SOTUS S : ยินดีต้อนรับพี่ว้าก...สู่โลกแห่งการทำงาน
ประสบการณ์คือสิ่งที่มีอยู่ในตัวบุคคล
โดยประสบการณ์นั้นอาจมาจากสิ่งที่ประสบพบเจอกับตัว (ประสบการณ์ทางตรง)
หรืออาจได้รับมาจากการอ่าน การฟัง การมองสิ่งแวดล้อมรอบตัว
การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกัน (ประสบการณ์ทางอ้อม)
ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับเป็นสิ่งที่มีอยู่เฉพาะตัวและมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าซึมซับและจดจำได้มากน้อยเพียงใด
ในนิยายวายบางเรื่อง ก็มีการนำประสบการณ์มาใช้กับงานเขียน
โดยบางครั้งก็เอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้เขียนหรือกับใครหลายๆ คนที่เคยประสบ
มาใช้เป็นพล็อตในการนำเสนอเนื้อหา อย่างเช่นประสบการณ์ชีวิตในมหาวิทยาลัย
ที่มีการเล่าถึงเรื่องการรับน้อง กิจกรรมต่างๆ
ที่เคยเกิดขึ้นทั้งในคณะและในสาขาวิชา หรือแม้กระทั้งการฝึกงานของนักศึกษาก่อนที่จะเรียนจบแล้วออกไปใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์เงินเดือน
โดยถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครสมมติที่ผู้เขียนสร้างขึ้น ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมหนึ่งที่เปลี่ยนผ่านไปสู่อีกสังคมหนึ่ง
โดยทั้งสองสิ่งมีความใกล้เคียงและแตกต่างกันในตัวนั้นคือชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นชีวิตแห่งการศึกษาจากตำราเรียน
ไปสู่อีกชีวิตหนึ่งคือชีวิตในการทำงานที่ต้องเผชิญกับโลกที่อยู่นอกเหนือจากตำราเรียน
ส่วนด้านทางพล็อตเรื่องความรักของชายรักชายที่เป็นจุดเด่นของนิยายวาย ก็เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนผ่าน
ที่กลายเป็นปราการใหม่ให้กับตัวละครเอกทั้งสอง นั้นคือการยอมรับจากสังคมใหม่
ทั้งในเรื่องการทำงานและในเรื่องความรัก เช่นเดียวกับนิยายวายที่จะกล่าวถึง ดังต่อไปนี้
“SOTUS
S” นิยายภาคต่อจาก “SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง”
ผู้แต่งคือ บุษรา ภัทราพรพิสิฐ หรือเจ้าของนามปากกา BitterSweet ซึ่งเป็นคนเดิมกับที่เขียนเรื่องดังกล่าว ตีพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกในเดือนธันวาคม
2560 โดยสำนักพิมพ์ NABU เป็นนิยายวายที่เขียนขึ้นจากกระแสที่ประสบความสำเร็จทั้งจากนิยายภาคแรกและซีรีส์ทางโทรทัศน์
จนมีการนำมาเขียนเป็นภาคต่อขึ้น และนำไปสร้างเป็นซีรีส์ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2560
ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เริ่มนิยายตีพิมพ์จำหน่าย โดยใช้ชื่อว่า
“SOTUS S The Serier” ออกอากาศทางช่องวัน
31
ทางด้านเนื้อหาและตัวละครนั้นก็จะมีการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น
ซึ่งจะแตกต่างไปจากภาคแรกที่เคยได้อ่าน (ในภาคแรกจะเน้นบรรยากาศการรับน้องและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย)
โดยคุณบุษรา ภัทราพรพิสิฐ หรือ BitterSweet ได้ให้สัมภาษณ์ลงในนิตยาสาร attitude ฉบับที่ 77
เดือนกรกฎาคม 2560 บรรยายถึงแนวคิดการสร้างตัวละครและพล็อตเรื่องได้อย่างน่าสนใจว่า
