วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

บันทึกบทเรียนวิชาวิจารณ์วรรณกรรม (ฉบับเค้นความทรงจำที่มี)

 


บันทึกบทเรียนวิชาวิจารณ์วรรณกรรม (ฉบับเค้นความทรงจำที่มี)


              “มนุษย์ถูกกำกับด้วยภาษาที่ทำให้เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้กำกับและสร้างภาษาขึ้นมา”


             การนำความรู้และความรู้สึกมาผสานกันเพื่อเป็นการยืนยันจากสิ่งที่เราคิดและเหตุผลมาประกอบถึงสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบมาเขียน นั้นคือสิ่งที่เรียกว่า การวิจารณ์ “การวิจารณ์เป็นการแสดงความคิดอย่างหนึ่ง

              ในสังคมไทยเห็นว่าการวิจารณ์มักจะเป็นไปในทางด้านลบ แต่ในทางกลับกัน “การวิจารณ์มันช่วยเป็นเครื่องมือในการจัดระบบทางความคิดและการแสดงความคิดเห็น” ซึ่งการวิจารณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามความคิดเรื่องอื่นหรือจากคนอื่นๆ เสมอไป เพราะเป้าหมายของการวิจารณ์คือการอ่าน การรับชม การชิมลิ้มรสชาติ ฯลฯ โดยทำไปเพื่ออะไรบางอย่างในสิ่งที่เรากระทำ "การวิจารณ์ก็เป็นการสร้างบทสนทนาอย่างหนึ่ง ในการสื่อให้เห็นถึงความคิดของเราต่อผู้ฟังหรือผู้สนทนาด้วย"

              การวิจารณ์ถือว่าเป็นการประเมินค่าหาใช่เป็นการด่าไม่ เป็นกิจกรรมที่เน้นใช้ความรู้และความคิด และท้ายที่สุดมันคือการยืนยันในจุดยืนถึงสิ่งที่เราวิจารณ์ โดยมีเหตุผลนำมาประกอบ จำไว้ว่า! “การวิจารณ์มันเป็นการแสดงความคิดเห็น” กิจกรรมการวิจารณ์ เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้แสดงความคิดเห็น เป็นกิจกรรมทางปัญญา และเป็นการสร้างบทสนทนาอย่างหนึ่งระหว่างผู้วิจารณ์กับผู้ถูกวิจารณ์


บทนำ แนวทางการวิจารณ์

                 ในการวิจารณ์ จำเป็นต้องเก็บรายละเอียดและต้องเสพงานประเภทนั้นไม่ต่ำกว่า 3 รอบ โดยรอบแรกเป็นการทำให้รู้ความและทราบในเรื่องราวที่ต้องการสื่อในงาชิ้นนั้นๆ รอบที่สองคือการเก็บรายละเอียดในชิ้นงาน และรอบที่สามคือการสรุปโดยรวมทั้งหมดในสิ่งที่อ่าน (เสพ) จากทั้งรอบแรกและรอบสอง นั้นจึงเป็นสิ่งที่ประเมินค่าให้เห็นด้านดีกับด้านที่ไม่ดีของชิ้นงานชิ้นนั้นๆ ผลงานที่ถูกสร้างขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่มีทั้งด้านดีและไม่ดีเช่นเดียวกับคำวิจารณ์ย่อมตามมาด้วยเสมอ แต่ทุกความคิดเห็นหรือคำวิจารณ์ที่แสดงออกไป ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบในความคิดที่เสนอออกไปเสมอเช่นกัน

                   งานศิลปะกับงานวิจารณ์ เป็นงานคนละแบบ กล่าวคือ ผู้วิจารณ์ไม่จำเป็นต้องสามารถทำงานแบบเดียวกับที่วิจารณ์ได้ นั้นคือ วิจารณ์ตัวผลงานไม่ได้วิจารณ์ผู้สร้างงาน ความงอกงามของงานศิลปะมันคือการเปิดกว้างให้ผู้คนมีความคิดเห็นในผลงานศิลปะทุกแขนง

                     กิจกรรมการวิจารณ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาเดี่ยวๆ ซึ่งมันย่อมมีการผูกโยงกับข้อมูลหรือหนังสือในเล่มอื่นๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ข้อคิดเห็นของเราแข็งแรงมากขึ้น นั้นคือ 1. การค้นคว้า และ2. การตั้งคำถาม (กับสิ่งที่เราอ่านหรือรับชม)  การวิจารณ์ก็เป็นประสบการในการอ่าน การฟัง การดู ในผลงานทั้งงานที่เป็นวรรณกรรมหรืองานที่เป็นงานศิลปะ และในการเขียนบทวิจารณ์ไม่จำเป็นต้องเขียนข้อมูลในสิ่งที่อ่าน แต่การวิจารณ์คือการเน้นแสดงความคิดเห็นของผู้วิจารณ์ต่อชิ้นงานนั้นๆ

             หากเป็นงานที่เราไม่ชอบ เราควรที่จะแสวงหาหรือเก็บรายละเอียดในชิ้นงานให้มากที่สุดเพื่อหาสาเหตุในสิ่งที่เราไม่ชอบ แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นที่วิจารณ์ชิ้นงานดังกล่าว เพราะในงานชิ้นดังกล่าว จุดที่เราไม่ชอบอาจเป็นสิ่งที่ผู้อื่นชอบหรือสิ่งที่เราชอบก็อาจเป็นสิ่งที่ผู้อื่นไม่ชอบ เมื่อสิ่งที่ว่าทั้งสองสิ่งมารวมอยู่ไว้ในจุดเดียวกัน ก็จะแปรเปลี่ยนมาเป็นบทสนทนาใหม่ๆ ขึ้นมา งานวิจารณ์ไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบในตัวเองเพราะต้องอาศัยงานวิจารณ์อื่นๆ เข้ามามีส่วนช่วยหรือวิจารณ์ในสิ่งที่เราวิจารณ์ การวิจารณ์จึงเท่ากับการนำประสบการณ์ในการฟัง การชม และการอ่านมาแชร์ร่วมกัน

              ทฤษฎี คือสิ่งที่นิยามและเป็นกรอบในการศึกษา เช่นเดียวกับทฤษฎีทางวรรณกรรม เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทราบทั้งหมด แต่ใช่ว่าต้องจำทุกทฤษฎีที่ใช้กับวรรณกรรมที่เราวิจารณ์ ทฤษฎีวรรณกรรมช่วยทำให้เห็นตัววรรณคดีอย่างลึกซึ้งมากขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้นในการวิจารณ์ ทฤษฎีวรรณกรรมเป็นเพียงแค่กรอบในหัว แต่อย่าให้มันควบคุมความคิดของเรา เพราะทฤษฎีช่วยแค่บอกถึงสิ่งที่เราคิด และอธิบายได้ในบางส่วนระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

            ในการเขียนบทวิจารณ์ จะไม่เล่าเรื่องย่อส่ง ที่สำคัญคือต้องอ่านในตัวเรื่อง และจับประเด็นในเรื่องแล้วมาแตกแยกเป็นประเด็นย่อยๆ ออกมา หลังจากนั้นก็กลับไปอ่านวรรณกรรมอีกครั้งเพื่อหารายละเอียดในตัววรรณกรรม ในการวิเคราะห์ ถ้าเล่าเรื่องย่อก็ควรที่จะเล่าและวิเคราะห์ไปด้วย ไม่อารัมภบทเยอะ(หลีกเลี่ยงความเป็นส่วนตัวให้น้อยที่สุด) เพราะว่านิยายในการเขียนมันสามารถเขียนให้คลุมเครือได้แบบการเขียนนิยาม ซึ่งการวิจารณ์เป็นการตีความและอธิบายในตัววรรณกรรมโดยมีความสมเหตุสมผลเป็นสิ่งดึงดูดให้ทั้งผู้อ่านหรือผู้วิจารณ์นำมาอ้างอิง แลกเปลี่ยนความคิดกัน (ผ่านการสร้างบทสนทนา)

