วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

วิวัฒนาการและความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมไทยร่วมสมัยกับวรรณกรรมวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน


 วิวัฒนาการและความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมไทยร่วมสมัยกับวรรณกรรมวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน


  
             อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าวรรณกรรมประเภทนวนิยายเริ่มเข้ามาในสยามช่วงรัชกาลที่ 5 โดยรับขนบการเขียนแบบตะวันตกเข้ามาจากวรรณกรรมแปล แล้วนำมาดัดแปลงการเขียนเป็นแบบฉบับของไทย ดูได้จากนิยายเรื่องแรกของไทยเรื่อง “ความไม่พยาบาท” ของครูเหลี่ยม หรือ หลวงวิลาศปริวัตร ที่ดัดแปลงมาจากนิยายที่ชื่อว่า “ความพยาบาท (Vendetta)” ของ มารี คอเรลลี ต่อมานวนิยายก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายในสังคมและเกิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงช่วงประมาณรัชกาลที่ 7 เช่น ศรีบูรพา ดอกไม้สด หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ซึ่งรูปแบบเนื้อหาของนิยายก็เริ่มมีความหลากหลายกันไป ตั้งแต่นิยายที่เกี่ยวข้องกับชีวิต การต่อสู้ หรือไปจนถึงนิยายน้ำเน่าในช่วง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ทั้งนี้นวนิยายไทยก็ได้พัฒนารูปแบบเนื้อหาไปตามยุคสมัย ทั้งการนำเสนอเนื้อหาที่อยู่ในช่วงเวลานั้นๆ ในสังคม เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงเนื้อหา โดยใช้สำนวนการเขียนของผู้เขียนในยุคนั้นมาบรรยายถึงสิ่งต่างๆ ที่มีในสังคมนั้นๆ
             เช่นเดียวกับนิยายวัยรุ่นที่เกิดขึ้นในไทย โดยนิยายวัยรุ่นที่ว่าเป็นนิยายที่สะท้อนชีวิตของวัยรุ่นในสังคม แน่นอนว่าสังคมในแต่ละสมัยก็ย่อมมีความแตกต่างกันเฉกเช่นเดียวกับชีวิตของวัยรุ่นที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไปควบคู่กับแนวคิดทางสังคม ซึ่งถ้าหากในช่วงยุค 2530 ถ้าเป็นนิยายวัยรุ่นก็จะเป็นเรื่อง “เวลาในขวดแก้ว” ของ ประภัสสร เสวิกุล แต่ถ้าในช่วงปัจจุบันโดยเริ่มประมาณช่วง พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา นิยายวัยรุ่นประเภทหนึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงเวลานั้น ซึ่งเนื้อหาในนิยายดังกล่าวมีเนื้อหาที่แนวพาฝันสะท้อนชีวิตวัยรุ่น สำนวนคำพูด ตลอดจนภาพลักษณ์หน้าปกที่เป็นการ์ตูน ทำให้นิยายประเภทนี้เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบันในหมู่วัยรุ่นช่วงเวลาหนึ่ง นั้นคือ นิยายแจ่มใส (เรียกชื่อตามสำนักพิมพ์) แน่นอนว่านิยายแจ่มใสก็ย่อมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับการพัฒนานิยายของไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ โดยเริ่มจากการเป็นนิยายแปลของประเทศเกาหลีที่สำนักพิมพ์แจ่มใสนำมาจำหน่ายก่อนที่จะมีการนำพล็อตเรื่องมาดัดแปลงเป็นรูปแบบของตนเองโดยนักเขียนชาวไทยของสำนักพิมพ์แจ่มใส