“ตัวละครทุกตัวก็จะโตขึ้นทั้งอาทิตย์และก้องภพ
ซึ่งอาทิตย์เองได้กลายเป็นพนักงานบริษัท แน่นอนว่าโลกของพนักงานบริษัท
มันต้องกว้างมากกว่าโลกในมหาวิทยาลัยเล็กๆ อยู่แล้ว ทำให้อาทิตย์ปรับตัวเอง
ทั้งในเรื่องหน้าที่การงาน ทั้งเรื่องความรักของก้องภพด้วย
ส่วนก้องภพเองก็โตขึ้นเป็นพี่ว้ากปี 3 ละ แต่มันยังมีระยะห่างระหว่างกันอยู่คือ ก้องภพก็ยังเรียนอยู่
ส่วนอาทิตย์ก็ทำงานแล้ว ความห่างนี้จะเป็นอุปสรรค์หรือไม่แต่ที่แน่ๆ
ก้องภพจะมาฝึกงานในบริษัทเดียวกับอาทิตย์
ซึ่งแน่นอนว่ามันจะต้องมีอะไรบ้างอย่างที่ทำให้เขาต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์
โดยเฉพาะเรื่องชายรักชาย ต่อสังคมภายนอก...” (หน้า 69)
ซึ่งจากข้อความที่ BitterSweet ได้ให้สัมภาษณ์ ดังกล่าว ทำให้ทราบถึงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อไปและฉากของเรื่องก็เปลี่ยนไปจากโลกในมหาวิทยาลัย
สู่โลกใหม่แห่งการทำงาน ทั้งยังเปลี่ยนสถานะภาพ
ตัวละครเอกทั้งสองของเรื่อง โดยพี่ว้ากกลายมาเป็นพนักงานบริษัท
(หลังจากที่เรียนจบ) ส่วนรุ่นน้องปีหนึ่งกลายมาเป็นพี่ว้ากแทน
และแปรสภาพไปเป็นนักศึกษาฝึกงาน (ในฐานะนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์)
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนไปในทางการพัฒนาสถานะและบทบาททางสังคมขึ้นอีกระดับ
ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวล้วนเป็นวัฎจักรที่สังคมเป็นตัวกำหนด โดยมีเป้าหมายคือ
เรียนเพื่อที่จะออกไปสู่โลกภายนอกในการทำงาน และวัฏจักรที่ว่าก็จะวนซ้ำๆ
จนกลายเป็นค่านิยมที่สังคมให้การยอมรับและปฏิบัติกัน
แน่นอนว่าสังคมภายนอกหรือสังคมหลังเรียนจบที่ต้องทำงานตามบทบาททางสังคม
และเป็นโลกใหม่ที่กว้างกว่าโลกในสถานศึกษา
โดยเป็นโลกที่รวบรวมผู้คนที่หลากหลายทางความคิด
ซึ่งแตกต่างจากโลกในสถานศึกษาที่ผู้คนล้วนมีสถานะภาพเดียวกันคือนักศึกษา และเป็นสังคมที่ยอมรับและเข้าใจได้ในบ้างเรื่อง
ส่วนโลกแห่งการทำงานก็เป็นศูนย์รวมผู้คนที่มีความหลากหลายทางสถานะภาพ
มีความคิดที่หลากหลายและเป็นสิ่งที่ยากเกิดจะคาดเดาในความคิดเหล่านั้น
นั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสังคมหรือโลกใหม่ที่ตัวเองก้าวเข้ามา
พร้อมกับต้องยอมรับในกติกาทางสังคมเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะปะทะ (ให้ตนเองอยู่รอด) และเป็นที่ยอมรับในสังคม
นั้นจึงเป็นสิ่งที่ BitterSweet
ต้องการที่จะแสดงและถ่ายทอดออกมาผ่านเรื่องราวที่ตัวละครเอกทั้งสองต้องเผชิญในเรื่อง
เนื้อหาของ SOTUS S ก็เป็นไปตามที่ BitterSweet กล่าวในบทสัมภาษณ์ข้างต้น โดยรายละเอียดของเรื่องนั้นจะขอกล่าวไปพร้อมกับอธิบายในบางส่วนของเรื่อง
ในเรื่อง
จะเห็นได้ว่าตัวละครอย่าง “อาทิตย์” ซึ่งภาคแรกเป็นพี่ว้ากหรือประธานเชียร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์
แต่พอมาภาคนี้ อาทิตย์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและได้เข้าทำงานเป็นพนักงานบริษัทโดยก่อนที่จะเข้ามาทำงานจริงก็ต้องมีการทดลองงานเป็นเวลาสามเดือน
