกคำในวรรคที่ 2 และวรรคที่ 3 ทั้งนี้ในการอ่านออกเสียงในบทที่ยกมา อาจมีการติดขัดบ้างในบางช่วงของการอ่านออกเสียง ซึ่งผู้แต่งอาจเน้นในการแต่งตามฉันทลักษณ์มากกว่าเน้นในเรื่องเสียง
             ในเรื่องเรื่องอิลราชคำฉันท์ ตอนๆหนึ่งที่กวีถ่ายทอดออกมาและเป็นที่จดจำแก่ผู้อ่าน ซึ่งเป็นต้นต่อของปัญหาที่เกิดขึ้นของเรื่อง คือตอนที่ท้าวอิลราชล่วงล้ำเข้าไปในเขตของพระอิศวรแล้วกลายเป็นผู้หญิง  ดังในฉัทน์ที่ยกมาวิจารณ์ต่อไปนี้
                                            อิลราชจรล่า                              มฤคา บ มิแคลง
                                  ลุสถานศิวะแปลง                                ดนุแปลกนยนา
                                            บ่ มิเป็นอิลราช                           วิปลาสอิลา
                                    คณะราชบริพา-                                   ระประดาจรดล
                                              มละเพศบุรุษ                             ดำริสุดจะพิกล
                                     ยลแล้วก็ฉงน                                      เอะประหลาดละซิเรา
                                               อิลเหลือจะตระหนก                  มนะหนัก บ มิเบา
                                      กระอุกระแดดุจเอา                              สุรอัคนิลน
             จากฉันท์ทั้งสี่บทที่ยกมา เป็นบทที่มีเนื้อหากล่าวถึง ท้าวอิลราชไล่ล่ากวางจนเลยเถิดเข้าไปในเขตของพระอิศวรขณะที่พระอิศวรกำลังเนรมิตรทุกอย่างให้ให้กลายเป็นหญิง จนตัวท้าวอิลราชเองก็พลอยกลายเป็นหญิงไปด้วย โดยตีความในแต่ละบทได้ดังนี้
บทที่ 1 กล่าวถึงท้าวอิลราชไล่ตามล่ากวางมาติดๆ จนล่วงล้ำเขาไปในเขตของพระอิศวรที่จำแลงทุกสิ่งจนตัวท้าวอิลราชเองดูแปลกตาไปจากเดิม
บทที่ 2 จากที่เป็นท้าวอิลราช แปรเปลี่ยนไปเป็นนางอิลา รวมทั้งเหล่าข้าราชบริพารที่เสด็จประพาสมาด้วย
บทที่ 3 แปรสภาพไปจากเพศชาย ทั้งความนึกคิดที่ผิดแปลกไปจากเดิม เมื่อได้สังเกตเห็นก็เริ่มสงสัยถึงความเปลี่ยนไปของตัวท้าวอิลราชเอง
บทที่ 4 นางอิลา(ท้าวอิลราช) ตกใจเป็นอย่างมาก กระวนกระวาน ร้อนรนเหมือนเอาไฟมาลน
             จากการอ่านผนวกกับการตีความในตัวบท ทำให้เห็นภาวะที่โดดเด่น(วิภาวะ)คือ วิสมยะหรือภาวะความน่าพิศวง โดยความน่าพิศวงในตัวบทเกิดจากความวิปลาศแปรเปลี่ยนของท้าวอิลราชที่กลายเป็นนางอิลาเพราะการล่วงล้ำเขาไปในเขตของพระอิศวร การเปลี่ยนแปลงทางเพศอย่างกะทันหันย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของท้าวอิลราชและเหล่าข้าราชบริพาร ก่อให้เกิดภาวะที่ตามมา(อนุภาวะ)คือ โศกะหรือภาวะความทุกข์ ซึ่งความทุกข์ที่ว่าเป็นผลมาจากความผิดปกติในสภาพเพศของตน และมีภาวะอื่นเป็นเป็นตัวเสริมให้ภาวะความทุกข์มีความเด่นชัด(วยภิจาริภาวะ)ได้แก่  
           มติหรือภาวะความพินิจพิเคราะห์            :                        มละเพศบุรุษ               ดำริสุดจะพิกล
           ศงกาหรือภาวะความสงสัย                      :                ยลแล้วก็ฉงน                      เอะประหลาดละซิเรา 