อีกทั้งตัวการ์ตูนที่วาดขึ้นปกก็มีลักษณะสไตล์เดียวกับแบบการ์ตูนญี่ปุ่นและคาดว่าบางเรื่องก็ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นทั้งรูปแบบและการเล่าเรื่องเช่นกัน แต่ในช่วงหลังนิยายแจ่มใสก็ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ที่มีการเขียนนิยายให้ผู้อ่านได้อ่านกันและได้รับความนิยมจนทำให้มีการนำมาตีพิมพ์เป็นเล่ม ความนิยมในการอ่านนิยายทางออนไลน์ตามเว็บไซต์ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดนิยายประเภทหนึ่งออกสู่สายตาของสังคมในช่วงประมาณ 2557 ที่มีเนื้อหาไปในทางชายรักชาย นั้นคือนิยายที่เรียกว่า “นิยายวาย” โดยคำว่า วาย ย่อมาจากคำว่า Yaoi (ยะโออิ) เป็นคำศัพท์ที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น ใช้ในวงการนิยายและการ์ตูน เดิมทีคำนี้หมายถึงประเภทหนึ่งของานโดจินชิซึ่งเป็นผลงานล้อเลียนมังงะหรืออนิเมะที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น แต่ปัจจุบันความหมายได้เปลี่ยนไปกลายเป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศเชิงอิโรติกระหว่างชายกับชาย
             แน่นอนว่าทั้งนิยายแจ่มใสและนิยายวาย ล้วนเป็นผลผลิตมาจากยุคสมัยที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การสื่อสารแบบออนไลน์ ย่อมมีความแตกต่างกับเหล่านิยายที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น โดยเริ่มจากหน้าปกของหนังสือซึ่งถ้าหากเป็นนิยายในช่วงก่อนหน้านิยายแจ่มใสกับนิยายวาย จะเป็นรูปของสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น เวลาในขวดแก้ว ที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 40 จะมีรูปหน้าปกที่มีนาฬิกาทรายและดอกชมพูพันธุ์ตะแบกสีเหลือง บางเรื่องก็เป็นรูปหรือภาพวาดผู้หญิง เช่น หญิงคนชั่ว ที่ตีพิมพ์ครั้งที่สาม ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ที่ตีพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง สนิมสร้อย ตีพิมพ์ครั้งที่แปด เป็นต้น หรือบางเรื่องก็เป็นรูปวาดวิวทิวทัศน์ เช่น ข้างหลังภาพ ที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 31 เป็นรูปสายน้ำที่ไหลลัดเลาะลงไปตามโขดหินโดยมีต้นไม้ขึ้นตามสองฝั่งของน้ำตก หรือ ราคนครา ที่ตีพิมพ์ครั้งที่  เป็นรูปตัดต่อทิวทัศน์ซุ้มต้นไม้และดอกพญาเสือโคร่ง เป็นต้น ซึ่งในนิยายวัยรุ่นที่เป็นนิยายแจ่มใสและนิยายวาย จะไม่เป็นรูปภาพเช่นนั้น แต่จะเป็นรูปตัวละครที่วาดออกมาเป็นตัวการ์ตูนคู่ทั้งปกหน้าและปกหลัง แต่จะต่างกันตรงที่ว่าปกนิยายแจ่มใสจะเป็นภาพชายหญิงคู่กันส่วนนิยายวายจะเป็นผู้ชายกับผู้ชายคู่กัน