ด้วยความที่เป็นเด็กใหม่ไฟแรงที่สนุกกับการทำงานประกอบกับความหวังที่จะได้เข้าทำงานในตำแหน่ง
“วิศวกรผลิต” ตามสายที่ตัวเองเรียน
ทำให้อาทิตย์ได้เข้าทำงานในบริษัทตามที่ตัวเองหวัง แต่ก็ต้องผิดคาดจากงานที่หวังเพราะงานที่ได้รับกับเป็นงานในตำแหน่ง
“วิศวกรจัดซื้อ” แทน เนื่องด้วยตำแหน่งที่อาทิตย์หวังมีอัตราพนักงานเต็ม
ทางบริษัทจึงให้มาทำงานในแผนกนี้แทนเพราะเห็นว่ามีตำแหน่งวางและขาดคนพอดี (หน้า 18-19) ซึ่งในแง่ของทุนนิยม
จะเห็นได้ชัดเจนถึงการทำงานของบริษัทที่อาทิตย์เข้ามาทำงาน
คือการให้อาทิตย์เข้าไปทำงานในแผนกที่มีตำแหน่งว่าง
โดยให้อาทิตย์ทำงานในแผนกที่มีตำแหน่งว่างไปก่อน
จนกว่าแผนกที่อาทิตย์หวังจะมีตำแหน่งว่าง
การที่บริษัททำเช่นนี้คือการเติมเต็นในส่วนที่ขาด อาทิตย์คือชิ้นส่วนของตัวต่อที่บริษัทสร้างขึ้น
โดยตัวต่อที่ว่านั้นสามารถที่จะต่อเข้ากับส่วนใดก็ได้กับส่วนที่ขาดและเป็นส่วนที่มีลักษณะใกล้เคียงกันตามความเห็นชอบของบริษัท
ซึ่งนี้คือผลกระทบลำดับแรกในการเข้ามาสู่โลกแห่งทุนนิยมของอาทิตย์
การปรับตัวและรับมือกับอุปนิสัยของพนักงานทั้งในแผนกและนอกแผนกรวมถึงงานในแผนก
เป็นสิ่งที่อาทิตย์ต้องเผชิญและเรียนรู้ควบคู่กันไป ซึ่งบางสิ่งเป็นสิ่งที่อาทิตย์ไม่เคยได้สัมผัสหรือเรียนรู้มาก่อน
“พี่เอิร์ธครับ
ทำไมออฟฟิศเราถึงยังต้องส่งแฟกซ์แทนที่จะใช้อีเมลล่ะครับ”
“เป็นนโยบายของบริษัทน่ะ
แล้วก็...”
มือเรียวใช้ปากกาเคาะไปตรงท้ายชื่อเอกสารที่เธอพึ่งเขียนไปเมื่อครู่
“ส่วนสำคัญที่สุดในเอกสารจัดซื้อก็คือลายเซ็นกำกับ
ถ้าส่งอีเมลไปจะไม่มีหลักฐานตรงนี้” (หน้า 47)
จากบทสนทนาดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นรูปแบบการทำงานของบริษัทอีกแบบหนึ่ง
คือการกำหนดนโยบายของทางบริษัทที่ให้พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อบริษัท
การส่งแฟกซ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นประโยชน์ในเรื่องหลักฐานในการทำธุรกิจ ซึ่งมีความเป็นลายลักษณ์อักษร
(ลายเซ็น) และเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงข้อตกลง การกำหนดนโยบายของบริษัทเป็นทั้งข้อตกลงร่วมกันที่ต้องปฏิบัติหากนอกเหนือจากข้อตกลงที่วางไว้ย่อมส่งผลเสียต่อธุรกิจซึ่งอาจเป็นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในโลกของธุรกิจ สิ่งดังกล่าวหากให้ประโยชน์และเป็นโอกาสต่อธุรกิจ
ย่อมเป็นสิ่งที่จะนำมาใช้งาน เช่นเดียวกับที่บริษัทกำหนดนโยบายการส่งเอกสารทางแฟกซ์
นั้นจึงเป็นความรู้ใหม่ของทุนนิยมที่อาทิตย์ต้องศึกษาและต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบ
(พนักงานของบริษัท)
สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องในแง่การทำงานของทุนนิยมในบริษัทที่อาทิตย์ทำงาน
คือฉากที่ทางบริษัทจัดงานประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ ในหัวข้อ
“เตาปิ้งย่างไฟฟ้ารุ่นใหม่” โดยรางวัลสำหรับไอเดียที่ชนะเป็นจำนวนเงิน 100,000
บาท พร้อมทั้งนำไอเดียที่ชนะไปผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายของบริษัท
เป็นการประกวดภายในบริษัท ซึ่งมีการกำหนดเป็นทีมเป็นทีมละสองคนในการแข่งขันโดนสมาชิกในทีมจะเป็นคนในแผนกเดียวกันหรือคนละแผนกก็ได้
การจัดการแข่งขันดังกล่าวมีขึ้นทุกปีในบริษัทที่อาทิตย์ทำงาน ซึ่งหัวข้อการประกวดก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละปี
(หน้า 193) นั้นแสดงให้เห็นการทำงานของทุนนิยมในรูปแบบหนึ่งคือ
“การสรรหาและเรี่ยรายความคิดจากแรงงานเพื่อนำไปสร้างเป็นสินค้าตัวใหม่โดยมีรางวัลเป็นสิ่งจูงใจ”
การสรรหาและเรี่ยรายความคิดที่ว่าก็คือการที่บริษัทจัดงานประกวดขึ้นภายในบริษัท
เพื่อให้แรงงานซึ่งในที่นี้หมายถึงพนักงานในบริษัท ใด้เสนอความคิดและออกแบบผลิตภัณฑ์ตามโจทย์ที่บริษัทตั้ง
ซึ่งในการเรี่ยรายความคิดที่ว่า
ไม่ได้กำหนดให้ทำไปตามบทบาทหน้าที่ตามแผนกหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย
คือจะอยู่ในแผนกไหนหรือหน่วยงานใดในบริษัทก็ได้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นตำแหน่ง
“วิศวกรออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า” ของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่ขอเพียงแค่ส่งผลงานเข้าประกวดมาให้ทางบริษัทได้ตัดสินใจเท่านั้น
และการที่จะเรี่ยรายความคิดของคนในบริษัทได้นั้น จำเป็นต้องทำให้พนักงานเกิดความสนใจที่จะส่งผลงานเข้าประกวด
นั่นคือการตั้งรางวัลให้แก่ผู้ที่ชนะการประกวด
ด้วยจำนวนเงินที่มากกว่าเงินเดือนที่ทำในบางแผนกหรือหน่วยงาน เพื่อเป็นตัวดึงดูด
พร้อมกับนำผลงานที่ชนะไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออกจำหน่ายในนามของบริษัท
นั้นจึงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิแก่ตัวผู้ออกแบบที่ชนะการแข่งขัน
การสร้างความภาคภูมิใจของแก่พนักงานที่ชนะพร้อมกับเงินที่ได้รับ
2 ต่อ (เงินรางวัลที่ชนะกับเงินเดือนประจำ) ของบริษัทเป็นสิ่งที่เทียบไม่ได้กับจำนวนมูลค่าที่ได้รับจากการนำไปผลิตแล้วส่งขายเป็นกำไรให้แก่บริษัท
เรียกได้ว่าเสียเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ได้มากกว่าสิ่งที่เสีย
แต่ในเรื่องกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เมื่อทางบริษัทกลับเลือกผลงานของจอห์นและต๊อดเป็นผู้ชนะในการประกวดเนื่องด้วย ใช้ต้นทุนถูกกว่าและซัปพลายเออร์ติตต่อง่าย
(SOTUS S : 214) ซึ่งนั้นก็ถูกต้องตามเป้าหมายแบบทุนนิยมที่ว่า
ทำกำไรให้ได้มากที่สุด แต่ลดต้นทุนให้น้อยที่สุด
แต่สิ่งดังกล่าวกลับกลายเป็นผลเสียตามมา
...มันก็จริง
เพราะตอนนี้กล่องลังสินค้าบางส่วนถูกเปิดออกมา ให้เห็นสภาพเตาปิ้งย่างไฟฟ้าไร้ควัน
ซึ่งพลาสติกกรอบนอกละลายพังยับเยิน บ่งบอกว่าวัสดุที่ใช้ประกอบไม่ทนความร้อน
และต้องทำการรื้อใหม่ทั้งหมด (หน้า 261)
แน่นอนว่าสินค้าที่ชนะแล้วนำไปผลิตออกจำหน่าย ถูกตีกลับคืนมาทั้งหมด นั้นคือผลกระทบและผลเสียที่บริษัทได้รับ
ปัญหาจึงตกไปอยู่ในแผนกการผลิตและแผนกการจัดซื้อที่อาทิตย์สังกัดอยู่
เนื่องจากแผนกที่อาทิตย์ทำเป็นแผนกที่มีหน้าที่จัดหาซื้อวัสดุที่จะนำมาใช้ผลิตสินค้าให้แก่บริษัท
โดยการติดต่อกับ ซัปพลายเออร์หรือบริษัทคู่ค้าที่ผลิตและจำหน่ายวัสดุให้แก่บริษัท