           อาเวคะหรือความตื่นตระหนก                 :                      อิลเหลือจะตระหนก     มนะหนัก บ มิเบา
           จินตาหรือภาวะความวิตก                        :               กระอุกระแดดุจเอา              สุรอัคนิลน        
             แน่นอนว่านอกเหนือจากภาวะที่เกิดขึ้นในตัวฉันท์ที่ยกมา สิ่งที่ตามด้วยคือรสในตัวบทวรรณกรรม โดยรสที่ว่าคือรสอัทภุตรส หรือ รสที่เกิดจากความน่าพิศวง โดยรสของความอารมณ์ความรู้สึกพิศวงที่ว่าเป็นผลมาจากภาวะที่เกิดขึ้นหลัก (ภาวะวิสมายะ) ในบท อีกทั้งตัวอนุภาวะ(ภาวะโศกะ) ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดรสในตัวบทที่เรียกว่า กรุณารส หรือรสที่เกิดจากความทุกข์โศกของตัวละคร (ท้าวอิลราช)
             ในเรื่องของฉันทลักษณ์ที่ใช้ในการแต่ง จะเห็นได้ว่าเป็นการแต่งด้วยฉันท์ประเภท โตฎกฉันท์ ซึ่งฉันท์ประเภทนี้มักใช้เป็นบทสำแดงอิทธิฤทธิ์ อภินิหาร หรือความอัศจรรย์ ซึ่งในเนื้อหาของฉันท์ที่ยกมาวิจารณ์นั้น ก็มีความเป็นอภินิหารหรือความอัศจรรย์ คือการที่พระอิศวรเสกทุกอย่างที่อยู่บริเวณใกล้กับที่ตนประทับแปรสภาพไปเป็นเพศหญิงรวมทั้งตัวท้าวอิลราชและเหล่าข้าราชบริพารด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่าทั้งตัวเนื้อหาและตัวรูปแบบของฉันทลักษณ์ที่ใช้แต่งมีความสอดคล้องและตรงกัน ทางด้านคำที่ใช้ ส่วนใหญ่จะเน้นในการใช้คำครุ-ลหุ ตามแบบฉันทลักษณ์ของฉันท์ ส่วนในเรื่องเสียงก็จะมีความไพเราะตามแบบฉันท์ที่มีเสียงหนัก เสียงเบา แต่สัมผัสนอกเสียงสระในบทที่ 4 ระหว่าง บาทที่ 1 กับ บาทที่ 2 ไม่สัมผัสกันโดยบาทแรกคำตรงท้ายบาทเป็นเสียงสระโอะ(คำว่า หนก) ส่วนบาทที่สองหากนับตามการวางคำครุ-ลหุคำที่สามของบาทเป็นเสียงสระอะ(คำว่า หนัก)
                                                  อิลเหลือจะตระหนก                  มนะหนัก บ มิเบา
แน่นอนว่าการส่งสัมผัสระหว่างบาทของโตฎกฉันท์ คำที่ 6 ของบาทที่หนึ่งจะสัมผัสคำที่ 3 ของบาทที่สอง นั่นหมายความว่าผู้แต่งเน้นความหมายของตัวบทมากกว่าเรื่องเสียง จึงเป็นจุดที่หนึ่งที่ลดความไพเราะในเรื่องของเสียง
             จากบทศุภมัสดุก่อนเริ่มเรื่อง และบทที่แสดงถึงความแปรเปลี่ยนจากชายกลายเป็นหญิงของท้าวอิลราช ทีนี้มาดูอีกบทบทหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน คือบทที่แสดงถึงพิธีอัศวเมธ ซึ่งตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้กล่าวไว้ว่า “ชื่อพระราชพิธีเพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระราชาธิราชในวรรณคดีอินเดีย โดยทรงปล่อยม้าอุปการพร้อมทั้งกองทัพเข้าไปในประเทศต่างๆ ถ้าประเทศใดไม่ยอมอ่อนน้อมกองทัพจะเข้าโจมตี เมื่อครบ 1 ปีแล้วกองทัพก็ยกกลับพร้องทั้งพระราชาที่ถูกปราบพระราชาธิราชก็จะจัดพระราชพิธีโดยฆ่าม้านั้นบูชายัญ เรียกว่าพิธีอัศวเมธ” ส่วนในเรื่องเป็นการประกอบพิธีดังกล่าวเพื่อแก้คำสาป โดยจะยกบทที่เป็นอยู่ในช่วงท้ายๆของพิธี ซึ่งเป็นการบูชายัญม้าอุปการ ดังกาพย์ที่ยกมาวิจารณ์ดังนี้