 

บทที่ 1 การวิจารณ์วรรณคดีไทย

             สามารถแบ่งออกเป็นสองช่วง ในประวัติศาสตร์ของการวิจารณ์วรรณคดีไทย ได้แก่

-ก่อนรับอิทธิพลตะวันตกในช่วง รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2325-2369)

-หลังรับอิทธิพลตะวันตกในช่วง รัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2369-2453)

             ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการวิจารณ์วรรณคดีไทย คือ การใช้สุนทรียศาสตร์หรือเรียกอีกอย่างว่า การฟังเสียง ซึ่งแตกต่างจากการวิจารณ์แบบตะวันตกที่นิยมอ่านเอาเรื่อง (อ่านในใจไม่เน้นออกเสียง) ซึ่งเป็นสังคมประเภทลายลักษณ์ ส่วนการวิจารณ์วรรณคดีไทยเป็นแบบสังคมมุขปาฐะ (การเล่าเรื่องโดยการขับร้อง)

              การวิจารณ์วรรณคดีในสังคมไม่ได้มีลักษณะเป็นศาสตร์ เช่นเดียวกับแบบตะวันตกซึ่งการศึกษาวรรณคดีหรือการวิจารณ์ไม่มีการวิจารณ์กันตรงๆ ลักษณะการแต่งวรรณกรรมจะเน้นเป็นการเขียนมากกว่าการอ่าน ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์วรรณคดีถูกผลิตและสร้างในชนชั้นสูง นั้นจึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้วรรณคดีกลายเป็นที่เคารพ วรรณคดีไทยมีแต่ตำราของคำประพันธ์ซึ่งให้ความรู้มากกว่าที่จะวิจารณ์ การศึกษาวรรณคดีไทยจึงเป็นเรื่องของ “นักปฏิวัติ” มากกว่า “นักทฤษฎี” แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการประเมินค่าในวรรณกรรม สมัยนั้นพระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการในการรวบรวบบทประพันธ์ ดูได้จากการรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่มีการแต่งเติมเสริมเข้าไปในตัวเรื่องเดิมโดยมีเหล่าบรรดากวีราชสำนักเป็นผู้แต่ง การเหยียบครูหรือการยกเอาคำประพันธ์มาใช้ในสิ่งที่แต่งเป็นสิ่งที่ให้เกียรติกับผู้แต่งคำประพันธ์ที่ยกมาและเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงบทประพันธ์บทนั้นเป็นบทที่ทรงคุณค่า

                 การวิจารณ์วรรณคดีไทยก่อนรับอิทธิพลตะวันตกนั้น อาจกล่าวได้ว่าดำเนินไปพร้อมกับการสร้างและเสพวรรณคดี เน้นเรื่องสุนทรียภาพ ท้ายที่สุดสังคมไทยในช่วงนั้นจึงไม่มีวัฒนธรรมในการวิจารณ์วรรณกรรม

                 หลังการรับอิทธิพลตะวันตก เริ่มมีการนำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาจากเหล่าบรรดาลูกเจ้าขุนมูลนายที่ถูกส่งไปเรียนที่ยุโรปแล้วนำกลับมาด้วย อุตสาหกรรมการพิมพ์ก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ขึ้นมาเช่นกัน งานเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อาจเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่วิจารณ์ประเมินคุณค่า เป็นการศึกษาวรรณกรรมในเชิงประวัติศาสตร์ทางสังคม ความแพร่หลายของกิจกรรมการเขียน การอ่าน เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดหน่วยงานหนึ่งในการควบคุมการเขียนและการอ่าน นั้นคือ “วรรณคดีสโมสร” ในสมัยรัชกาลที่ 6 พอหลังจากสิ้นรัชกาลที่ 6 มีการสืบสานอุดมการณ์ของวรรณคดีสโมสรคือองค์กรสมาคมวรรณคดี โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเกณฑ์ในการตัดสินสินที่ทางองค์กรใช้ในการประเมินค่า คือ การแต่งที่มีสัมผัสดีและไพเราะ และมีเนื้อหาที่เป็นเอกภาพสัมพันธ์กันในเรื่อง

                 การวิจารณ์วรรณคดีไทยจำเป็นต้องรู้เรื่องฉันทลักษณ์ในการแต่งว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ในเรื่องที่แต่ง ถ้อยคำและภาพพจน์ที่ต้องการจะสื่อของกวีว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่และเสียงมีความไพเราะหรือเปล่าในการอ่าน โดยทั้งหมดล้วนเป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์กันเป็นเอกภาพ ซึ่งเป็นการวิจารณ์ที่มีความละเอียด (ฉันทลักษณ์คือรูปแบบของเสียงที่จัดระเบียบคำกับความหมายให้เข้าที่) สิ่งที่ต้องทำในการวิจารณ์วรรณคดีคือหาคำอธิบายเพื่อเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของวรรณกรรมและความเป็นเอกภาพของวรรณกรรม และในการวิจารณ์จำเป็นต้องไปดูเรื่องฉันทลักษณ์ที่เหมาะสมว่าเหมาะสมกับเนื้อความหรือไม่ เพราะฉันทลักษณ์แต่ละชนิดมีความหมายและหน้าที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ร่ายและกาพย์ฉบังเหมาะที่จะใช้ในการบอกเหตุการณ์ซึ่งมักใช้กับวรรณกรรมสัตย์สาบาน เป็นต้น

             ไม่ว่าการวิจารณ์จะใช้ทฤษฎีแบบไหนใจความสำคัญคือการอธิบาย ปัจจุบันแนวทางการวิจารณ์วรรณคดีไทย มีทั้ง การวิจารณ์เชิงประวัติศาสตร์ (ที่เน้นศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมา) การวิจารณ์เชิงสุนทรียภาพ (เน้นในเรื่องความไพเราะของเสียง) การวิจารณ์แบบจุลภาค (เป็นการวิจารณ์ที่ไม่สนใจในเรื่องการใช้คำ มุ่งหาประเด็นและจุดเล็กๆ ในตัวเรื่อง และเน้นความแปลกใหม่น่าสนใจ) และในการวิจารณ์วรรณคดีไทยควรมีมุมมองใหม่ๆ แง่มุมอื่นๆ ในตัววรรณคดีว่ามีความสัมพันธ์กันกับในชีวิตเราอย่างไร ซึ่งก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งในการศึกษาวรรณคดี ลองอ่านวรรณคดีในแบบที่ไม่ใช่นักวรรณกรรมดูแล้วคุณจะได้มุมมองใหม่ๆ ในตัววรรณคดีที่คุณอ่าน

 

บทที่ 2 ทฤษฎีการวิจารณ์วรรณกรรมไทยแบบขนบ

             การตรวจความรู้สึกที่ได้รับรู้จากการอ่านและการดูว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันคือการวิเคราะห์ตัวเอง ซึ่งเรียกความรู้สึกในการวิเคราะห์ว่า ทฤษฎีรส

              ทฤษฎีรส เป็นการวิเคราะห์วรรณกรรมไทยแบบขนบที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ทั้งรูปแบบและเนื้อหาที่มาจากศิลปะการแสดงของอินเดีย ซึ่งรูปแบบที่ว่า เช่น ฉันท์ โดยฉันท์จะมีเนื้อหาที่เอาไว้ใช้ในการประพันธ์ เช่นเรื่องพุทธศาสนา นิทานสันสกฤต วรรณคดีสันสกฤต เป็นต้น

              แต่อย่างไรก็ตามข้อแตกต่างระหว่างวรรณกรรมขนบกับวรรณกรรมอินเดียยังมีอยู่มาก เพราะวรรณกรรมไทยหรือวรรณกรรมขนบมีข้อจำกัดหลายอย่างเช่นเรื่องภาษา ฉันทลักษณ์ ฯลฯ ทฤษฎีดังกล่าวจำเป็นต้องทราบก่อนว่าอะไรในตัวทฤษฎีที่สามารถนำมาใช้ได้ในการวิจารณ์ ซึ่งต้องรู้จักเครื่องมือในทฤษฎีนั้นว่าจะใช้อย่างไรจึงจะเกิดผลดีที่สุด

                ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์รสวรรณคดีมีอยู่ด้วยกันดังนี้

-          ทฤษฎีรส (ศึกษาปฏิกิริยาทางอารมณ์ของผู้อ่าน)

-          ทฤษฎีอลังการ (ศึกษาความงานในการประพันธ์)

-          ทฤษฎีคุณ (ศึกษาลักษณะเด่นของการประพันธ์)

-          ทฤษฎีรีติ (ศึกษาลีลาในการประพันธ์)

-          ทฤษฎีธรนี (ศึกษาความหมายแฝงในการประพันธ์)

-          ทฤษฎีวโกวกตี (ศึกษาภาษาที่ใช้ในการประพันธ์)

-          ทฤษฎีอนุมิติ (ศึกษาการอนุมานหรือการคาดเดาความหมายในการประพันธ์)

-          ทฤษฎีเอาวิตยะ (ศึกษาความเหมาะสมในการประพันธ์)

             ทฤษฎีรส เป็นการสังเกตว่าตนเองรู้สึกอย่างไรจากการอ่าน เป็นการอธิบายขั้นตอนการอ่านและการเกิดกระบวนการอ่านของตนเองคืออะไร ส่วนคำว่า รส คือปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจของผู้ที่อ่าน เมื่อได้รับอารมณ์ที่กวีหรือผู้แต่งถ่ายทอดเอาไว้ในวรรณกรรมอันเกิดมาจากภาวะ

               ภาวะ คือสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ โดยแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่

1. ความรัก (รติ)  2. ความขับขัน (หาสะ)  3. ความทุกข์โศก (โศกะ)  4. ความโกรธ (โกรธะ)  5. ความมุ่งมั่น (อุตสาหะ)  6. ความน่ากลัว (พยะ)  7. ความน่ารังเกียจ (ซุคุปสา)  8. ความน่าพิศวง (วิสมายะ) ต่อมามีการเพิ่ม ความสงบ (ศมะ) เข้ามาเป็นภาวะที่ 9 (เป็นอารมณ์ที่เกิดก่อนพุทธศาสนา) โดยความสงบนั้นคือ ความไม่ยินดียินร้าย หรือการเห็น การรับรู้ถึงสิ่งเหล่านั้นแต่ไม่เข้าไปยุ่งหรือเกี่ยวข้อง

             ภาวะทำให้เกิดรส ถ้าไม่มีภาวะรสเกิดขึ้นไม่ได้ รสทำให้รู้ว่าภาวะคืออะไรและขั้นตอนกระบวนการสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อผู้อ่านรับรู้ภาวะที่กวีแสดงเอาไว้แล้วเกิดอารมณ์ตอบสนองต่อภาวะซึ่งเรียกว่ารส รสมีอยู่ด้วยกัน 9 รส (เท่ากับจำนวนภาวะ) ได้แก่ 

1. ความซาบซึ้งในความรัก (ศฤงคารรส) เป็นอารมณ์ตอบสนองภาวะความรัก

2. ความสนุกสนาน (หาสยรส) เป็นอารมณ์ตอบสนองภาวะขบขัน

3. ความสงสาร (กรุณารส) เป็นอารมณ์ที่ตอบสนองภาวะทุกข์โศก

4. ความแค้นเคือง (เราทรรส) เป็นอารมณ์ตอบสนองภาวะความโกรธ

5. ความชื่นชมในความกล้าหาญ (วีรรส) เป็นอารมณ์ตอบสนองภาวะต่อสู้หรือภาวะความมุ่งมั่น

6. ความเกรงกลัว (ภยานรส) เป็นอารมณ์ตอบสนองภาวะความน่ากลัว

7. ความเบื่อ ระอา ชิงชัง (พิภัตสรส) เป็นอารมณ์ตอบสนองภาวะความน่ารังเกียจ

8. ความอัศจรรย์ใจ (อัทภุตรส) เป็นอารมณ์ตอบสนองภาวะความน่าพิศวง

9. ความสงบใจ (ศานตรส) เป็นอารมณ์ตอบสนองภาวะความสงบ

             สักษณะของวรรณกรรมสันสกฤต ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่มีที่มาจากอินเดียในคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือคัมภีร์พระเวท มีการแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

-          อาคม เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

-          ศาสตร์ เกี่ยวกับตำรา เช่น ตำราทางไวยากรณ์ วิชาการ

-          อิติหาร เกี่ยวกับตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา คล้ายๆ กับมหากาพย์ของตะวันตกที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสงคราม

-          ภาวยะ (กวีนิพนธ์) มีหน้าที่มุ่งสร้างอารมณ์สุนทรียะ

วรรณกรรมมหากาพย์เรื่องแรก คือ รามายณะ  ส่วนวรรณกรรมของทางอินเดียที่สำคัญ คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวทและอรรพเวท ซึ่งแต่งเป็นคำประพันธ์ เพื่อประโยชน์ในการท่องจำ ต่อมามีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือ คัมภีร์พระเวท

             ทฤษฎีรส เป็นทฤษฎีที่น่าพิจารณา เพราะเป็นแนวทางให้ผู้ศึกษารู้จักองค์ประกอบของการสร้างรสเท่านั้น ส่วนรสจะเกิดขึ้นหรือไม่ มากน้อยเพียงใดหรือเกิดต่างกับจากผู้อื่นอย่างไรขึ้นอยู่กับใจของผู้อ่านทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามมนุษย์ย่อมมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ เช่น เมื่อรับรู้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็สามารถเกิดความสงสารได้เช่นกัน เป็นต้น เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันไปตามค่านิยม

             ภาวะในอีกความหมายหนึ่งก็คืออารมณ์ของกวีที่ถ่ายทอดมาสู่ผู้ชมผ่านการแสดงละคร แต่จะใช้คำว่าอารมณ์แทนภาวะตลอดไม่ได้ เพราะบางครั้งภาวะก็เป็นสภาพที่เกิดแก่ร่างกาย เช่น ความน่ารังเกียจ น่าพิศวง เป็นต้น ภาวะเป็นตัวทำให้เกิดรสขึ้นในใจของผู้ชม เช่นเดียวกับภาวะที่เกิดขึ้นจากการอ่าน และในการอ่านที่จะทำให้รู้และทราบถึงภาวะและรสคือการอ่านแบบไม่คิดหรือการอ่านที่ไม่มีอารมณ์ที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น

            การใช้ทฤษฎีรสของวรรณกรรมสันสกฤต เพื่อนำมาวิจารณ์วรรณกรรมไทยแบบขนบนั้น ผู้วิจารณ์จะต้องทำความเข้าใจถึงที่มาของทฤษฎี ขั้นตอนในการใช้ การเกิดรสในวรรณกรรม ซึ่งมีเหตุ (ภาวะ) อย่างไร ความสัมพันธ์ของวิภาวะ (การเกิดรสเนื่องจากเหตุของภาวะ) อนุภาวะ (ผลของภาวะ) วยภิจาริภาวะ(ภาวะเสริม) นั้นสอดคล้องกันหรือไม่ และควรเข้าใจว่า รส ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นความสัมพันธ์ของเหตุที่ทำให้เกิดรส ซึ่งนักวิจารณ์จะต้องอธิบายและร้อยเรียงเหตุเหล่านั้นให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับการวิจารณ์

 

 

บทที่ 3 โครงสร้างนิยมและสัญญะศาสตร์

             เป็นทฤษฎีที่พัฒนามาจากวิชาภาษาศาสตร์ สิ่งที่น่าสนใจคือการส่งผลกระทบต่อสังคม (โครงสร้างบางอย่างภายในที่เรามองไม่เห็น) ซึ่งวิชาภาษาศาสตร์ มันคือการศึกษาและพิจารณาถึงความเข้าใจในธรรมชาติของภาษา เป็นการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการทำงานของเสียง

              เราเชื่อว่าภาษาเป็นสิ่งที่สะท้อนความจริง เช่น เมื่อนึกถึงดินสอก็จะนึกถึงวัตถุที่เป็นแท่งเอาไว้ใช้เขียน เป็นต้น ภาษามีอยู่ 2 แบบ คือ ภาษาพูด (ปรากฏการณ์พื้นผิว) และภาษาเขียน (ระบบไวยากรณ์) ซึ่งการพูดก็เป็นการแสดงที่มาจากโครงสร้างจากการเขียน ความหมายของถ้อยคำเป็นการเทียบเคียงและภาษาไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากการเทียบเคียงและอ้างอิงกันเอง

              ระบบของภาษาคือเครือข่ายของปฏิสัมพันธ์ซึ่งมิได้เป็นสิ่งที่สะท้อนสรรพสิ่งความเป็นจริงในโลก ภาษาที่เรียกสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่ภาษาสะท้อนความหมายกันเอง 

              ลักษณะโครงสร้างนิยมมันคือการเทียบเคียงกับสิ่งที่ตรงข้ามกัน มีโครงสร้างบางอย่างที่ควบคุมทางสังคม ภาษาคือระบบสัญญะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือรูปสัญญะ (คือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และไม่ได้คงที่) กับความหมายสัญญะ(ความสัมพันธ์แบบปรากฏแทนได้) ซึ่งความหมายของสัญญะแต่ละตัวเกิดจากความสัมพันธ์ ที่สัญญะตัวนั้นมีต่อสัญญะตัวอื่น

              โรลองต์  บาร์ต ได้นำสัญญะมาศึกษาต่อ “ปฏิบัติการสื่อความหมายของทางวัฒนธรรม เป็นการนำเสนอ คติ ความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ สวมลงไปบนวัตถุสิ่งของที่มีประโยชน์ใช้สอยแต่เดิม พร้อมกับดึงเอาวัตถุเหล่านั้นเข้ามาสัมพันธ์กันจนเกิดความหมายมากขึ้น

               สัญญศาสตร์ ช่วยให้เราเลือกความหมายความเข้าใจชัดขึ้นว่าวัตถุใดๆ นอกจากจะมีมูลค่าในการใช้สอยหรือมูลค่าในการแลกเปลี่ยนแล้ว ยังมีมูลค่าในการสื่อความหมายอีกด้วย

               มายาคติ คือกระบวนการที่นำสัญญะทางภาษามาสานต่อ ให้เกิดเป็นค่านิยม ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ กล่าวคือ สะท้อนเป็นคำที่เราใช้กันในสังคม

               โครงสร้างนิยมมันเป็นการแสดงให้เราเห็นว่าการสร้างสรรค์วรรณกรรมนั้นต้องผ่านโครงสร้างของภาษาและความหมาย มันเป็นการตั้งประเด็นกับสิ่งที่เราอ่านว่า ภาษาและวรรณกรรมนำเสนอความอย่างไร เพราะภาษาไม่ได้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ช่วยให้เราเข้าใจ หากแต่เป็นสิ่งที่สิ่งที่ประกอบภาพในความคิดที่เปรียบเสมือนภาพแทนของสิ่งหลายสิ่งที่ต่างกันหรือคล้ายกัน ซึ่งเรียกกันว่ามโนทัศน์ (อย่างเช่นเมื่อเอ่ยถึง ดินสอ ภาพในความคิดของเราคือสิ่งที่ใช้ขีดเขียนลงบนกระดาษ) 



บทที่ 4 ทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยม

                   หลังโครงสร้างทางสังคม ใช่จะมีแค่การรื้อสร้างเพียงอย่างเดียว !!

             คติโครงสร้างนิยมหลังโครงสร้างนิยม คือการรวบรวบ

             โลกสมัยใหม่คือการตั้งคำถามและสร้างความจริง ซึ่งเป็นแนวคิดในช่วงศตวรรษที่ 19 ความรู้จะเกิดขึ้นมาได้ด้วยอำนาจ ซึ่งเป็นอำนาจในการสร้าง ในการนิยาม ในทางวรรณกรรมมันเป็นสิ่งที่สร้างความขัดแย้งว่าสิ่งใดคือความจริง ซึ่งเรียกว่า “ปมขัดแย้งทางธรรมชาติ” มนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับสังคมและมนุษย์กับมนุษย์ หรือแม้แต่ตัวละครกับผู้เขียน หลังๆ คือการมองหาเบื้องหลังความจริง ในทฤษฎีนี้

             สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ทำคือ นำหลักฐานข้อมูลต่างๆ และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ มาเชื่อมโยงให้เข้าที่ โดยมีจินตนาการของนักประวัติศาสตร์เข้ามาเสริม ประวัติศาสตร์เป็นการลบอคติเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง ซึ่งวิธีนี้ไม่ต่างอะไรกับนักเขียนวรรณกรรมในการรวบรวมและสร้างมันขึ้นมา เหมือนดังเช่น นวนิยายเรื่อง น้ำเงินแท้ ที่นำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ (นักโทษทางการเมื่องในเหตุการณ์กบฏบวรเดช) มาใช้ในการเขียน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า อุปมานิทัศน์

               อุปมานิทัศน์ เป็นการเล่าเหตุการณ์ในอดีตโดยสร้างความสัมพันธ์กับปัจจุบัน

               บันเทิงคดีอิงประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตามย่อมมีปัญหาตามมา คือการขัดต่ออุดมคติที่มีต่อประวัติศาสตร์

                 หลังโครงสร้างนิยมหากพูดกันง่ายๆ มันคือภาคต่อของโครงสร้างนิยมที่ทำให้เป็นว่าเป็นเครื่องมือที่ประกอบสร้างความจริง ไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ หากแต่เป็นสิ่งที่ทำให้พื้นฐานการวิจารณ์วรรณกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่ามีนัยสำคัญ ซึ่งภาคที่แล้วภาษาเป็นภาพสะท้อนสิ่งที่อยู่ในหัวกับสิ่งที่เห็น แต่หลังโครงสร้างนิยมมันเป็นการตั้งคำถามกับความจริงอันเป็นผลมาจากกรอบในมโนทัศน์ที่เราจินตนาการขึ้นผ่านสิ่งที่เรียกว่าภาษาในวรรณกรรม มันคือการตีความให้เห็นถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนกับภาษาที่ใช้ถ่ายทอด (การศึกษาความคิดความเชื่อในเรื่องอำนาจของผู้เขียนในการควบคุมจัดการกับภาษา) และเปิดโปงให้เห็นถึงขีดจำกัดของนักเขียนที่พยายามควบคุมภาษาให้เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถ หากแต่ภาษานั้นมีพลังมากกว่าและเป็นพื้นที่ประลองกันทั้งนักเขียน นักอ่าน และบริบททางสังคม  เสมือนว่าเราได้เขาไปเล่นในตัวบทวรรณกรรณเยียงนักข่าวที่ตามหาเบาะแสอยู่ในนั้นเพื่อมาโจมตีนักเขียน


บทที่ 5 จิตวิเคราะห์กับวรรณกรรมวิจารณ์

             แรงขับที่สำคัญของมนุษย์คือเรื่องเพศ  ซิกมันต์  ฟรอยต์ (นักจิตวิทยาทางเพศในศตวรรษที่ 20)

             การศึกษาก่อนศตวรรษที่ 20 คือการศึกษาอารมณ์ความรู้สึก พฤติกรรม สัญญาณ การเลียนแบบ ความเคยชิน บุคลิกภาพ ความผิดปกติที่เกิดจากความปรารถนาในเรื่องจิตวิทยา หรือการศึกษาระดับจิตสำนึก  ความรู้ที่ได้จากการพิจารณาที่ซิกมันต์  ฟรอยต์ ค้นพบก็คือความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างจิตกับกาย จิตสำนึกจึงเปรียบเสมือนห้องเก็บของใต้บันไดที่ไม่แสดงออกแต่มีอยู่ภายในบ้าน เช่นเดียวกันกับความปรารถนาและความต้องการ (คือเรื่องเพศ) จะถูกกดทับไว้จากสิ่งที่เรียกว่าสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจิตใต้สำนึกจะทำงานอยู่ตลอดเวลา