             นอกจากหน้าปกที่แตกต่างและเป็นส่วนที่ดึงดูดให้ผู้บิโภคเกิดความน่าสนใจที่จะซื้อมาอ่าน ทางด้านภาษาที่ปรากฏในหนังสือ โดยสิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุดในเรื่องการใช้ภาษาของนิยายทั้งสองคือ สัญลักษณ์ตรงท้ายของประโยคหรือท้ายวรรค ซึ่งในนิยายแจ่มใสมักจะปรากฏสัญลักษณ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าอิโมจิคอน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงสีหน้าและอารมณ์ของผู้เล่าเรื่อง ซึ่งผู้เล่าเรื่องในนิยายแจ่มใสก็คือตัวละครเอกที่ส่วนใหญ่มักเป็นนางเอกที่เป็นผู้เล่าเรื่อง แตกต่างกับในนิยายอื่นหรือนิยายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น แม้กระทั้งนิยายวายเองก็ไม่มีการปรากฏสัญลักษณ์อิโมจิคอนที่ว่า แต่จะใช้การบรรยายหรือการเล่าเรื่องเป็นการแสดงอารมณ์แทน ส่วนทางด้านภาษาที่ใช้แน่นอนว่ายอมมีความแตกต่างไปตามยุคสมัยในการใช้ภาษา โดยเฉพาะนิยายแจ่มใสและนิยายวาย ที่ใช้คำศัพท์แสลง หรือคำพูดที่ไม่เน้นเขียนถูกแต่จะเน้นการออกเสียงแทน ไม่ได้ใช้คำที่สละสลวยอะไร เน้นความเข้าใจของผู้อ่านโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่น
             และแม้ว่าทั้งนิยายแจ่มใสและนิยายวายจะแตกต่างกับนิยายรักหรือนิยายที่เกิดขึ้นมาก่อน แต่กระนั้นนิยายเหล่านี้ก็ยังคงมีกลิ่นอายเค้าโครงจากนิยายที่เกิดขึ้นก่อนหน้าหรือพล็อตเรื่อง เช่น พล็อตเรื่องที่พระเอกมักทำร้ายจิตใจนางเอก นางเอกต้องเป็นฝ่ายยอมแม้ว่าตัวเองจะสู้แค่ไหน และสุดท้ายพระเอกก็ต้องมาสำนึกผิดในสิ่งที่ทำ ซึ่งพล็อตเรื่องเหล่านี้ เป็นพล็อตเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในละครหลังข่าวโดยละครที่ว่าล้วนเกิดขึ้นจากนิยายของนักเขียนที่ไม่ว่าจะเป็น ทมยันตี ชูวงค์ ฉายะจินดา กฤษณา อโศกสิน หรือนักเขียนคนอื่นๆ นิยายวายเองก็เช่นกันเพียงแต่เปลี่ยนสถานะชายคนใดคนหนึ่งในเรื่องให้กลายสภาพเป็นนางเอก (นายเอก) โดยการเขียนรูปลักษณ์ของผู้ชายปกติให้ดูมีส่วนเหมือนกับผู้หญิง หรือบางออย่างบางตอนของทั้งนิยายวาย ก็มีการยืมสำนวนของนักเขียนนิยายรุ่นก่อนมาใช้ในการบรรยายฉาก เช่นในนิยายวายก็มีบางฉากที่นำคำพูดของนิยายเรื่องหนึ่งมาเขียนให้เห็นถึงฉากปลดปล่อยอารมณ์ธรรมชาติของผู้ชาย หรือในนิยายแจ่มใสก็นำมาปรับใช้ในการบรรยายความงามของฉาก อาจจะบอกได้ว่าทั้งนิยายแจ่มใสและนิยายวายเป็นของใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ถ้ามองในมุ่มกลับกันมันก็ไม่ได้เป็นของที่ใหม่เสมอไป เช่นนิยายวายที่มีเนื้อหาสะท้อนความรักระหว่างชายกับชายด้วยกันเอง ก็ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นมาในสังคมสมัยใหม่ เพียงแต่เป็นนิยายที่มีเนื้อหาที่ไม่ค่อยรับความนิยมในสมัยนั้น เช่น เรื่อง รูปทอง ประตูที่ปิดตาย ของกฤษณา อโศกสิน หรือ ดาวเที่ยงวัน ตะวันเที่ยงคืน ของตรีนุชา ซึ่งนิยายเหล่านี้มีเนื้อหาไปในทางชายรักชายหรือเกย์ ที่ไม่ได้จบลงด้วยความสมหวัง ด้วยว่าสังคมในช่วงนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับในเรื่องดังกล่าว นั้นจึงทำให้เห็นว่า นิยายแจ่มใสและนิยายวายล้วนเกิดขึ้นจากความนิยมทางสังคมที่ทำให้เห็นว่าเป็นของใหม่ที่ชวนให้น่าลองและน่าสนใจในเรื่องภาษาที่ใช้ แต่ภายในก็ยังคงมีเค้าโครงเดิมเป็นต้นแบบในการสร้างนั้นคือพล็อตเรื่องทั่วไปในสังคมแม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลก็ตาม