ปัญหาคืออาทิตย์และคนในแผนกต้องหาซัปพลายเออร์รายใหม่ที่สามารถผลิตพลาสติกที่ใช้ทำสินค้าให้ทันการผลิตและทันส่งให้กับลูกค้า
หากไม่ทันบริษัทจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่สูงลิ่ว ซึ่งสาเหตุของเหตุการณ์ในครั้งนี้มาจากการปลอมแปลงเอกสารการสั่งซื้อวัสดุที่ใช้ผลิตโดยวัสดุที่ซื้อเป็นวัสดุที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่บริษัทใช้ผลิต
โดยจอห์นเป็นผู้ที่อยู่เบื้องในเหตุการณ์
นี่จึงแสดงให้เห็นถึงความเสียหายของระบบทุนนิยมที่บริษัทได้รับ
จาก
“การสรรหาและเรี่ยรายความคิดจากแรงงานเพื่อนำไปสร้างเป็นสินค้าตัวใหม่โดยมีรางวัลเป็นสิ่งจูงใจ”
สิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดการแข่งขันกันจนนำไปสู่การทุจริตเพื่อให้มาซึ่งชัยชนะ
ผลที่ตามมาคือความเสียหายและการเสียความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค
รวมทั้งส่งผลกระทบแก่แรงงานหรือพนักงานในบริษัท จึงอาจนำไปสู่การตกงานของพนักงานพร้อมกับการปิดตัวลงของบริษัทเนื่องจากไม่มีทุนพอที่จะหล่อเลี้ยงภายในบริษัทและหนี้สิน
แต่ก็สามารถหาซัปพลายเออร์รายใหม่ได้โดยฝีมือของก้องภพ
(โดยติดต่อพร้อมกับขอให้บริษัทของพ่อตัวเองที่ผลิตพลาสติก ให้มาเป็นซัปพลายเออร์กับบริษัท)
ซึ่งในขณะนั้นก้องภพเป็นนักศึกษาฝึกงานในบริษัท
วิกฤตดังกล่าวจึงผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
“ผมขอความร่วมมือจากบริษัทแสงชัย อินดัสเทรียล
ให้สอบถามไปทางคุณไลลา
และเขาก็รับสารภาพว่ามีการเปลี่ยนวัสดุผลิตโครงพลาสติกจริง...ตอนนี้ฝ่ายบัญชีกำลังไล่ตรวจสอบเอกสารของคุณอยู่
ระหว่างนี้บริษัทจะพักงานคุณไว้ แล้วฝ่ายกฎหมายจะติดต่อไปหาคุณอีกที” (หน้า 286)
จากที่เห็นในข้อความดังกล่าวที่หัวหน้าแผนกฝ่ายจัดซื้อคุยกับจอห์น
ทำให้เห็นถึงการทำงานของทุนนิยมอีกอย่างหนึ่งที่ใช้กฎหมายเป็นตัวลงทัณฑ์แรงงานที่กระทำให้เกิดความเสียหายธุรกิจของบริษัท
อย่างที่ทราบกันดีว่า ทุนนิยมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับคำว่า “เศรษฐกิจ” ซึ่งเศรษฐกิจนี่เองที่เป็นตัวกำเนิดและกำหนดให้เกิดเป็นกฎหมายขึ้นมา
ดังนั้น
กฎหมายจึงมีหน้าที่ในการซับพอร์ตให้กับทุนนิยมใช้เล่นงานกับแรงงานที่ทำให้ตนเองเองนั้นเสียผลประโยชน์
เหมือนอย่างเช่น จอห์นที่ถูกทางบริษัทสั่งพักงานพร้อมกับใช้ฝ่ายกฎหมายเอาผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นในเรื่องใช่ว่าจะส่งผลต่อการทำงานในบริษัทของอาทิตย์เพียงอย่างเดียว
แต่มันรวมไปถึงความสัมพันธ์ที่ต้องรักษาระยะห่างของกันและกันในเวลาทำงาน และการพบปะกับผู้คนในสังคม
ทั้งตัวของอาทิตย์และก้องภพเอง ซึ่งทั้งคู่นั้นก็มีความสัมพันธ์ในแง่ความรักที่ไม่ได้จำกัดในเพศสภาพ
มาตั้งแต่เรียนในมหาวิทยาลัยด้วยกัน (ดูเรื่องราวได้จาก SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง) แต่เมื่อมาอยู่ในสังคมที่ไม่ใช่สังคมในมหาวิทยาลัย
แต่เป็นสังคมแบบทุนนิยมที่เน้นในเรื่องการทำงานและกำไรที่องค์กรหรือบริษัทจะได้รับ
อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์และก้องภพเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม
โดยบรรทัดฐานที่ว่า คือกรอบทางสังคมที่กำหนดขึ้นให้ผู้คนในสังคมปฏิบัติตาม
เป็นแบบปฏิบัติที่ผู้คนในสังคมกระทำจนดูเป็นความปกติสำหรับคนทั่วไปในสังคม เช่น
เพศชายต้องคู่กับหญิง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สังคมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ
นั้นหมายความว่าความสัมพันธ์ของอาทิตย์และก้องภพเป็นสิ่งที่ผิดปกติ
เพราะเป็นสิ่งที่อยู่นอกกรอบทางสังคมและเป็นสิ่งขัดแย้งกับโลกในระบบแบบทุนนิยมที่ยึดถือในเรื่องความปกติเป็นเรื่องสำคัญ
(คือการดำรงอยู่ภายใต้กรอบทางสังคม) นั่นจึงให้ทั้งคู่จำต้องรักษาระยะห่างของกันและกัน
โดยเฉพาะอาทิตย์ที่ต้องพยายามปิดบังความสัมพันธ์ของตนเองเพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดแปลกไปจากสายของผู้คนในสังคมแห่งการทำงาน
และดูเป็นปกติในฐานะพนักงานของบริษัท
แต่ถึงกระนั้นแม้ว่าจะพยายามปกปิดแค่ไหนก็ไม่อาจปกปิดความปรารถนาของทั้งคู่ได้
โดยเฉพาะก้องกพที่มีความปรารถนาในความสัมพันธ์ของอาทิตย์
ซึ่งความปรารถนานั้นเป็นความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดแตกต่างกับความต้องการที่กำหนดจุดที่สิ้นสุดหรือเป้าหมายของสิ่งที่ต้องการ
จนเกิดเป็นฉากริมชายหาดในยามค่ำคืน ระหว่างอาทิตย์กับก้องภพที่แสนจะโรแมนติก
(หน้าที่ 250-254) เป็นหนึ่งในฉากที่ทางบริษัทจัดทริปให้พนักงานได้เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่ทะเล
ซึ่งถือเป็นการเลี้ยงขอบคุณกับพนักงานทุกคนที่ทำกำไรให้บริษัท (เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ทำให้แรงงานเกิดความประทับใจต่อนายทุนและซื่อสัตย์ต่อบริษัทที่ตนทำงาน
โดยสร้างแรงจูงใจให้แก่แรงงานคือการจัดให้เที่ยวและพักผ่อนไปในตัว) จากฉากที่แสนจะ โรแมนติกกลับกลายสิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงให้แก่อาทิตย์กับก้องภพในภายหลัง
นั่นคือภาพหลุดที่ทั้งคู่กำลังจูบกันที่ริมชายหาดในเวลากลางคืน
ภาพดังกล่าวแพร่กระจายในไลน์กลุ่มของเหล่าพนักงานในบริษัทและกลายเป็นเรื่องซุบซิบนินทาถึงความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่
จากความรักที่กลายเป็นลับกลับถูกแปรสภาพไปเป็นข่าวลือพร้อมสายตาที่มองมาของคนในบริษัท
แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบให้กับตัวละครเอกทั้งคู่โดยเฉพาะอาทิตย์ (หน้า 290-291) จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าอาทิตย์ในช่วงเวลานั้นเกิดความระแวงและความกลัวขึ้นมาต่อข่าวความสัมพันธ์ของเขาและก้องภพ
จนถึงขั้นที่ว่าความกลัวถูกแปรเปลี่ยนเป็นภาพในความคิดที่ว่าสังคมรุ่มมองเขาและก้องภพเป็นสิ่งที่ผิดปกติ
วนเวียนหลอกหลอนต่อความคิดและจิตใจของเขา รวมทั้งส่งผลทำให้อาทิตย์ไม่เป็นตัวของตัวเอง
สิ่งที่อาทิตย์ทำในเวลาต่อคือการหลีกหนี้จากสิ่งเกิดขึ้น
แตกต่างจากก้องภพที่เดินหน้าเผชิญกับความจริงที่ได้รับและพยายามดึงอาทิตย์ให้ลุกออกจากสิ่งที่เขาทำ
จนนำไปสู่การตั้งคำถามในความสัมพันธ์ของเขาทั้งคู่ อะไรคือสิ่งที่เขากลัวจริงๆและอะไรคือบรรทัดฐานของสังคม
?