             ความสามารถทางเพศ คือความสามารถทางการใช้  การมองภาพเรื่องอำนาจที่มีความเป็นชายเป็นใหญ่ คือการกำหนดและการศึกษาวิเคราะห์ แบบซิกมันต์  ฟรอยต์ ซึ่งจิตใต้สำนึกแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ

Id คือการมองหาความพึงใจในเรื่องเพศ แรงขับดันจิตใจอันมีที่มาจากสัญลักษณ์ สัญชาตญาณคิดของมนุษย์ ซึ่งการทำงานอย่างอื่นเพื่อลดพลังงานในเรื่องเพศ

Super Ego คือแรงกดดันที่ถูกกดทับไว้ในจิตใต้สำนึก

Ego คือสิ่งที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง Id กับ Super Ego

การเก็บกดความทรงจำอันน่าตระหนก หรือความปรารถนาอันไม่พึ่งประสงค์ ย่อมต้องการระบายออกมา เช่น ความฝัน ความฝันมีการเคลื่อนย้ายถ่ายเทและแทนค่าเป็นสัญลักษณ์ (ความฝัน คือความกังวลภายในจิตใจ) การอัดรวม ก็คือ การเอาสิ่งต่างๆ ที่พบเจอหรือปรากฏในความทรงจำมารวมกันเป็นสิ่งเดียวกันดังเช่นความฝัน ซึ่งมีการย้ายที่ไปสิ่งๆ หนึ่งไปอีกสิ่งๆ หนึ่ง เช่นดียวกับการเก็บกดความทรงจำอันน่าตระหนก ฉะนั้น ความฝันมันคือการทำงานของจิตใต้สำนึก

             บุคลิกภาพ คือ การนิยามตนเองกับสิ่งอื่น เพื่อความปลอดภัยของตนเอง เรื่องความปรารถนาในจิตวิเคราะห์มันคือการกดทับเก็บกักไว้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของจิตใต้สำนึก

             ฌ้ากต์  ลาก็อง (นักจิตวิทยา) นำทฤษฎีของซิกมันต์  ฟรอยต์มาอ่านใหม่ โดยเชื่อว่าความสัมพันธ์แม่และเด็กที่เป็นผู้ชาย จะเปลี่ยนแปลงไปในตอนที่แม่ไปทำงานหรือไม่ได้อยู่ด้วย พ่อเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่แยกจากเด็กไป จึงทำให้เด็กเริ่มหาคำตอบถึงสิ่งที่พ่อมีแต่ตัวเองไม่มี

              Phallas (ลึงค์) ใช่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ในเรื่องเพศอย่างเดียว แต่สามารถเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอำนาจ ดังนั้น Phallas คือภาพแทนของอำนาจ กฎระเบียบต่างๆ ทางสังคม หรือการถูกตอนทางสัญลักษณ์ในความรู้สึกของผู้อยู่ใต้ปกครอง เช่น พ่อปกครองลูกชาย หรือการเลียนแบบพ่อแม่ของลูกชาย Phallas จึงเป็นอำนาจที่เรียกอีกอย่างว่า อำนาจทางสมบูรณ์พร้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดและควบคุมให้ยอมจำนนต่ออำนาจ หากท้าทายกับอำนาจก็จะกลายเป็นโรคประสาท กลายเป็นเขาวงกตที่หาทางออกไม่ได้

               ความปรารถนาคือน้ำที่ไม่มีวันเต็มแก้ว หรือเรียกได้ว่าความปรารถนาเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเติมเต็ม มันคือสิ่งที่หลงเหลือในตัวเรา (สิ่งที่เหลืออยู่ภายใน)

               ดังนั้นการนำทฤษฏีจิตวิเคราะห์มาใช้กับวรรณกรรม มันเป็นเป็นการศึกษาถึงอำนาจที่ควบคุมหรือมีผลต่อบริบทวรรณกรรม อันเป็นอำนาจความสมบูรณ์พร้อมที่มีนิยามมาจาก พ่อ ทั้งจากการปกครอง การเลียนแบบ ผลกระทบ โดยเป็นการเปรียบเทียบถึงผู้มีอำนาจเสมอเหมือมว่าพ่อที่ปกครองควบผู้ที่อยู่ใต้อำนาจนั้นคือลูก เรียกง่ายว่า ปิตาธิปไตย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของความเป็นปิตาธิปไตยคือ รัฐ (พ่อ) ออกกฏหมายเพื่อควบคุมประชาชน (ลูก) ให้ทำตาม เป็นต้น

                ในเรื่องสั้นขนาดยาว เรื่อง “เกียวโตซ้อนกลิ่น” แสดงให้เห็นถึงอำนาจของพ่อที่ควบคุมและส่งผลต่อตัวของวารี ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง มันเป็นปมเรื่องพศที่เป็นแรงขับดับความปรารถนาที่มีต่อโทโมะ

 

บทที่ 6 วรรณกรรมวิจารณ์แนวมาร์กซิกต์

             ไอเดียเรื่องมาร์กซิกต์ เป็นความพยายามเชื่อมโยงทฤษฎีและการปฏิบัติจริงเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า การปฏิวัติ ประเด็นของมาร์กซิกต์คือเรื่องชนชั้น แสดงให้เห็นความสำคัญกับชนชั้นล่าง ชาวนา ทฤษฎีมาร์กซิกต์เกิดขึ้นเพื่ออธิบายโลกของทุนนิยม และพยายามอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

              พัฒนาการของมนุษย์เดิมทีเป็นสังคมบุพกาลที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง จนเริ่มมีการจับจองที่ดินจึงมีความต้องการแรงงานในการทำการเกษตร ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดชนชนขึ้น แต่ต่อมาเมื่อสังคมศักดินาล้มสลายลง ชนชั้นนายทุนก็เริ่มมีบทบาทในการใช้ทรัพยากรในการผลิต จึงทำให้เกิดชนชั้นตรงข้าม คือ ชนชั้นกรรมชีพ

                คอมมิวนิสต์เป็นเพียงแค่อุดมคติความเท่าเทียมกัน แตกต่างกับทุนนิยมที่เน้นไปทางการแข่งขัน  รากฐานของมาร์กซิกต์ แบ่งเป็น 3 หลักตือ ปรัชญา  เศรษฐศาสตร์และการเมือง ก่อเกิดเป็นสิ่งสุดท้ายคือ การปฏิวัติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการต่อสู้กับทุนนิยม

                 วิภาษวิธี คือคู่ตรงข้ามกันที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ แล้วสิ่งที่เกิดมานั้นก็กลายเป็นคู่ตรงข้ามของอีกสิ่ง โดยสิ่งที่กล่าวมาคือวัฏจักรของการเกิดสิ่งใหม่ๆ คาร์ล มาร์ก อธิบายวัตถุนิยมในแง่ที่ วัตถุเป็นตัวกำหนดความคิดของมนุษย์ ซึ่งวัตถุดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่มาจากการใช้ชีวิตหรือวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่เป็นสิ่งที่กำหนดความคิดของมนุษย์ และประวัติศาสตร์ ก็คือการต่อสู้ทางชนชั้นจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง จุดมุ่งหมายของมาร์ก คืออุดมคติของสังคมคอมมิวนิสต์ สังคมที่ไม่มีการขูดรีด ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วยกัน