                                           ปางถ้วนปฏิทินถึงวัน                         บรรจวบขวบอัน
                                อัศวพ่าห์มาเมือง                                           
                                            คืนสู่มาฬกมลังเมลือง                        นักสิทธิ์วิทย์เรือง
                                 ก็รับก็รองปองใจ                  
                                             จำเริญวรเวทตรัสไตร                        ตรีวารล่วงไป
                                  ก็ปลงชีวาพาชี
             จากกาพย์ที่ยกมาทั้งสามบท จะเห็นได้ในความหมายรวมว่าเป็นการสื่อถึง พอถึงวันที่ครบกำหนดของพิธี ม้าอุปการก็จะกลับคืนมาสู่เมืองที่อาศัย โดยมีพราหมณ์ให้การรับรองม้าที่วิ่งมาถึง ให้ศีลให้พรจนเมื่อครบสามวันแล้วจึงบูชายัญม้า ซึ่งหากลองตีความในแต่ละบทก็จะได้ดังนี้                                                                                  
 กาพย์บทที่ 1 กล่าวถึง เมื่อครบกำหนดเวลาถึงวัน ประจวบเหมาะปี  อันว่าม้าจะมาที่เมือง                                  
 กาพย์บทที่ 2  กลับคืนสู่ปะรำพิธีอันอร่ามเรือง ผู้ชอบธรรมในวิชาชาญ(พราหมณ์) ก็จะมารับม้าไปดูแล                       กาพย์บทที่ 3 เจริญพรบริกรรมคาถา แถลงกำหนดการพิธี สามวันผ่านไปจึงฆ่าม้า         
             เมื่อนำเอาสิ่งที่ตีความในแต่ละบท มารวมกัน ทำให้เห็นภาวะเด่นๆทั้งสามบท คือ ภยะหรือภาวะความน่ากลัว ความน่ากลัวที่ว่า คือความขลังในพิธีที่ถ่ายทอดออกมาให้ดูศักดิ์สิทธิ์ และในความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีที่ว่า ลงเอยด้วยการตายของม้า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอนุภาวะ คือวิสมยะหรือภาวะความน่าพิศวง ที่มีต่อพิธีดังกล่าว(ในสังคมไทยไม่เคยมีการทำพิธีแบบนี้ จึงเป็นข้อแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับอินเดีย) และสิ่งที่เป็นวยภิจาริภาวะหรือภาวะเสริมของภาวะทั้งสองคือ มรณะหรือ ภาวะความตาย (การบูชายัญม้าอุปการ) และเมื่อได้สัมผัสภาวะในกาพย์ที่ยกมา รสในวรรณกรรมก็จะตามมาเฉกเช่นเดียวกับเงา โดยรสที่ว่าคือ ภยานกรส หรือความกลัวที่มาจากความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีอัศวเมธ โดยมีความตายของม้าอุปการที่ใช้บูชายัญเป็นสิ่งที่เสริมความขลังและความน่ากลัวต่อความรู้สึกของผู้อ่าน ประกอบกับความแปลกประหลาดในพิธีที่ไม่เคยพบเห็นในสังคมไทย ก็เป็นตัวสะท้อนถึงรสในวรรณกรรมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อัทภุตรส หรือความน่าพิศวง ที่มีต่อตัวบทที่อ่าน