“ผมยอมรับ...ว่าก่อนหน้านี้เพราะผมกลัว
ผมเลยเลือกที่จะปฏิเสธความรู้สึกของตัวเอง...ผมกลัวที่จะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ
จากทุกคน...แต่ตอนนี้ผมไม่กลัวอีกต่อไปแล้ว ผมกล้าที่จะยอมรับกับตัวเอง และพร้อมจะบอกให้ทุกคนรู้ว่า...”
อาทิตย์หันไปมองหน้าคนข้างกาย
กล่าวความรู้สึกที่อยู่ข้างในโดยปราศจากความลังเล
“...ผมรักก้องภพครับ...” (หน้า 312)
ท้ายที่สุดอาทิตย์ก็กล้าที่ออกมายอมรับถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับก้องภพและประกาศต่อหน้าแขกในงานเลี้ยงส่งนักศึกษาฝึกงานที่ทางบริษัทได้จัดขึ้น แม้จะเป็นความความสัมพันธ์ที่ผิดปกติจากสิ่งที่เรียกว่าบรรทัดฐานทางสังคมและขัดแย้งกับระบบทุนนิยม นั้นจึงแสดงให้เห็นถึงการกระทำของอาทิตย์ในการโต้แย้งกับบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นตัวกำหนดในเรื่องการนิยามความรักโดยหาใช่ต้องเป็นเพศตรงข้ามไม่ และผลักดันในเรื่องค่านิยมความรักของเพศตรงข้ามให้ออกไปจากความคิดของเขา (โดยให้ความรู้สึกเป็นตัวตัดสิน) และแม้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเป็นสิ่งที่บางคนเห็นว่าเป็นความเบี่ยงเบนทางสังคม แต่ในทางกลับกันกับเป็นสิ่งที่เป็นปกติสำหรับใครหลายๆ คน รวมทั้งอาทิตย์และก้องภพเองก็เช่นกัน เพราะ...ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร เขาจะขอใช้หัวใจเป็นตัวตัดสิน (SOTUS S : หน้า 324)
แม้ว่าระบบทุนนิยมของบริษัทในเรื่องจะมีอิทธิพลต่อตัวละครเอกทั้งสอง
ในด้านการกำหนดนโยบายของทางบริษัท การจัดกิจกรรมประกวดเพื่อหาไอเดียสินค้าใหม่ๆ
ให้บริษัท การใช้กฎหมายในการจัดการกับพนักงานที่กระทำความผิด การจัดทริปให้พนักงานได้พักผ่อน
แม้กระทั้งสังคมการทำงานของพนักงานในบริษัท
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เกือบจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของทุนนิยม แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งและลุกขึ้นโต้แย้งกับความเป็นปกติของทุนนิยม
นั้นคือความสัมพันธ์ของชายรักชายระหว่างตัวละครเอกทั้งสอง คืออาทิตย์และก้องภพ SOTUS S จึงเป็นนิยายวายที่นำเอาทั้งสองสิ่งที่มีความขัดแย้งกัน
(การทำงานของทุนนิยมและความรักของเพศเดียวกัน)
มารวมไว้ในที่เดียวกันได้อย่างน่าสนใจ
22 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13:04 น.
_____________________________________________________________________________________
อ้างอิง
ธวัชชัย ดีพัฒนา. (2560). SOTUS S CONFIDENTIAL. Attitude, 77, 66-69
BitterSweet (บุษรา ภัทราพรพิสิฐ). 2560. SOTUS S. พิมพ์ครั้งที่
1. กรุงเทพมหานคร : NABU