                 มนุษย์ย่อมมาอยู่รวมกันดัวยเหตุผลทางวัตถุ เพื่อดำรงวิถีการผลิตรวมกัน สังคมจะแบ่งออกเป็นชนชั้นลำดับชั้นอย่างไรก็อยู่ที่เราผลิตอะไรออกมาแล้วผลิตมันอย่างไร วิธีที่เราแลกเปลี่ยนผลผลิตกัน การผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและค่ำจุนชีวิตของมนุษย์ ความสัมพันธ์ในการผลิตเป็นการกำหนดเจ้าของปัจจัยการผลิตและแรงงาน ในปัจจัยการผลิตนี้จะเป็นตัวกำหนดการแบ่งปันของผลผลิตว่าใครควรได้มากกว่าใคร เป้าหมายของทุนนิยมคือการทำกำไรให้ได้มากที่สุดแต่ลดต้นทุนให้น้อยที่สุดซึ่งคล้ายกับทฤษฎีวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตของ ชาลน์ ดาวินส์ ว่า “ผู้อยู่รอดคือผู้ที่เหมาะสม

                 โครงสร้างส่วนล่าง (เศรษฐกิจ) เป็นตัวกำหนดโครงสร้างส่วนบน (กฎหมาย ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม วรรณกรรม) ซึ่งโครงสร้างส่วนล่างก็คือสิ่งที่กำเนิดโครงสร้างส่วนบน ส่วนทางด้านโครงสร้างส่วนบนรวมทั้งอุดมการณ์ ก็คือชุดความรู้ของทัศนคติและค่านิยมที่กำหนดแนวทางที่ทำให้เราเข้าใจได้และเชื่อมโยงกับโลกที่ดำรงอยู่

                  มูลค่า ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ มูลค่าใช้สอยคือประโยชน์ในแง่ความต้องการของผู้บริโภค มูลค่าแลกเปลี่ยนคือศักยภาพของสินค้านั้นๆ ในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น และมูลค่าส่วนเกินคือมูลค่าที่เกิดขึ้นหลังจากหักต้นทุนซึ่งนั้นคือกำไรที่ได้รับ

                  มาร์กซิกต์ไม่ได้วิจารณ์ทุนนิยมโดยตรงแต่เป็นการอธิบายทุนนิยมว่าทำงานกันอย่างไร และท้ายที่สุดก็คือความพ่ายแพ้ของสังคมทุนนิยม

                วรรณกรรมแบบมาร์กซิกต์ เป็นวรรณกรรมแนวปฏิวัติ โดยวลาดีมีร์ เลนิน เป็นผู้นำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้ในการต่อสู้รวมทั้งในงานวรรณกรรมเพื่อให้วรรณกรรมเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ทางการเมืองในการต่อสู้ทางชนชั้น ทฤษฎีมาร์กซิกต์ จึงเป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงการทำงานของทุนนิยมที่เปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้า อีกทั้งระบบทุนนิยมทำให้เกิดความแปลกแยกกับตัวเองระหว่างโลกในชนบทกับโลกในเมือง เช่นเดียวกับวรรณกรรมเรื่อง “ฉากและชีวิต” ที่ไม่ได้เป็นเพียงวรรณกรรมที่แสดงถึงการต่อสู้หรือการปฏิวัติแต่เป็นวรรณกรรมที่แสดงถึงการทำงานของระบบทุนนิยมที่เข้ามาแปรสภาพชนบทให้กลายเป็นสังคมเมืองผ่านการเล่าเรื่องรักสามเส้าของตัวละครจากคนในเหตุการณ์

 

บทที่ 7 การวิจารณ์วรรณกรรมแนวสตรีนิยม (Feminism)

             เพศสภาพ = SEX / ร่างกาย

               เพศสภาวะ = สิ่งที่ประกอบสร้างทางสังคมให้มี “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง”

               เพศวิถี = รสนิยมในการร่วมเพศ

พื้นที่ส่วนใหญ่ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่และมีอำนาจ (ปิตาธิปไตย) แต่พื้นที่ของผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะเป็นที่บ้าน แนวคิดสตรีนิยมจึงเป็นการศึกษาพื้นที่ของผู้หญิงและอำนาจของผู้หญิงในสังคม และการตั้งคำถามว่าอะไรเป็นตัวกำหนดเพศ บทบาทของชาย-หญิง ซึ่งแน่นอนว่าความคิดดังกล่าวศาสนาเป็นตัวกำหนด

               แรกเริ่มนั้นมนุษย์นับถือศาสนาผี จึงทำให้เกิดการนับญาติทางแม่ที่เป็นฝ่ายหญิง พอเมื่อศาสนาเข้ามามีอำนาจ การนับญาติหรือการสืบสกุลทางฝ่ายแม่แต่เดิมจึงเปลี่ยนมาเป็นการสืบสกุลทางฝ่ายพ่อที่เป็นผู้ชายแทน ก่อให้เกิดคติการเปิดบริสุทธิ์กับผู้หญิงที่บริสุทธิ์ เรียกได้ว่าศาสนามีไว้เพื่อผู้ชายและเป็นศาสนาที่มีผู้ชายเป็นหลัก

                สตรีนิยมให้ความสำคัญกับผู้หญิงและสังคม โดยเอาผู้หญิงเป็นศูนย์กลางในการศึกษา ขนสรรพวุธการศึกษาในด้านมนุษย์ศาสตร์มาใช้ในการศึกษา และให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องผู้หญิงกับสังคม อีกทั้งสตรีนิยมทำให้เห็นอำนาจของผู้ชายในสังคม และตระหนักในอำนาจของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง Feminism จึงเป็นการจัดลำดับสูงต่ำในเรื่องเพศ การวิพากษ์ทัศนะการเหยียดเพศหญิง การจัดวางผู้หญิงให้เป็นศูนย์กลางในการวิเคราะห์สังคม อำนาจในการนิยามจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

              การศึกษาของเพศหญิงเป็นความก้าวเข้าสู่การเป็นชายหรือเพศชาย ซึ่งดูได้จากอุปกรณ์การเขียนซึ่งมีลักษณะที่บ่งบอกความเป็นผู้ชาย (เป็นแท่ง)

              อำนาจของผู้ชายเป็นอำนาจในการจ้องมอง เช่นอำนาจของรัฐหรือการจ้องมองการกระทำของประชาชน ส่วนอำนาจของผู้หญิง เป็นอำนาจของการสัมผัส หรือการโดนสัมผัส

              การเพิ่มขยายขอบเขต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการวิเคราะห์ถกเถียงเกี่ยวกับการเมืองและสังคมจากแนวคิดกระแสหลักแบบชายเป็นใหญ่ที่เคยจำกัดและกำหนดเอาไว้ ความสวยหรือเรือนร่างของผู้หญิงถูกกำหนดโดยผู้ชายตามยุคสมัย เช่นเดียวกับในรวมเรื่องสั้น ทำลาย,เธอกล่าว ที่ผู้หญิงในเรื่องส่วนใหญ่มักจะไปในสิ่งที่นอกเหนือความเป็นผู้หญิงในสังคม หรือคติความเป็นผู้หญิง

             วิธีการเขียนวรรณกรรมในแบบผู้หญิงมันเป็นการให้รายละเอียดการสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกสัมผัสจากเพศตรงข้าม มันคือการปลดปล่อยของตัวเอง ส่วนการเขียนวรรณกรรมในแบบผู้ชายมันเป็นการจัดระบบ และการมองที่ทำให้เกิดอารมณ์ ความปรารถนาจากการมองเพศตรงข้าม

            ทุกการต่อต้านของตัวละครมันคือการรับเอาความต่อต้านเข้าสู่ตัว นั้นคือที่มาของรวมเรื่องสั้น “ทำลาย,เธอกล่าว”

 

บทที่ 8 การวิจารณ์แนวคิดหลังอาณานิคม (Postoolonaillism)

             อาณานิคม คือช่วงเวลาของการเข้ามาปกครองของประเทศที่ถูกล่าอาณานิคม

               อำนาจของอิทธิพลตะวันตกทำหน้าที่อย่างไร ครอบงำ และสร้างองค์ความรู้ความเป็นอื่นอย่างไร นี้คือไอเดียของแนวคิดหลังอาณานิคม