               ทางด้านของฉันทลักษณ์ที่ใช้ในการแต่ง เป็นกาพย์ประเภท กาพย์ฉบัง แน่นอนว่าต้องมีความแตกต่างจากฉันท์ที่ยกมาวิจารณ์ ทั้งในเรื่องฉันทลักษณ์ การวางตำแหน่งของคำครุ-ลหุ แต่ในวรรณกรรมคำฉันท์ กาพย์ที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นกาพย์สุรางคนางค์หรือกาพย์ฉบัง ส่วนใหญ่จะใช้ดำเนินความยาวๆในท้องเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นภาพมากกว่าในการอ่านเมื่อเทียบกับฉันท์ที่มีการบังคับคำครุ-ลหุ และกาพย์เป็นสิ่งที่อ่านและเข้าใจได้ง่ายมากกว่าฉันท์ ส่วนในเรื่องการใช้คำ มีการใช้คำที่รับส่งสัมผัสได้ตรงตามฉันท์ลักษณ์ โดยคำที่สัมผัสทั้งระหว่างบาทต่อบาท และระหว่างบทต่อบท ใช้เสียงสามัญทั้งหมด (วัน-อัน , เมือง-เมลือง-เรือง, ใจ-ไตร-ไป)  ในบทแรกมีการนำคำที่มีความหมายเหมือนกันมาใช้เพื่อเน้นย้ำในความหมายที่กวีต้องการจะสื่อ ดูได้จากบาทที่ 3 ตรงคำว่าอัศว กับคำว่า พ่าห์ ทั้งสองคำที่มีความหมายเดียวกันซึ่งแปลว่า ม้า ในบทที่สองกับที่สามสังเกตได้ว่ามีการเล่นคำ ปรากฏอยู่ในวรรคเดียวกัน
                                            คืนสู่มาฬกมลังเมลือง                        นักสิทธิ์วิทย์เรือง
                                 ก็รับก็รองปองใจ                  
                                             จำเริญวรเวทตรัสไตร                        ตรีวารล่วงไป
                                  ก็ปลงชีวาพาชี
ตามคำที่เน้นดำ จะเห็นได้ว่า ทั้งสองบทตรงวรรคที่สาม มีการนำคำที่ซ้ำมาใช้ในวรรคเดียวกัน (ต่างกันตรงบทที่สามที่ความหมายของคำว่า ชี ต่างกัน)  และกาพย์ทุกบทที่ยกมาวิจารณ์มีการเล่นสัมผัสในในวรรคทั้งในเรื่องเสียงพยัญชนะและเสียงสระอีกด้วย
             ในการนำเรื่องอิลราชคำฉันท์มาวิจารณ์ในด้านทฤษฎีรสในวรรณกรรมสันสกฤต สะท้อนให้เห็นภาวะที่ตัวผู้แต่งเองต้องการสื่อ ถ่ายทอดออกมาเป็นวรรณกรรมและรสทางวรรณกรรมที่ซึมซาบออกมา ภาวะส่วนใหญ่ที่ออกมาจากฉันท์และกาพย์ที่ยกมา ส่วนใหญ่จะเป็นภาวะความน่าพิศวง และความพิศวงนี้เองที่ทำให้เกิดความน่าค้นหาในตัววรรณกรรม และเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้อ่านสงสัยและพินิจตามในงาน โดยรสที่ได้อาจไม่ตรงกับภาวะได้เช่นกัน เนื้อเรื่องที่มีความแปลก คำที่ใช้ในการแต่ง ฉันทลักษณ์ที่ใช้ ประกอบกับที่มาของเรื่อง ทำให้เรื่องอิลาราชคำฉันท์มีกลิ่นอายทางศาสนา(พราหมณ์-ฮินดู)แฝงอยู่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในบรรดาวรรณกรรมสันสกฤต และเป็นเสน่ห์ที่ทำให้กวีไทย นำทั้งตัวเรื่องและฉันทลักษณ์มาใช้ในการสร้างทางวรรณกรรม
              ท้ายที่สุดในการนำวรรณคดีหรือวรรณกรรมเรื่องอื่นมาวิจารณ์ก็ตาม สิ่งที่ได้รับหลังจากการอ่าน คืออารมณ์ ความรู้สึกที่มีต่อเรื่องที่ได้อ่าน ซึ่งอาจมีความรู้สึกที่มากกว่าหนึ่งก็ได้ในการอ่านวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ 


เกร็ดเพิ่มเติ่ม เรื่องราวของอิลราชคำฉันท์ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกษัตริย์เชื้อสายจันทรวงศ์ในมหากาพย์ภารตะ ซึ่งคาบเกี่ยวกับการกำเนิดของพระพุธ โดยเรื่องมีอยู่ว่าครั้งในดินแดนอมรวดีอันเป็นเมืองหลวงของสวรรค์ (ตามคติอินเดีย) พระพฤหัสบดีซึ่งเป็นครูของฝ่ายเทวดาได้ทำพิธีบูชาไฟเพื่อคอยสนับสนุนเหล่าเทวดา ทำให้เหล่าเทวดาสามารถเอาชนะเหล่าอสูรได้เรื่อยๆ ส่งผลทำให้พระพฤหัสบดีไม่ค่อยมีเวลาใส่ใจนางดาราผู้เป็นภรรยา ทำให้นางดาราที่ระอาสามีได้ไปตกหลุมรักกับพระจันทร์ ก่อนที่ทั้งคู่จะพากันหนีไปอยู่ด้วยกัน 
