สุริโยทัย...วีรกรรมการรบในพงศาวดารไทยและต่างชาติ
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง สุริโยทัย พ.ศ. 2544
เรื่องราววีรกรรมการเสียสละของสมเด็จพระสุริโยทัยนับเป็นรู้จักกันเป็นอย่างดีในสังคมและเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่
3 กุมภาพันธ์ เป็นวันสวรรคตของพระองค์ วีรกรรมการเสียสละดังกล่าวถูกถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆ
โดยเฉพาะภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สุริโยทัย” ของม.จ. ชาตรี เฉลิมยุคล
ที่ทำให้ชื่อของสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิรู้จักกันในสังคมมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าในการที่จะถ่ายทอดให้ออกมาให้เห็นเป็นภาพของคนแสดง
สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมแล้วนำมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์
ซึ่งหลักฐานที่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์การเสียสละของพระองค์
ดูได้จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) โดยรัชกาลที่ 1 โปรดให้ชำระเมื่อปี พ.ศ. 2338 และเป็นเอกสารฉบับแรกที่เอ่ยพระนามพระสุริโยทัย
ในช่วงสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหงสาวดี โดยมีความตอนหนึ่งได้ระบุถึงเหตุการณ์การเสียสละของพระองค์เอาไว้ว่า
“...สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช
ก็ขับเข้าพระคชาธารเข้าชนกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี
พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกดังนั้น
ก็ขับพระคชาธารไล่ตามช้างของพระมหาจักรพรรดิ
พระสุริโยทัยเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับ
พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที
พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว
ต้องพระอังสาสุริโยทัยขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ...”
หรือในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
ก็ได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ความว่า “เมื่อสมเดจพระมหาจักรพรรดิเจ้าเสดจออกไปรบหงษานั้น
สมเดจพระอรรคมเหษีสมเดจพระเจ้าลูกพระราชบุตรี เสดจทรงช้างออกไปโดยเสดจด้วย
แลเมิ่อได้รบหงษานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทับหลวงเป็นโกลาหลใหญ่
แลสมเดจพระอรรคมเหษีแลสมเดจพระเจ้าลูกเธอราชบุตรีนั้นได้รบด้วยข้าศึกถึงสิ้นพระชนมกับคอช้างนั้น...”
ซึ่งในพงศาวดารฉบับนี้ได้มีการเพิ่มบุคคลที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้คือ
พระธิดาในสมเด็จพระสุริโยทัย (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี)
แต่ในหลักฐานจากคำให้การชาวกรุงเก่า
ที่แปลมาจากพงศาวดารฉบับหลวงของพม่า กลับบันทึกว่าในเหตุการณ์การสู้รบกับพม่า
ผู้ที่สวรรคตไม่ใช่พระสุริโยทัย แต่เป็นบุตรตรีของพระองค์ (มหาบรมดิลก)
ที่อาสาไปรบแทนพระบิดาที่กำลังประชวนในขณะนั้น (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ
“เอกสารพม่าอ้าง ‘มหาบรมดิลก’คือผู้สละพระชนม์ทรงช้างสู้กษัตริย์พม่าไม่ใช่พระสุริโยทัย” ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ที่ด้านล่าง)
อีกทั้งในเอกสารฮอลันดา และในเอกสารโปรตุเกส
ก็ไม่ปรากฏชื่อหรือวีรกรรมที่พระองค์ทำ
(โดยส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวถึงบรรยายกาศของสงครามพม่าบุกกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)
หรือแม้แต่ในมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า ฉบับนายต่อ แปล
ตอนพระเจ้าหงษาวดีทำศึกกับไทยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ก็ไม่ได้ปรากฏชื่อของพระองค์เช่นกัน
(ส่วนใหญ่มักเน้นบรรยายกองทัพของพม่าและสู้รบกับกรุงศรีฯ)
หลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ก็เป็นหลักฐานที่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งถ้าถามว่าแล้วหลักฐานทั้งจากเอกสารฮอลันดา เอกสารโปรตุเกศ และมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า ฉบับนายต่อ ทำไมถึงไม่มีการกล่าวถึงวีรกรรมหรือแม้แต่ของพระองค์ ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า ผู้ที่เขียนบันทึกอาจจะไม่ได้อยู่ตรงบริเวณจุดที่เกิดเหตุการณ์แล้วเขียนเหตุการณ์ตามสิ่งที่เห็น หรืออาจเป็นเจตนาของผู้เขียนที่ไม่ต้องการบันทึกเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นเพราะอาจจะเป็นการทำให้เสียพระเกียรติ หรือผู้เขียนเหตุการณ์อาจไม่ทราบพระนามของพระองศ์ เนื่องด้วยการรบชุลมุนวุ่นว่ายจนต้องเลือกหยิบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญ (ต่อฝ่ายของตน) มาบันทึก หรือไม่วีรกรรมของพระสุริโยทัยเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อมารับใช้อำนาจทางสังคม ฯลฯ
นั้นเป็นเพียงแค่การตั้งสมมติฐานจากเอกสารขั้นต้นที่ไม่ได้ลงรายะเอียดลึกนัก อาจมีบางส่วนที่ผิดพลาดก็ต้องขออภัย แต่การศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องศึกษาจากหลังฐานข้อมูลหลายๆ ด้านมาประกอบในการหาคำตอบของคำถาม ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ กระนั้น วีรกรรมการเสียสละของสมเด็จพระสุริโยทัยก็ยังคงอยู่ในสังคมบนหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย
อ้างอิงจาก
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ .
พระสุริโยทัยเป็นใคร? มาจากไหน? . กรุงเทพฯ : มติชน,2544
นายต่อ, แปล. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า.
กรุงเทพ : มติชน, 2545
เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ https://www.silpa-mag.com/cultuer/article_7191