               แนวคิดหลังอาณานิคม คือ การศึกษาหลังการปกครองของพวกเจ้าอาณานิคม ซึ่งมันได้สร้างความเชื่อ ความคิด ไว้ให้กับพวกที่เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคม โดยมีกลุ่มๆ หนึ่งที่ตั้งคำถามและสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาเพื่อปลดแอกจากสิ่งที่ตกค้างของพวกเจ้าอาณานิคม

                ลัทธิอาณานิคม คือการที่ประเทศหนึ่ง เข้ายึดครองประเทศหนึ่ง เช่น อังกฤษเข้ายึดครองพม่า อินเดีย เป็นต้น ความเป็นประเทศในอาณานิคมจำต้องส่งข้าวของสินค้าตามคำสั่งของประเทศเจ้าอาณานิคม

               จักรวรรดินิยม ใช้ในความหมายของการล่าขยายดินแดน

               ในศตวรรษที่ 17-18 มีการแย่งชิงดินแดนอินเดียและอเมริกาเหนือ เพื่อต้องการแร่เหล็ก อัญมณี และทองคำ พอมาในศตวรรษที่ 18 แนวคิดปรัชญาความเป็นสมัยใหม่หรือแนวคิดในยุคสว่างที่นำวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความก้าวหน้าที่ไม่หยุดยั้งเพื่อการแสวงหาทรัพยากรมาใช้ในการผลิต ระบบอาณานิคมหลังจากอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย พม่า มาเลเซีย อังกฤษเข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิด พิธีกรรม วัฒนธรรมของประเทศภายใต้การปกครองตามแบบที่อังกฤษต้องการ นอกจากเรื่องการปกครองแล้ว ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจเข้ามา ซึ่งในยุคนั้นเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมมีความเจริญเติบโตและก้าวหน้า เหล่าประเทศที่เป็นเจ้าอาณานิคมจึงได้ให้เหล่าประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมส่งทรัพยากรที่ประเทศของตนมี เช่น เครื่องเทศ ชา ซึ่งเครื่องเทศในสมัยนั้นมีมูลค่ามากกว่าทองคำ

               ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลน์ ดาวินส์ ถูกนำมาใช้โดยคนขาวหรือชาวยุโรปที่อ้างว่า “คนผิวขาวสมควรที่จะไปปกครองดูแลเผ่าพันธุ์อื่น” เพราะตนแข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า นี้คือความคิดของคนขาว ที่ถือว่าเผ่าพันธุ์ตนเองเป็นศูนย์กลางตามทฤษฎีวิวัฒนาการ ชาลน์ ดาวินส์

              อารยธรรมสมัยใหม่มันเกิดขึ้นโดยชาวตะวันตก และถือเป็นภาระของคนขาวที่จะนำแสงสว่างไปให้คนชาติอื่นๆ ปลดปล่อยออกจากความงมงาย ล้าหลัง ยากเข็ญ โดยเอามาตรฐานของคนขาวเป็นตัววัดตัดสิน เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นบรรทัดฐานในการเข้าใจต่อประเทศนั้นๆ ที่ตนสำรวจ อาจกล่าวได้ว่า “ทุนนิยม” เป็นสารัตถะที่สำคัญอย่างหนึ่งของลัทธิอาณาจักรนิคมในการแสวงหาวัตถุดิบมาใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมของประเทศตน

               หลังอาณานิคน เป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงที่ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมได้รับเอกราชทางการเมือง อาจนิยามได้ว่าเป็นการศึกษาวัฒนธรรมที่รับผลกระทบของชนพื้นถิ่น เกี่ยวพันกับการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่ได้รับจากประเทศอาณานิคมเดิม การล่าอาณานิคมไม่ได้เป็นการครอบงำพื้นที่ทางกายภาพเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงพื้นที่ทางจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน

             Orientaliam หรือหนังสือบูรพคดีนิยม เป็นการอธิบายการทำงานของเจ้าอาณานิคมพวกตะวันตกเป็นพวกสร้างภาพองค์ความรู้ของตนให้เป็นจุดศูนย์กลางอัตลักษณ์

             แนวคิดของบูรพคดีนิยม มีดังนี้

1. การศึกษาวิจัยกับตะวันตก-ตะวันออกโดยนักวิชาการตะวันตก

2. วิธีคิดเกี่ยวกับตะวันออก ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างตะวันออกกับตะวันตก

3. วิธีการคิดของตะวันตกที่เข้าไปครอบงำการจัดระเบียบและสถาปนาอำนาจเหนือตะวันออก

             วาทกรรมอาณานิคม ทำงาน 2 ด้าน ในด้านหนึ่งคือการทำให้ผู้คนจากเจ้าอาณานิคมมีความชอบธรรม และอีกด้านคือการทำให้คนในพื้นถิ่นในอาณานิคมมีความต่ำต้อยด้อยกว่า

             การสร้างอัตลักษณ์ที่สำคัญที่สุดหลังอาณานิคมคือเรื่องภาษา ขบวนการชาตินิยมเป็นที่ต่อต้านอัตลักษณ์จากอาณานิคม และค้นหาอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นของตนเอง อีกนัยหนึ่งก็เป็นเครื่องมือที่ประเทศเจ้าอาณานิคมใช้เพื่อไม่ให้ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมีความเจริญทัดเทียมกับประเทศของตน การล้อเลียนที่อยากจะเป็นแบบเจ้าอาณานิคมเป็นภัยคุกคามและลดทอนอำนาจของประเทศผู้มีอำนาจคือเจ้าอาณานิคม ซึ่งคนประเทศดังกล่าวเป็นคนประเภทป่าเถื่อนแต่มีความเชื่อง การยกเลิกพิธีกรรมแต่ดั่งเดิมของประเทศในอาณานิคมในแง่หนึ่งมันเป็นการลดทอนอำนาจที่เคยทำมาของเหล่าประเทศนั้นๆ และเป็นการเสริมให้ประเทศเจ้าอาณานิคมมีอำนาจในการตัดสินใจว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร เหมือนดังเช่นในวรรณกรรมเรื่อง “เนรเทศ” ที่ตัวเรื่องแสดงให้เห็นการเข้ามามีบทบาทอำนาจในการตัดสินต่อสังคมโดยมีเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางทางความคิด 

            การวิจารณ์แนวหลังอาณานิคม จึงเป็นการหาตำแหน่งแทนที่ในตัวบทของวรรณกรรม

 

บทที่ 9 เควียร์ศึกษากับวรรณกรรม

             การสำเร็จความใคร่จนถึงจุดสุดยอดเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Shortbus ที่แสดงออกมาผ่านตัวละครเอกในเรื่อง และวิธีการที่ทำให้ภาพยนตร์ดังกล่าวมีความน่าสนใจคือการรับชมในแง่ของเควียร์?

              เควียร์นัยยะแรก หมายถึง “กลุ่มคนรักเพศเดียวกันหรือกลุ่มคนที่มีลักษณะเป็นหญิง-ชายที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม” เป็นคำที่ใช้อ้างถึงเลสเบียน เกย์ คนที่รักได้ทั้งสองเพศ คนข้ามเพศและคนที่มีวิถีทางเพศที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคม

              บรรทัดฐานทางสังคมที่ว่า เป็นกรอบทางสังคมที่กำหนดขึ้น เพื่อให้ผู้คนในสังคมปฏิบัติตาม เป็นแบบที่ปฏิบัติจนดูเป็นปรกติสำหรับคนทั่วไปในสังคม

              นัยยะที่สอง หมายถึงทฤษฎีเควียร์เป็นสิ่งที่พัฒนาในวงการมนุษยศาสตร์กลาง ค.ศ.1960 โดยอาศัยแนวคิดของมิเช็ล ฟูโกต์ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวมุ่งประกาศ “การดำรงอยู่อย่างประจักษ์” ซึ่งเป็นการบอกถึงการดำรงอยู่ตรงกลางที่ว่าเป็น “ความเบี่ยงเบน” ทางสังคม ให้เป็นความปกติ ในแง่ของเควียร์ ความเบี่ยงเบนเป็นสิ่งที่เควียร์ต้องการจะลบล้างออกไปจากสังคมให้กลายเป็นความปกติในสังคม โดยการสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาเพื่อเป็นการยืนยัน