                เมื่อพระพฤหัสบดีทราบเรื่องก็เดือดดาน ส่งผลต่อพีธีบูชาไฟที่คอยเสริมกำลังให้กับเหล่าเทวดาซึ่งอาจส่งผลทำให้เทวดารบแพ้อสูร ทำให้พระอินทร์ผู้เป็นกษัตริย์แห่งสวรรค์รวมถึงเหล่าเทวดาเข้าข้างพระพฤหัสดี เมื่อเหล่าอสุรเห็นดังนั้นก็สบโอกาสพากันเข้าข้างฝ่ายพระจันทร์โดยมีพระศุกร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของฝ่ายอสูรคอยสนับสนุน ก่อเกิดเป็นสงครามความวุ่นวายระหว่างเทวดากับอสูร จนสุดท้ายพระพรหมได้เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพากบาดหมางของทั้งสองฝ่าย พร้อมกับแนะนำให้พระจันทร์คืนนางดาราให้กับพระพฤหัสบดี 
               ทว่า นางดาราที่หนีสามีมาอยู่กับพระจันทร์เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ทำให้ทั้งพระพฤหัสบดีกับพระจันทร์ต่างฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิ์ความเป็นพ่อของเด็กในท้อง จนลูกที่อยู่ในครรภ์ของนางดาราเอ่ยถามความจริง นางดาราจึงยอมรับสารภาพว่าลูกในครรภ์นั้นเป็นลูกของพระจันทร์ ทำให้พระพฤหัสบดีโกธรจึงสาปให้เด็กที่อยู่ในครรภ์นางดาราเกิดมาไม่มีเพศ ในขณะที่ทุกฝ่ายต่างตกใจกับคำสาป พระอินทร์ที่อยู่ในเหตุการณ์จึงได้กล่าวว่า นางดาราเป็นภรรยาของพระพฤหัสบดี ดังนั้นลูกที่อยู่ในครรภ์ของนางดาราก็ย่อมเป็นลูกของพระพฤหัสบดี 
                กระทั่งนางดาราได้ให้กำเนิดลูกในครรภ์นามว่า พระพุธ โดยได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากพระพฤหัสบดีแม้ว่าจะเป็นลูกของพระจันทร์ก็ตาม จนเมื่อพระพุธถึงวัยที่ควรออกเรือนตามความปรารถนาของผู้เป็นแม่ เว้นแต่ว่าคำสาปของพระพฤหัสบดีเมื่อครั้งที่ตนอยู่ในครรภ์ ส่งผลให้ตนไม่มีเพศ และไม่รู้ว่าตนนั้นจะไปเป็นเมียหรือไปเป็นผัวหากได้แต่งงาน นางดาราจึงได้แนะนำให้พระพุทธลงไปบำเพ็ญเพียรยังโลกมนุษย์ในฐานะฤาษี และนั่นก็ทำให้พระพุธได้พบกับนางอิลา ตามท้องเรื่องในอิลราชคำฉัทน์ ซึ่งลูกที่เกิดมามีนามว่า ปุรุรพ หรือ ท้าวปุรูรวัส ซึ่งต่อมาก็คือปฐมกษัตริย์เชื้อสายจันทรวงศ์ ผู้ครองกรุงประดิษฐาน 
                ซึ่งเรื่องราวของกษัตริย์เชื้อสายจันทรวงศ์ ก็ได้ปรากฏในวรรณคดีไทยเรื่อง ศกุนตลา  ซึ่งก็คือท้าวทุษยันต์ กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งจันทรวงศ์ และเป็นพระสวามีของนางศกุนตลา และมีพระโอรสคือ ท้าวภรตะ กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งจันทรวงศ์ ผู้ที่ภายหลังได้เป็นพระจักรพรรดิผู้ครอบครองทั่วทั้งแว่นแคว้นอินเดีย จนถูกขนามนามว่าเป็นดินแดนภารตะ (และเป็นที่มาของชื่อวรรณกรรม มหาภารตะ  อันหมายถึงเรื่องราวของลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากท้าวภารตะ) 
                อีกทั้งกรุงประดิษฐานซึ่งเป็นเมืองหลวงที่ปกครองโดยกษัตริย์เชื้อสายจันทรวงศ์ ในภายหลังได้ถูกย้ายโดยท้าวหัสติน กษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งจันทรวงศ์ มาก่อตั้งเป็นกรุงหัสตินาปุระ ซึ่งก็คือเมืองที่เกิดเรื่องราว มหาภารตะ อันเป็นวรรณกรรมมหากาพย์สำคัญของอินเดียที่ยาวที่สุดในโลก