             เรื่องเพศมันคือการประกอบสร้างทางประวัติศาสตร์ เพื่อสนับสนุนบางอย่าง และนัยยะอีกอย่างของเควียร์ คือ อัญเพศ หรือความหลากหลายทางเพศ หรือความวิปริตทางเพศ หรือการแสดงออกอย่างขัดแย้ง ผิดปกติที่ปรากฏในสังคม หรือ เพศวิภาษ (เพศที่มีความขัดแย้งกับเพศสภาพเดิมของตัวเอง)

           ในเรื่องเควียร์ยังสามารถพูดถึงในเรื่อง คนพิการ คนบ้า ผู้สูงอายุ ซึ่งคนเหล่านี้ เป็นกลุ่มคนที่สังคมเห็นใจและให้ความสงสาร ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ต้องการถูกมองให้ดูเหมือนคนปกติทั่วไปในสังคม เช่นเดียวกับเควียร์ในแง่เพศที่สาม

            ญาณวิทยา มันคือการแสวงหาความรู้ “ที่เข้าไปตรวจสอบกระบวนทัศน์ทางสังคมที่แฝงอคติความคิด” เช่นเดียวกับเควียร์ที่พยายามผลักดันให้เหล่าเพศที่สามดำรงอยู่และทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่โต้แย้งกับทางสังคม  กระบวนทัศน์ก็เป็นสิ่งที่ตั้งคำถามว่าอะไรเป็นตัวกำหนดความปกติหรือไม่ปกติของสังคม และเพศวิภาษคือเพศที่ไม่อยู่ในบรรทัดฐานทางสังคมใดๆ แต่เป็นเพศที่เกิดขึ้นเพื่อการโต้แย้ง ซึ่งสิ่งที่กล่าวมามันคือความพยายามพลักดันเรื่องเพศออกจากบรรทัดฐานทางสังคม

            หนังสือโป๊ที่มีหลากหลายแนวมันก็เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นถึงรสนิยมเรื่องเพศของสังคม เควียร์เป็นการตั้งคำถามทางสังคมในเรื่องเพศสภาพ แน่นอนว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นปกติตามธรรมชาติ ความปกติเกิดจากการพยายามฝึกฝนและปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์ที่สังคมวางเอาไว้  ไม่มีใครหรอกที่ปกติในสังคม แต่เป็นความพยายามที่จะโต้กลับต่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เควียร์พยายามยืนหยัน

             Shortbus อาจดูเป็นภาพยนตร์ที่ดูโรคจิตในเรื่องเพศ แต่ในทางทฤษฎี มันเป็นการโต้กลับทางสังคมในเรื่องเพศและการยืนหยันทางเพศด้วยเช่นกัน

            ความเป็นเควียร์เป็นผลมาจากการดำรงอยู่ภายใต้กรอบทางสังคมสมัยใหม่ ซึ่งระบบทุนนิยมนั้นยึดถือความเป็นปกติเป็นสิ่งสำคัญและพยายามขจัดความไม่เข้าพวกออกจากระบบด้วยการขีดกั้น อย่างไรก็ตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคมมักย้อนแย้งกันในตัวเสมอ โดยเฉพาะเรื่องเพศ แก่นเรื่องของเควียร์มันคือการปลดปล่อยในเพศ หรือการถึงจุดสุดยอด มันคือการตั้งคำถามถึงความปกติกับความไมปกติ แง่หนึ่งมันคือการยืนยันความแตกต่างให้ดำรงอยู่ ให้ได้อย่างประจักษ์ชัดเจนในสังคม

 

วิจารณ์วรรณกรรมในคาบเรียนจากหนังสือรวมเรื่องสั้น “สิงโตนอกคอก”

             ในการวิจารณ์ดังกล่าวเป็นการวิจารณ์โดยให้นักศึกษาให้คาบแบบกลุ่มตามทฤษฎีการวิจารณ์ที่ตัวเองถนัดไม่จำกัดจำนวนคน โดยให้นักศึกษาเลือกวิจารณ์ในประเด็นใดก็ได้ในหนังรวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก ซึ่งในกลุ่มที่สังกัดอยู่เป็นกลุ่มที่ใช้ทฤษฎีมาร์กซิกต์ ในการวิจารณ์ ซึ่งประเด็นที่นำมาวิจารณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานของรัฐที่มีรูปแบบเดียวกับทุนนิยม ดูได้จากเรื่องสั้น “ซินเดอเรลล่าแห่งเมืองหุ่นยนต์” หนึ่งในเรื่องสั้นของหนังสือสิงโตนอกคอก ที่ถ่ายทอดออกมาให้เห็นถึงการทำงานของรัฐมนตรีในเรื่องที่มีอำนาจในการควบคุมน้ำมันอัดเม็ด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวเมือง สิ่งดังกล่าวมีค่ามากจนถึงขั้นมีการลักลอบขโมย พอเมื่อจับผู้ขโมยได้ก็มีการสั่งประหารตามกฎหมายในเมือง รูปแบบการทำงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการทำงานของทุนนิยมในแง่ที่ให้มูลค่าของสินค้าสูง หายากและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค การควบคุมสินค้าดังกล่าวเท่ากับการมีอำนาจในการตัดสินในมือ อีกทั้งกฎหมายก็เป็นสิ่งที่สนับสนุนกับระบบทุนนิยมจึงทำประชาชนในเมื่อไม่กล้าที่จะต่อกร เป็นต้น

 

บทที่ 10 การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์

             การวิจารณ์คืออะไร และทำไมต้องมีการวิจารณ์?

โลกทรรศน์ คือมุมมองของการมองโลกซึ่งเป็นสิ่งที่มาจากประสบการณ์ของตัวบุคคล โดยประสบการณ์ที่ว่าก็ขึ้นอยู่ว่าแต่ละบุคคลจะเป็นแบบใด อีกทั้งคำว่าโลกทรรศน์ที่หมายถึงวิธีการมองโลกก็มาจากคำว่า วิสัยทัศน์

            อิทธิพลทางวิทยาศาสตร์ทำให้ความรู้หรือการมองโลก (โลกทรรศน์) เป็นไปอย่างเที่ยงตรงเพราะเป็นความรู้ที่สามารถหาคำตอบและพิสูจน์ได้ อิทธิพลดังกล่าวยังส่งผลทำให้การวิจารณ์เป็นไปอย่างมีระบบ ทฤษฎีการวิจารณ์เป็นเพียงชุดองค์ความรู้ที่ถูกนำมาใช้อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด สิ่งที่สำคัญในเรื่องทฤษฎีคือการนำทฤษฎีนั้นๆ มาปรับใช้

            การวิจารณ์ไม่ใช่สิ่งที่เติมเต็มให้กับสิ่งนั้นๆ ที่เราวิจารณ์ มันเป็นเพียงแค่ข้อคิดเห็นของเรา และเป็นบทสนทนาต่อๆ กันไปไม่มีที่สิ้นสุด นั้นคือสิ่งที่เรียกว่า วิจารณ์ซ้อนวิจารณ์

             การวิจารณ์ คือกิจกรรมทางปัญญาและมันคือการสร้างบทสนทนาต่อๆ กันไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเติมเต็มให้กับสิ่งนั้นๆ เช่นเดียวกับการวิจารณ์ที่ต้องการแลกเปลี่ยนความรู้โดยการซ้อนวิจารณ์ถึงสิ่งที่เคยวิจารณ์ เป็นวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ถูกวิจารณ์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่คำตอบเดียวเสมอไป ดังนั้นการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์มันคือการสร้างบทสนทนา และเป็นสิ่งที่ที่ทำให้รู้ว่าสิ่งที่วิจารณ์ไม่ได้มีคำตอบเดียว เพราะคำตอบนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล ต่างคนอาจมีความคิดที่เหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ได้ในสิ่งที่วิจารณ์.